ลงตัวชื่อก.อุดมศึกษาฯ 'ประจิน-สมคิด' ที่ปรึกษาทีมตั้งเป้า 8 ด.เสร็จ

ลงตัวชื่อก.อุดมศึกษาฯ 'ประจิน-สมคิด' ที่ปรึกษาทีมตั้งเป้า 8 ด.เสร็จ

รมช.ศึกษาธิการเผยหารือร่วม “ประจิน” สรุปชัดตั้ง ก.อุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม พร้อมผุดคณะทำงานมี “ประจิน-สมคิด” นั่งที่ปรึกษา ดึง “4 รมต.-บวรศักดิ์” เป็นประธาน ทำรายละเอียดดันกระทรวงอุดมฯให้เกิด ตั้งเป้าเสนอเข้าสนช.เดือนต.ค.นี้

เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการ เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบให้พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุมร่วมกับกระทรวงศึกษา(ศธ.)กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) และหน่วยงานด้านการวิจัยในการจัดตั้งกระทรวงใหม่ มีข้อสรุปว่าจะใช้ชื่อ “กระทรวงอุดมศึกษาวิจัยและนวัตกรรม” โดยรวม สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) กระทรวงวิทย์ หน่วยงานด้านการวิจัยทั้งส่วนที่สนับสนุนทุนวิจัยและหน่วยงานที่ขอทุนวิจัย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (สวก.) สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งที่ประชุมเห็นด้วยในหลักการและมองว่าจะช่วยเสริมกัน แต่มีข้อห่วงใยว่าการนำส่วนงานให้ทุนและรับทุนมารวมกันจะเหมาะสมหรือไม่ ซึ่งยังไม่ข้อยุติต้องไปดูรายละเอียด


นอกจากนี้ ที่ประชุมได้หารือถึงกรอบเวลาดำเนินการ เนื่องจากก่อนจะมีการเลือกตั้งประมาณเดือนก.พ.2562 คาดว่าสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) จะต้องพิจารณาร่างพ.ร.บ.ต่างๆที่อยู่ระหว่างการพิจารณาให้เสร็จภายใน 30 พ.ย.และจะไม่รับวาระใหม่ เพราะฉะนั้น จะเหลือเวลาประมาณ 3 เดือนครึ่ง คือเดือนมิ.ย.-ก.ย.นี้ ในการจัดทำรายละเอียดร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษาฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและนวัตกรรมให้พร้อม เพื่อจะให้ทันเสนอ สนช.พิจารณาได้ในเดือนต.ค.นี้


นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ จากกรอบเวลาดังกล่าวที่ประชุมได้ตั้งคณะทำงานเตรียมการจัดตั้งกระทรวงอุดมฯ โดยมี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ พล.อ.ประจิน รองนายกฯ เป็นที่ปรึกษา ประธานคณะทำงานร่วม 4 ฝ่าย ได้แก่ นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายสุวิทย์ เมสินทรีย์ รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นพ.อุดม และนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ คณะทำงาน 10 คน ได้แก่ ผู้แทนสกอ. วท. เครือข่ายองค์กรบริหารงานวิจัยแห่งชาติ (คอวช.) สำนักนายกฯ สำนักงานกฤษฎีกา สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง คณะกรรมการอิสระเพื่อการปฏิรูปการศึกษา (กอปศ.) ฝ่ายละ 1 คน และผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 2 คน ฝ่ายเลขานุการ 3 คน ได้แก่ สำนักนายกฯ สำนักงานรองนายกฯ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.)
“คณะทำงานจะดูใน 2 แนวทางคือ 1.พิจารณาร่างพ.ร.บ.อุดมศึกษาฯ ซึ่งผมยืนยันขอยึดร่างเดิมเพราะผ่านกระบวนการต่างๆครบถ้วนสมบูรณ์ แต่ต้องเพิ่มส่วนโครงสร้างกระบวนการที่ต้องเชื่อมโยงในส่วนของวิจัยและนวัตกรรม ซึ่งมีร่างพ.ร.บ.อยู่แต่ยังไม่มีการประชาพิจารณ์ที่อาจจะต้องปรับรายละเอียดเพราะเป้าหมายเดิมคือดูแลทั้งประเทศ รวมทั้งประเด็นอื่นๆที่เกี่ยวข้อง และ2.เขียนพ.ร.บ.ใหม่ที่ครอบคลุมทั้งอุดมศึกษาและการวิจัย ซึ่งตามกรอบเวลา 3-4 เดือนเป็นไปได้ยาก และแนวโน้มที่ประชุมจะเห็นสอดคล้องกับแนวทางแรกแต่ก็ต้องไปทำประเด็นต่างๆให้ชัด และให้ทันกรอบเวลา”นพ.อุดม กล่าว


อย่างไรก็ตาม สุดท้ายหากการดำเนินการไม่ทันในรัฐบาลชุดนี้จากที่ได้หารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯแนะนำไว้ คือ ผลักดันแก้ไขพ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม กำหนดโครงสร้างของอุดมศึกษา การวิจัยให้เห็นภาพและเขียนบทเฉพาะว่าจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหรือ 120 วัน หรือ ดันให้เกิดการตั้งก.อุดมศึกษาฯใหม่พร้อมแนบร่างพ.ร.บ.การอุดมศึกษา และเขียนในบทเฉพาะว่าจะมีการออกพระราชกฤษฎีกาในส่วนของการวิจัยและนวัตกรรม ก็สามารถดำเนินการได้