ยื่นตีความ 'จับ-สึกพระ' กม.สงฆ์ขัดรธน.

ยื่นตีความ 'จับ-สึกพระ' กม.สงฆ์ขัดรธน.

อพช.ยื่นศาลรัฐธรรมนูญ-ผู้ตรวจการ ตีความพ.ร.บ.สงฆ์ขัดรัฐธรรมนูญ ชี้พระต้องคดีอาญาให้สึก-คุมขัง ทั้งที่การสึกถือเป็นการลงโทษพระ-เณร ขณะที่รธน.ให้ถือว่าผู้ถูกกล่าวหายังบริสุทธิ์จนกว่าศาลจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด

เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 61 พระมหามงคลกานต์ ฐิตธมโม ประธานองค์กรพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (อพช.) พร้อมพระสงฆ์อีก 4 รูป จากสำนักสงฆ์คลองแอนด์ธัมมิการาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ได้เข้ายื่นหนังสือต่อศาลรัฐธรรมนูญขอให้ตีความพ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2505 มาตรา 29,30 ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 27,28 หรือไม่ โดยระบุว่า อพช.พิจาณาแล้วเห็นว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ บางมาตราขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยมาตรา 29 ระบุว่าพระสงฆ์รูปใดถูกจับโดยต้องหากระทำความผิดอาญา เมื่อพนักงานสอบสวนหรืออัยการไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว และเจ้าอาวาสวัดที่พระภิกษุรูปนั้นสังกัด ไม่รับมอบตัวไว้ควบคุมให้พนักงานสอบสวนมีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศ และมาตรา 30 ระบุว่า เมื่อจะต้องจำคุก กักขัง หรือขังพระภิกษุรูปใดตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล ให้พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจดำเนินการให้พระภิกษุรูปนั้นสละสมณเพศได้ และให้รายงานศาลทราบถึงการสละสมณเพศนั้น

พระมหามงคลกานต์ กล่าวอีกว่า กฎหมายทั้งสองมาตราขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ ที่ให้สันนิฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาหรือจำเลยยังไม่มีความผิดจนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด ก่อนมีคำพิพากษาจะปฏิบัติต่อบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทำความผิดไม่ได้ การควบคุมหรือคุมขังผู้ต้องหาหรือจำเลยให้กระทำได้เพียงเท่าที่จำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้หลบหนี และจะเรียกหลักประกันเกินควรแก่กรณีไม่ได้ อพช. เห็นว่าพ.ร.บ.คณะสงฆ์ มาตรา 15 จัตวา มาตรา 26 และ 28 ระบุว่าการสละสมณเพศ หรือการสึกเป็นการลงโทษสำหรับภิกษุหรือสามเณร ผู้กระทำความผิดที่มีคำวินิจฉัยถึงที่สุดแล้ว แต่มาตรา 29,30 กลับสามารถลงโทษด้วยการสละสมณเพศหรือสึกก่อนมีคำพิพากษาถึงที่สุด กฎหมายดังกล่าวจึงขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ

คำร้องระบุด้วยว่า ทั้งนี้ รัฐธรรมนูญ มาตรา 27 ระบุให้บุคคลมีความเสมอกันในทางกฎหมาย มีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกัน ไม่แตกต่างกันด้วยเพศ เชื้อชาติ อายุ หรือความเชื่อทางศาสนา มาตรการที่รัฐกำหนดขึ้นเพื่อขจัดอุปสรรค หรือส่งเสริมให้บุคคลสามารถใช้สิทธิและเสรีภาพได้เท่าเทียมกัน จึงไม่ถือเป็นการเลือกปฏิบัติ ดังนั้น การกระทำตามพ.ร.บ.สงฆ์ มาตรา 29,30 ย่อมทำให้บุคคลไม่เสมอกันทางกฎหมาย ได้รับการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพอย่างไม่เท่าเทียมกัน อพช. จึงขอให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญตีความว่าพ.ร.บ.คณะสงฆ์บางมาตราขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ ทั้งนี้ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมณ์อย่างถูกต้องและเป็นธรรม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากยื่นหนังสือที่ศาลรัฐธรรมนูญแล้ว พระสงฆ์คณะดังกล่าวได้เดินทางไปที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เพื่อขอให้ตีความกฎหมายในประเด็นเดียวกัน