โพลล์ เผยปฏิรูปตำรวจ หวังแก้ 'จราจร-ปชช.'

โพลล์ เผยปฏิรูปตำรวจ หวังแก้ 'จราจร-ปชช.'

บ้านสมเด็จโพลล์ สำรวจคน กทม.52.2% ไม่เชื่อปฏิรูปตร.สำเร็จ ถามหวังปฏิรูปด้านไหน กว่า 40% หวังแก้จราจร-บริการ ปชช. รองลงมางานสืบสวนปราบปราม เห็นด้วยโยกย้ายยึดอาวุโส

เมื่อวันที่ 17 มิ.ย.61 "ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์" สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้สำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับ "การปฏิรูปตำรวจ" ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยเก็บกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,117 กลุ่มตัวอย่าง ตั้งแต่ในวันที่ 4 - 6 มิ.ย.ที่ผ่านมา

โดย "ผู้ช่วย ศ.สิงห์ สิงห์ขจร" ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ เปิดเผยว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ ต้องการสะท้อนความคิดเห็นในเรื่อง "การปฏิรูปตำรวจ" ตั้งแต่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) , สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ดำเนินการด้านการปฎิรูปตำรวจ ซึ่ง "คณะกรรมการปฏิรูปตำรวจ" เสนอประเด็นการเพิ่มค่าตอบแทนและสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ได้ดำเนินการการปฏิรูปตำรวจ ในภาพรวม 6 ด้าน ประกอบด้วย 1.ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 2.การปฏิรูปด้านโครงสร้าง 3.การให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม 4.ด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในองค์กร 5.ด้านการนำเทคโนโลยีมาใช้ 6.ด้านการสอบสวนและการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งความคิดเห็นของประชาชน ต่อการปฏิรูปตำรวจในเขตกรุงเทพมหานครนั้น ปรากฏว่า ส่วนใหญ่อยากให้มีการปฏิรูปตำรวจ ในงานด้านจราจรมากที่สุด ร้อยละ 42.5 อันดับที่ 2 คืองานด้านการให้บริการประชาชน ร้อยละ 21.6 อันดับที่ 3 คืองานด้านสืบสวนสอบสวน ร้อยละ 18.4 อันดับที่ 4 คืองานด้านป้องกันปราบปราม ร้อยละ 17.5

โดย กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 57.2 เห็นด้วยที่จะให้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กำกับดูแลแทนตำรวจในส่วนของการจราจร เช่น การอำนวยความสะดวกทางจราจร การกวดขันวินัยจราจร การบังคับใช้กฎหมายจราจร ส่วน​​ร้อยละ 29.4 ไม่เห็นด้วย อย่างไรก็ดี กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 55.8 ก็เห็นด้วยกับการปรับปรุงการปฏิบัติงานของสถานีตำรวจเป็นแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ one-stop service ขณะที่ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 52.2 ยังคิดว่า "การปฏิรูปตำรวจ" ของ คสช. จะไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนคิดว่าจะประสบความสำเร็จ มีร้อยละ 23.6 โดยไม่แน่ใจ มีถึงร้อยละ 24.2 ส่วนการปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการตำรวจ กลุ่มตัวอย่าง ร้อยละ 59.3 ไม่เห็นด้วย โดย ร้อยละ 61.7 คิดว่าการปรับปรุงเงินเดือน ค่าตอบแทน และสวัสดิการของข้าราชการตำรวจไม่มีผลต่อการทำให้การทำงานของข้าราชการตำรวจดีขึ้น

นอกจากนี้ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ ร้อยละ 50.9 เห็นด้วย ที่จะมีหลักเกณฑ์กติกาและกำกับการแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนขั้นเงินเดือนตำรวจโดยใช้หลักอาวุโส 50% ผลงาน 30% และความพึงพอใจของประชาชน 20% ซึ่งร้อยละ 50.7 คิดว่าหลักเกณฑ์หลักเกณฑ์กติกาและกำกับการแต่งตั้ง โยกย้ายเลื่อนขั้นเงินเดือนตำรวจโดยใช้หลักอาวุโส 50% ผลงาน 30% และความพึงพอใจของประชาชน 20% จะทำให้การทำงานของข้าราชการตำรวจดีขึ้น