ศก.สร้างสรรค์ ทางออกกับดักรายได้ปานกลาง

ศก.สร้างสรรค์ ทางออกกับดักรายได้ปานกลาง

เปิดผลวิจัย ระบุ“อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” กลไกทางเลือกในการสนับสนุนประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางเร็วขึ้น 2 ปีจากปี 2579 ตามแผนรัฐบาล

เปิดผลวิจัย สกว.ฝากความหวัง “อุตสาหกรรมสร้างสรรค์” กลไกทางเลือกในการสนับสนุนประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลางเร็วขึ้น 2 ปีจากปี 2579 ตามแผนรัฐบาล แม้จะมีสัดส่วนประมาณ 9% ของจีดีพี (ปี2558) แต่มีศักยภาพการเติบโตสูง สอดรับกับพื้นฐานของคนไทยที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์สูง

ขณะที่ผลการศึกษาทีดีอาร์ไอระบุเงื่อนไขต่ำสุดที่จะเป็นจริงได้ภายในปี 2579 หรือ 20 ปี ขึ้นอยู่กับ 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายที่จะต้องเติบโต 7.2 % ต่อปี แต่อนาคตระยะยาว 20 ปีอาจจะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ วิกฤติการเมืองและภัยธรรมชาติ ที่ถือเป็นความเสี่ยง

“ความชัดเจน”หัวใจสร้างชาติ

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สัมมนาในหัวข้อ “แนวคิดการคัดเลือกและผลักดันอุตสาหกรรม ยุทธศาสตร์ของไทยเพื่อผลักดันประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง” เพื่อเผยแพร่สร้างความเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย (PRP) ระหว่างโครงการวิจัยฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสู่การนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ จำนวน 3 โครงการ

ได้แก่ 1. โครงการ “การศึกษาแนวทางการคัดเลือกอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทยเพื่อผลักดันประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง” 2. โครงการวิจัยเชิงยุทธศาส ตร์ “การหลุดพ้นจากกับดักประเทศรายได้ปานกลาง กลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” และ 3. โครงการการศึกษาแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ

นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า แนวคิดการคัดเลือกและผลักดันอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทยเพื่อผลักดันประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง นั้น จากงานวิจัยพบว่า อุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลให้การสนับสนุนสอดรับกับงานวิจัยของทีดีอาร์ไอ หาก10 อุตสาหกรรมเป้าหมายทำได้ตามเป้าหมาย 100% เศรษฐกิจไทยจะเติบโตที่ 4.7%

แต่จากผลการประมาณการของทีดีอาร์ไอ (2561) พบว่าเศรษฐกิจไทยในอนาคตจะเติบโตที่ 3.1% เนื่องจากการแข่งขันในประเทศอื่นๆ และการเข้ามาของ Tech disruption ดังนั้น เงื่อนไขต่ำสุดที่จะก้าวพ้นกับดักฯ ได้นั้น 10 อุตสาหกรรมต้องโต 7.2 % ต่อปี เพื่อที่จะสร้างผลเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ให้โต 3.9% ต่อปี จึงจะทำให้อัตราเจริญเติบโตของไทยเพิ่มเป็น 4.7% ต่อปี และจะทำให้เป้าหมายเป็นจริงภายในปี 2579 หรืออีก 20 ปี ตามเป้าหมายของภาครัฐ

“ประเทศไทยต้องหาจุดเด่นของตัวเองรวมทั้งเป้าหมายที่ชัดเจนในการขับเคลื่อน ในระหว่างระยะเวลา 20 ปีนั้น ต้องพบกับอุปสรรคต่างๆ ทั้งในและนอกประเทศ เช่น วิกฤติเศรษฐกิจโลก ปัญหาอากาศแปรปรวน อุตฯที่เคยมีความเหมาะสมอาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป จะยิ่งฉุดให้อัตราเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยลดน้อยลงไป และเป็นการเพิ่มเวลาที่ใช้ก้าวพ้นกับดักให้นานยิ่งขึ้น”

นักวิชาการทีดีอาร์ไอแนะนำว่า การปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้ก้าวพ้นกับดักฯ ให้เร็วขึ้น จำเป็นต้องอาศัยความชัดเจนในเชิงนโยบาย โดยจะต้องสามารถกำหนดได้ว่าประเทศไทยจะเดินไปในทิศทางไหน ต้องกำหนดภาคการผลิต และ/หรือ ภาคบริการเป้าหมายที่มีความโดดเด่น ในจำนวนที่จำกัด ไม่ใช่การเหวี่ยงแหสนับสนุนทุกอุตฯแบบที่เป็นอยู่

3 อุตฯสร้างสรรค์ที่ต้องผลักดัน

ผศ.พงษ์ธร วราศัย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มองว่า กลุ่มอุตฯ สร้างสรรค์มีส่วนสำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจและจีดีพีของไทย จากการวิจัยพบว่า อุตฯ 3 ประเภทที่ควรจะให้ความสำคัญ ได้แก่ แฟชั่น สื่อดิจิทัล/ซอฟต์แวร์ และกลุ่มงานหัตถกรรม ที่มีความเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมเดิมที่มีอยู่ในประเทศ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ

ดังนั้น แนวนโยบายที่รัฐควรให้การสนับสนุนแรงงานสร้างสรรค์ ที่มีการผสมผสานเทคโนโลยี ภูมิปัญญาและความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และยกระดับเป็นมาตรฐานวิชาชีพเทียบเท่าสากล รวมถึงการพัฒนาหลักสูตรด้านนวัตกรรมเข้ามาช่วยพัฒนาความคิดในการแก้ปัญหาเชิงสร้างสรรค์

ในส่วนโครงการวิจัยที่ 3 วรินธร สงคศิริ หัวหน้าโครงการ ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์จากของเสียอุตฯการเกษตร กล่าวว่า เชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพเป็นกลุ่มที่จะเติบโตเร็วในอนาคต และเป็นอุตฯ ที่ไทยมีศักยภาพสูง จึงอยากให้ภาครัฐสนับสนุนงานวิจัยที่พร้อมนำไปต่อยอดสร้างความเข้มแข็งให้ภาคอุตฯ

ตลอดจนมีกลไกสนับสนุนผู้ประกอบการทุกระดับให้สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสม เพราะในส่วนของบุคลากรวิจัยนั้น ไทยมีศักยภาพและมีสามารถประยุกต์ใช้เทคโนโลยีไม่แพ้ชาติใดๆ