BASE Playhouse ทำสิ่งที่ใช่เปลี่ยนเรื่องใหญ่ ด้วยกลไกเล็กๆ

 BASE Playhouse ทำสิ่งที่ใช่เปลี่ยนเรื่องใหญ่ ด้วยกลไกเล็กๆ

เชื่อว่า “ความรู้” ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ใน “ห้องเรียน” ในโลกทุกวันนี้สิ่งที่อยู่รอบ ๆตัวเรา ล้วนแต่เป็น “ธุรกิจ” ดังนั้นเด็กไทยจำเป็นต้องมี “ความรู้” ในเรื่องธุรกิจ

นอกจากนี้ เด็ก ๆยังต้องมี “ทักษะ” ของการใช้ชีวิตและทำงานใน “ศตวรรษที่ 21” เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ภูมิใจในตนเอง สร้างความเติบโตให้ชีวิตได้อย่างสตรอง


นี่คือที่มาของ “ BASE Playhouse” ที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อสองปีก่อน จากการรวมตัวของ “คนรุ่นใหม่” ได้แก่ ม๋ำ-เมธวิน ปิติพรวิวัฒน์ (CEO & Co-Founder) ภีศเดช เพชรน้อย (Co-Founder) และ อัตถสิษฏ์ ภู่ธนะพิบูล (Co-Founder)


พวกเขามองว่า เด็กยุคใหม่สามารถทำสิ่งที่ตัวเองรักเพื่อเป็นอาชีพได้ ผ่านการรู้จักโลกของธุรกิจ และเชื่อว่าด้วยเทคโนโลยี ในปัจจุบันจะช่วยสร้างประสบการณ์จำลองในการเรียนรู้ ให้เด็กรุ่นใหม่รู้ได้เร็วกว่าคนอื่น


“จริงๆ แล้วเด็กทุกคนมีศักยภาพที่ซ่อนอยู่ เป็นศักยภาพที่หากผลักดันและได้รับการโค้ชอย่างถูกวิธี เด็กเหล่านี้จะสามารถโตไปเป็นคนที่ไม่โดนเหวี่ยงไปตามกระแสโลก แต่กลับกัน พวกเขาเหล่านั้นจะทันโลก และพร้อมจะเก็บเกี่ยวโอกาสที่โลกหมุนมาให้ได้อย่างครบถ้วนด้วยศักยภาพของตัวเอง มีความสุขและประสบความสำเร็จได้ในสิ่งที่ทำ สิ่งที่ตัวเองรัก”


“Business Playhouse” ห้องเรียนของพวกเขาจะเป็นเหมือน “บ้าน” เป็นพื้นที่ที่คนรุ่นใหม่ได้เข้ามาเล่นทดลอง รู้จักตัวเองผ่านโลกของธุรกิจ และได้รู้จักเพื่อนๆพี่ๆ น้องๆที่มีใจเดียวกันและมีความชอบแบบเดียวกัน


ในหมายเหตุว่า วัตถุประสงค์ของ BASE Playhouse ไม่ได้หวังเข้ามาแทนที่ระบบการศึกษาเดิม แต่เป็นเหมือน “อาหารเสริม” เพิ่มเติมให้เด็ก ๆได้มาเรียนรู้ ได้มาทดลองทำจริง ล้มจริง ทว่าไม่ต้องเสี่ยงจริง หรือเจ็บจริงแต่ประการใด


ม๋ำ เล่าว่า ความเป็นจริงของโลกวันนี้ก็คือ เด็กที่เพิ่งเรียนจบและก้าวสู่โลกการทำงาน มักเปลี่ยนงานกันอยู่บ่อย ๆ ยังทำอะไรไม่เป็นชิ้นเป็นอันปุบปับก็ลาออก ซึ่งสาเหตุส่วนหนึ่งมาจากเด็กยังไม่รู้จักและค้นพบความต้องการของตัวเองว่าถนัดหรือชอบในอาชีพหรือสายงานใดกันแน่


ตัวเขาเองน่าจะเป็นอีกกรณีศึกษาที่ดี ตัวม๋ำเองขึ้นชื่อว่าเป็นนักกิจกรรมตัวยงมาตั้งแต่ไหนแต่ไร เขาเรียนระดับมัธยมที่โรงเรียนกรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย และเรียนจบเกียรตินิยมจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากนั้นก็ไปเรียนต่อปริญญาโทด้านวิศวะ ที่ประเทศอังกฤษ (Cranfield University) ยอมรับว่าที่เลือกเรียนด้านวิศวะก็เพราะไม่รู้ว่าแท้จริงนั้น ตัวเองมีใจรักที่จะเป็นผู้ถ่ายทอดความรู้ ชอบการสอน ชอบการศึกษา และยังสามารถทำมันได้ดีอีกด้วย ( สมัยเรียนเขาได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่ล้วนเป็นการสอน เป็นการแนะนำแนวทางทั้งเรื่องการเรียน การใช้ชีวิตให้กับน้องๆ และฟีดแบ็คที่ได้รับมาก็คือ เขาเป็นพี่ที่สอนสนุก น้องๆได้รับประโยชน์)


แต่เมื่อค้นพบแล้ว เขาก็ตัดสินใจลาออกจากบริษัทข้ามชาติ ทิ้งเงินเดือนแพงเพื่อมาลุยทำ BASE Playhouse แบบเต็มตัว


ปัจจุบันหลักสูตรของ BASE Playhouse มีอยู่สองหลักสูตร โดยหลักสูตรแรกนั้นชื่อว่า “ Business for Youngsters” ทีให้เด็กเรียนรู้โลกธุรกิจเบื้องต้นภายในเวลา 2 วัน ส่วนหลักสูตรที่สองก็คือ “Skill-Up Series” สอนทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 ที่ว่าด้วย ความคิดสร้างสรรค์,การมีวิจารณญาณ แก้ปัญหาเป็น,การสื่อสารที่ดี ฯลฯ


ความโดดเด่นของทั้งสองหลักสูตรอยู่ตรงที่ตัวผู้สอนหรือโค้ช ที่มีแพชชั่นต้องการจะช่วยสอน ช่วยสร้างเด็กรุ่นใหม่ให้ก้าวทันโลก พวกเขาเก่ง มีความเชี่ยวชาญ เรียกว่าเป็นขั้นเทพในสายงานด้านนั้น ๆ อย่างไรก็ตาม อาจมีการทักท้วงว่า หลักสูตรอื่น ๆ ก็อาจมีผู้สอนที่เก่งกาจไม่แพ้กัน ก็ต้องบอกว่าความน่าสนใจอยู่ตรงที่ก่อนจะมีการเรียนการสอนนั้น ผู้สอนของ BASE Playhouse จะต้องวางแผน มีการดีไซน์ ทำการสกัดความรู้เอาตรงที่เป็นแก่นจริง ๆให้ครบทุกมุม ย่อยทฤษฎีที่เข้าใจยากให้กลับมาเป็นคอนเซ็ปต์ที่เข้าใจได้อย่างง่ายและรวดเร็ว


รวมถึงต้องออกแบบวิธีสอน ไม่ได้เป็นเพียงการบรรยาย และให้เด็กนั่งฟังเพียงอย่างเดียว แน่นอนว่าการนั่งฟังเป็นอะไรที่น่าเบื่อ จึงมีการหยิบหลักการ “Gamification” มาสร้างความสนุก เปลี่ยนจากการเรียน one-way listening เป็นการเรียนรู้แบบครบ loop ด้วยการเข้าใจแล้วลงมือทำจริงๆ


"ความท้าทายที่พบก็คือ การทำความเข้าใจพฤติกรรมของเด็ก ๆ พวกเขาจะมองโลกต่างไปจากเรา ซึ่งเรามองว่าแวลลูที่จะส่งมอบให้กับพวกเขา ก็คือความรู้ที่ต้องทำให้มันง่าย สนุก แม้ว่าเรื่องของธุรกิจจะเป็นอะไรที่ยังไกลตัวเด็กอยู่มากก็ตาม"


“การเรียนรู้” ต้องควบคู่ไปกับ “ความสนุก” ทั้งต้องสร้างบรรยากาศความเป็นกันเอง ลดระยะห่างระหว่างคนสอน ให้เกิดความรู้สึกเข้าถึงได้ง่าย จะทำให้คนที่เรียนรู้ กล้าถาม กล้าคิด และกล้าทำมากยิ่งขึ้น


นอกจากนี้ยังมีความท้าทายอีกเรื่องหนึ่งก็คือ “ตัวผู้สอน” หรือ “โค้ช” แต่ละคนเพราะขึ้นชื่อว่าเป็น “สุดยอด” และส่วนใหญ่ก็มาทำงานให้ในลักษณะ “พาร์ทไทม์” ดังนั้นการบริหารจัดการ “เวลา” ให้ลงตัวสำหรับพวกเขาจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ


ถามถึงไมล์สะโตน คำตอบก็คือ ระยะเวลาสองปีที่ผ่านมา เป็นช่วงเวลาที่พิสูจน์ว่า สิ่งที่ทำไปทั้งหมดสามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้จริง และผลลัพท์่ก็ปรากฏชัดเจนว่าเป็นอย่างนั้น น้อง ๆ ที่ได้เรียนต่างพูดตรงกันว่าพวกเขาได้ใช้สมอง ได้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น ทั้งยังได้ความสนุกไปพร้อม ๆกัน


"เป้าหมายที่เราตั้งไว้ภายใน 5 ปีจากนี้ ก็คือ การทำให้เด็กไทยรู้จักเรามากขึ้น และอาจอยู่ในฐานะของหลักสูตรทางเลือกที่เด็กๆ ทุกคนจะต้องเรียน เพราะเวลานี้นอกจากเปิดคอร์สสอนเด็กทั่วไปในทุก ๆเดือน เราก็เริ่มนำเอาหลักสูตรไปแนะนำกับทางโรงเรียนต่างๆ เพื่อให้ความรู้กระจายตัวออกไป และต้องบอกว่าหลักสูตรของเราสามารถปรับแต่งให้เข้ากับบริบทแต่ละโรงเรียน รวมไปถึงองค์กร หน่วยงานต่าง ๆด้วย"


ส่วนเรื่องของการระดมทุน ที่แม้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่มีความสำคัญกับจังหวะของการขับเคลื่อนธุรกิจในเวลานี้ แต่เขาและทีมงานมีความต้องการให้น้ำหนักไปกับการพัฒนาตัวโปรดักส์มากกว่า เพราะมองว่ายังมีอีกหลายต่อหลายทักษะที่มีความจำเป็นกับเด็กๆ ที่ยังไม่ได้ถูกพัฒนาขึ้นเป็นหลักสูตร เพื่อทำให้เด็กไทยเก่งขึ้น กระทั่งหุ่นยนต์ หรือเอไอ ที่หลายๆคนบอกว่าจะมาแทนที่ก็ยังไม่สามารถสู้หรือแข่งได้


"ผมเชื่อว่าถ้าโปรดักส์เราดี ที่สุดเงินก็จะตามมาเอง BASE Playhouse มุ่งหวังจะเป็นกลไกเล็ก ๆที่ช่วยสร้างความเปลี่ยนแปลงในเรื่องใหญ่ ๆอย่างการศึกษา เช่นเดียวกัน เมื่อเราได้ทำงานที่รัก ได้ทำสิ่งที่ใช่ หรือได้เอาสิ่งที่รักมาเป็นอาชีพได้ ในที่สุดจะทำให้เราพบกับโอกาสดีๆ ได้เช่นเดียวกัน และความยั่งยืนมันก็จะเกิดขึ้น "