บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่า 32.67 บาทต่อดอลลาร์

บาทเปิดตลาดเช้านี้อ่อนค่า 32.67 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินปิดรับความเสี่ยงกังวลปัญหาสงครามการค้า

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ระดับ 32.67บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากช่วงปิดท้ายสัปดาห์ก่อนที่ระดับ 32.41 บาทต่อดอลลาร์

ภาพตลาดการเงินพลิกมาเป็นการปิดรับความเสี่ยง (risk off) เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีความกังวลกับปัญหาสงครามการค้า ที่เกิดขึ้นพร้อมกับการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วเกินไปของธนาคารกลางสหรัฐและยุโรป ส่งผลให้ค่าเงินในเอเชียและราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรวดเร็ว

แม้ในสัปดาห์นี้จะมีการประชุมของธนาคารกลางหลายประเทศทั่วโลก แต่เราเชื่อว่าตลาดจะพุ่งเป้าไปที่ ECB Annual Conference และถ้าธนาคารกลางสหรัฐและยุโรปยังคงมีท่าทีที่จะใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวดต่อ ก็จะเกิดแรงกดดันไปทั่วตลาดทุนทั่วโลกอีกครั้ง และสกุลเงินเอเชียรวมถึงเงินบาทอาจอ่อนค่าต่อเนื่องได้ในระยะนี้ มองกรอบเงินบาทวันนี้ 32.60-32.70 บาทต่อดอลลาร์ และในกรอบเงินบาทรายสัปดาห์ 32.35-32.85 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับในสัปดาห์นี้ สิ่งที่ต้องจับตาคือ การโต้ตอบระหว่างสหรัฐกับประเทศต่างๆในสงครามการค้า และความเห็นของธนาคารกลางหลักของโลกต่อนโยบายการเงินในอนาคต

ในวันจันทร์ถึงวันพุธ จะมีการประชุม ECB Annual Conference ขึ้นที่เมืองซินตราประเทศโปรตุเกส ซึ่งนายมาริโอ ดราคี่ นายฮารุฮิโกะ คุโรดะ และนายเจอโรม โพเวลล์สามประธานธนาคารกลางใหญ่ของโลก จะขึ้นให้ความเห็นทั้งในเรื่องเศรษฐกิจ การควบคุมเงินเฟ้อ และการกำหนดนโยบายการเงินเมื่อการจ้างงานตึงตัว

วันพุธ คาดว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ด้วยมติ 6:1 โดยมีประเด็นหลักคือเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นจากราคาสินค้าพลังงานและเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวดีในไตรมาสแรกปีนี้

วันพุธ มองว่าธนาคารกลางฟิลิปปินส์ (BSP) จะ “คง” ดอกเบี้ยที่ระดับ 3.25% แม้ความเห็นของนักวิเคราะห์ในตลาดคาดว่า BSP อาจขึ้นดอกเบี้ย 0.25% ไปที่ระดับ 3.50% หลังจากที่เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้นเหนือเป้าหมาย

วันพฤหัส การประชุมธนาคารกลางอังกฤษคาดว่าจะมีมติ 7:2 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50%

วันพฤหัส มองว่าธนาคารกลางสวิตเซอร์แลนด์จะ “คง” ดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.75% เนื่องจากค่าเงินฟรังก์สวิสยังแข็งค่าเกินไปในมุมมองของธนาคารกลาง