คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ 32.55-32.90 หลังอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน

คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ 32.55-32.90 หลังอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน

กรุงศรี คาดเงินบาทสัปดาห์นี้ เคลื่อนไหวในกรอบ 32.55-32.90 ต่อดอลลาร์ หลังอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) มีมุมมองต่อทิศทางค่าเงินบาทในสัปดาห์นี้ว่า มีแนวโน้มเคลื่อนไหวในกรอบ 32.55-32.90 ต่อดอลลาร์ เทียบกับระดับปิดอ่อนค่าที่ 32.43  ต่อดอลลาร์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยเงินบาทแตะระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 6 เดือน สอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินภูมิภาคหลังธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) ส่งสัญญาณเลื่อนการขึ้นดอกเบี้ยออกไป ซึ่งกระตุ้นแรงซื้อเงินดอลลาร์อย่างมีนัยสำคัญ ทั้งนี้ นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นและพันธบัตรไทยด้วยมูลค่า 2.47 หมื่นล้านบาท และ 2.7 พันล้านบาท ตามลำดับ ขณะที่เงินดอลลาร์แข็งค่าเทียบกับทุกสกุลเงินหลัก แม้อีซีบีระบุว่าจะยุติการเข้าซื้อพันธบัตรหรือ QE ก่อนสิ้นปีนี้ แต่การประกาศเลื่อนปรับขึ้นดอกเบี้ยของอีซีบี สวนทางกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยในอัตราที่เร็วกว่าคาดของธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ทำให้ตลาดปรับคาดการณ์ใหม่ว่าอีซีบีจะขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรกในเดือนกันยายน 2562 ซึ่งล่าช้ากว่าที่เคยคาดไว้ 3 เดือน เหตุการณ์นี้สร้างความผันผวนให้กับค่าเงินในวงกว้าง โดยเงินยูโรอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงและส่งแรงกระเพื่อมไปยังสกุลเงินอื่นๆ ให้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับดอลลาร์ด้วย

กลุ่มงานโกลบอลมาร์เก็ตส์ กรุงศรี มองว่า การที่เฟดมีมติปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ตามคาด แต่ส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งก่อนสิ้นปีนี้ ซึ่งมากกว่าเดิมที่คาดไว้ 1 ครั้ง ท่ามกลางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างแข็งแกร่ง ท่าทีดังกล่าวตอกย้ำว่าเงินดอลลาร์ได้แรงหนุนจากปัจจัยบวกเชิงวัฎจักร คือ เฟดมีความชัดเจนมากที่สุดในเรื่องการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเทียบกับธนาคารกลางอื่นๆ ในระยะสั้น ขณะที่นักลงทุนทั่วโลกปรับลดการถือครองสินทรัพย์ตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย อย่างไรก็ดี เฟดยังคงไว้ซึ่งประมาณการ Fed funds rate ระยะยาวที่ 2.9% ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์ยังคงเผชิญปัจจัยลบเชิงโครงสร้าง อาทิ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดและดุลงบประมาณของสหรัฐฯ ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น รวมถึงนโยบายและเป้าหมายด้านการค้าของประธานาธิบดีทรัมป์ หรือแม้แต่การเปิดฉากสงครามการค้ากับจีน บ่งชี้ว่าสหรัฐฯ ไม่ต้องการให้เงินดอลลาร์แข็งค่า ประเด็นนี้สนับสนุนมุมมองของเราที่ว่าเงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าในช่วงปลายปีนี้

สำหรับปัจจัยภายในประเทศ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะมีมติคงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 1.50% ในที่ประชุมวันที่ 20 มิถุนายน แต่การเริ่มปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลายแห่งในภูมิภาค ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยของสหรัฐฯและไทยที่กว้างขึ้น รวมถึงกระแสเงินทุนไหลออกที่เร่งตัว อาจทำให้การรักษาเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหนึ่งในปัจจัยที่มีน้ำหนักต่อการตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยนโยบายภายในสิ้นปีนี้ แม้ว่าเงินเฟ้อของไทยจะฟื้นตัวอย่างช้าๆ ก็ตาม