เกาะเทรนด์รัก 'สุขภาพ' สเต็ปโต 'ดีโอดี ไบโอเทค'

เกาะเทรนด์รัก 'สุขภาพ' สเต็ปโต 'ดีโอดี ไบโอเทค'

สร้างการเติบโตแบบยั่งยืน พันธกิจสำคัญ 'ศุภมาส อิศรภักดี' ผู้ก่อตั้ง บมจ. ดีโอดี ไบโอเทค รุกขยายโรงงานใหม่ & พัฒนาสินค้าสุขภาพใหม่ ผลักดันรายได้ก้าวกระโดด 'จุดขาย' หุ้นน้องใหม่ไอพีโอระดมทุนตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ 20 มิ.ย.นี้

กำลังเป็นประเด็น 'ฮอตฮิต' ในแวดวงความสวยความงาม หลังมีการบุกจับกุมผลิตภัณฑ์เสริมความงาม และเครื่องสำอางที่ไม่ได้มาตรฐาน กำลังส่งผล 'บวก' หุ้นไอพีโอน้องใหม่ที่กำลังจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ในวันที่ 20 มิ.ย.นี้ ในราคาหุ้นละ 9.30 บาทต่อหุ้น มูลค่าที่ตราไว้ (พาร์) 0.50 บาท หลังเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนต่อประชาชนครั้งแรกจำนวน 110 ล้านหุ้น ได้เงินระดมทุนเกือบ 'พันล้านบาท'

'ศุภมาส อิศรภักดี' ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ดีโอดี ไบโอเทค หรือ DOD ผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร (Dietary Supplement Product) ที่มีส่วนประกอบหลักมาจากสารสกัดจากธรรมชาติ โดยให้บริการครบวงจรแบบ One Stop Service ซึ่งทุกผลิตภัณฑ์ได้รับการขึ้นทะเบียนเลขสารบบอาหารจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อย่างถูกต้องครบถ้วน บอกจุดเด่นการเติบโตกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ฟังว่า 

มีโอกาสในการเติบโตยังมีอีก 'มหาศาล' สะท้อนผ่านมูลค่าตลาดปี 2560 อยู่ที่ '2แสนล้าน'  ซึ่งผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร ถือเป็น 'ปัจจัย 4' ของทุกคน เป็นทั้งอาหาร และยารักษาโรคในคราวเดียวกัน สอดคล้องกับธุรกิจอาหารเสริมเพื่อสุขภาพและความงามมีอัตราเติบโตทุกปีตามเทรนด์ของโลกที่ผู้บริโภคหันมาเน้นสุขภาพมากขึ้น 

การขยับตัวเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์ในครานี้ เธอยอมรับว่า เมื่อต้องการสร้างการ 'เติบโตยั่งยืน' ในอนาคต ต้องมีเงินลงทุนเพื่อไปขยายธุรกิจ เป้าหมายของการเข้ามาระดมทุนครั้งนี้ คือ การนำเงินไป ลงทุนใน 'โรงงานสกัดวัตถุดิบ' (โรงที่ 2) ราว 100 ล้านบาท เพื่อสกัดสารสกัดซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหารจำหน่ายในประเทศและส่งออก 

และลงทุน 'ห้องปฏิบัติการวิจัยระดับสากล' ราว 200 ล้านบาท เพื่อใช้พัฒนาตราสินค้าใหม่ของบริษัท ได้แก่ ตราสินค้าเพื่อตอบสนองกลุ่มผู้สูงอายุที่มุ่งเน้นการมีสุขภาพที่ดี และตราสินค้าสำหรับผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร หลังความต้องการ (ดีมานด์) กลุ่มคนที่ดูแลสุขภาพและความงาม ที่หันมานิยมบริโภคอาหารเสริม และวิตามินเพิ่มขึ้น...!!  

สะท้อนผ่าน กำไรสุทธิไตรมาส 1 ปี 2561 อยู่ที่ 111.21 ล้านบาท สูงเกือบเท่าทั้งปีก่อนแล้ว  หากพิจารณาการเติบโตขององค์กรแห่งนี้จะพบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2558-2560) มี 'กำไรสุทธิ' อยู่ที่ 128.89 ล้านบาท 138.78 ล้านบาท และ 142.19 ล้านบาท ขณะที่รายได้อยู่ที่ 385.36 ล้านบาท 368.37 ล้านบาท และ 388.56 ล้านบาท

ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารของบริษัทแบ่งออกเป็น  2 กลุ่ม คือ 1.'ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อความงาม' แบ่งออกเป็น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อดูแลรูปร่าง ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสารสกัดต่างๆ ที่มีคุณสมบัติช่วยดูแลรูปร่าง เช่น ช่วยเผาผลาญไขมัน ลดการสะสมของไขมัน และลดความอยากอาหาร เป็นต้น และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อดูแลผิวพรรณ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ประกอบด้วยสารสกัดต่างๆ ที่มีคุณสมบัติช่วยบำรุงผิวพรรณให้นุ่ม ชุ่มชื่นยกกระชับ กระจ่างใส ลดเรือนริ้วรอย และจุดด่างดำบนใบหน้า

2.'ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพ' เป็นผลิตภัณฑ์ที่ผู้บริโภครับประทานเพื่อต้องการให้ร่างกายมีประสิทธิภาพดีขึ้น โดยผลิตภัณฑ์ประกอบด้วยวิตามินแร่ธาตุต่างๆ ที่จำเป็นต่อร่างกาย เช่น สารต้านอนุมูลอิสระ และสารสกัดต่างๆ ที่ช่วยในเรื่องเกี่ยวกับปัญหาสุขภาพ เช่น ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารบำรุงสมอง ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อระบบขับถ่าย และผลิตภัณฑ์เสริมอาหารประเภทโปรตีน

แต่หลังจากนี้บริษัทจะไม่ 'เหยียบเบรก' อีกต่อไป หลังบริษัทมีโรงงานสกัด 2 ซึ่งถือเป็นการเพิ่มกำลังการผลิตวัตถุดิบ ประเภทสารสกัดเพิ่มเติม เพื่อให้ผลิตสารสกัดที่ปลอดสารพิษนำไปพัฒนาสินค้าให้ลูกค้าได้ และเป็นการเริ่มต้นในธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำอีกด้วย ซึ่งโรงงานสกัด 2 จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ในรูปแบบ ODM เพื่อต่อยอดสินค้าต่างๆ และเป็นการยกระดับพืชผักผลไม้ไทยขึ้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเมกะเทรนด์ที่รัฐบาลสนับสนุนเช่นกัน

ขณะที่ บริษัทมีแผนธุรกิจเพิ่มยอดขายในแบรนด์ของตัวเอง ภายใต้ตราสินค้า 'Dai a to' (ได เอโตะ) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อสุขภาพประเภทโปรตีน มีคุณสมบัติช่วยดูแลรูปร่าง ช่วยลดการสะสมของไขมันส่วนเกิน บำรุงระบบประสาท และบำรุงผิวพรรณให้กระจ่างใส มีลักษณะเป็นผงชงดื่มโดยนำมาผสมน้ำ เขย่าให้เข้ากัน แล้วดื่มทดแทนมื้ออาหาร

รวมทั้ง ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลิตภัณฑ์ใหม่ซึ่งมีเป้าหมาย คือ 'กลุ่มผู้สูงอายุ' อายุตั้งแต่ 55 ปีขึ้นไป ที่ต้องการมีสุขภาพดี เนื่องจากสัมคมไทยกำลังเข้าสู่ 'สังคมผู้สูงอายุ' (Aging Society) ซึ่งบริษัทเตรียมทำแบรนด์สินค้าของตัวเองในชื่อแบรนด์ 'ตรีผลา' ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร เพื่อตอบโจทย์ผู้ที่รักสุขภาพ ฟื้นฟูระบบการทำงานร่างกาย ช่วยให้ขับถ่ายง่าย ย่อยง่าย คาดว่าจะวางขายผ่านช่องทางโมเดิร์นเทรดครอบคลุมทั่วประเทศ  

'หุ้นใหญ่' บอกว่า วางเป้าหมาย 3 ปีข้างหน้า (2561-2563) เพิ่ม 'ยอดขาย' ผลิตภัณฑ์จากแบรนด์ของตัวเองเป็น 30% จากปัจจุบันไม่ถึง 1% ซึ่งต้องเพิ่มสัดส่วนรายได้ ODM เป็น 70% และ ผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ตัวเอง 30% 

'ตออนี้โรงงานใช้กำลังการผลิตราว 60% หากมีคำสั่งซื้อใหม่เพิ่ม เราพร้อมขยายการผลิตช่วงกลางคืนเข้ามา มั่นใจเพียงพอกับออเดอร์ใหม่ๆ ที่จะเข้ามา'  

ทั้งนี้ ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของบริษัทมีการจำหน่ายให้แก่ลูกค้าในประเทศทั้งหมด โดยส่วนใหญ่เป็นการผลิตตามคำสั่งซื้อ (ออเดอร์) ของลูกค้าและภายใต้ตราสินค้าที่ลูกค้ากำหนด ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่เป็นบริษัทซื้อมาขายไป (Trading Company) ที่ทำหน้าที่เป็นคนกลางหรือเป็นผู้รวบรวมคำสั่งซื้อจากลูกค้ารายย่อยต่างๆ ที่ต้องการมีผลิตภัณฑ์เสริมอาหารภายใต้ตราสินค้าของตนเอง เช่น ดารา-นักแสดง-ศิลปิน หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงต่างๆ ตลอดจนคลินิคเสริมความงาม บริษัทขายตรง หรือบริษัทที่มีหน้าร้านขายสินค้าเครื่องสำอางในห้างสรรพสินค้า เป็นต้น

นอกจากนี้ บริษัทให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Research and Development) เนื่องจากการวิจัยและพัฒนา เป็นส่วนสำคัญของความสำเร็จในธุรกิจรับผลิตผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร โดยมีทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่มีประสบการณ์ด้านวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารสมุนไพร เพื่อสร้างความแข็งแกร่งทางธุรกิจ และการเติบโตอย่างยั่งยืน  รวมทั้งเป็นการยกระดับพืชสมุนไพรไทย ซึ่งได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ Know-how ในการสกัดเพื่อให้ได้สาระสำคัญที่ต้องการและมีประสิทธิภาพ เพื่อนำมาใช้เป็นส่วนประกอบของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เพื่อผลิตภัณฑ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดด้วย 

ท้ายสุด 'ศุภมาส' ทิ้งไว้ว่า ถ้าอยากเป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร แค่มาหา DOD ทุกอย่างครบ จบในที่เดียว และได้มาตรฐานรับรองที่ถูกต้อง ในช่วง 2 เดือน มีออเดอร์ลูกค้าใหม่เข้ามามาก  รวมถึงดาราที่เป็นเจ้าของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารหลายราย ก็ติดต่อว่าจ้างให้บริษัทผลิตสินค้าให้ด้วย 

จากวิศวะสู่ธุรกิจอาหารเสริม  

'ศุภมาส อิศรภักดี' ประธานกรรมการบริหาร DOD เล่าให้ฟังว่า ตนเองมีความฝันอยากเป็น 'เภสัชกร' จากความชื่นชอบวิชาเคมีมาก และอยากจะเป็น 'นักปรุงยา' แต่เพราะครอบครัวทำให้ต้องเบนเข็มมาเรียนคณะวิศวะ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแทน หลังเรียนจบทำงานไปทำงานที่นิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง  

เป็นเวลากว่า 5 ปี ในการทำงานกับบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานอย่าง บมจ. ปตท. หรือ PTT ด้วยการใช้ชีวิตส่วนใหญ่อยู่ในโรงงาน เธอบอกว่า 'เหนื่อยมาก แต่ชอบ และสนุกกับงาน เปรียบเหมือนเราได้อยู่ในอาณาจักรของตัวเอง'

ก่อนโบกมือลาชีวิตในโรงงาน กลับกรุงเทพฯ เพื่อมาดูแลคุณแม่ที่อายุมากแล้ว 

แต่ด้วยการอยู่ในโรงงานตลอด จึงมีแนวคิดอยากจะมีโรงงานเป็นของตัวเองบ้าง ชีวิตเบนเข็มอีกครั้งกับบทบาทใหม่ 'นักการเมือง' ที่ได้รับแรงสนับสนุนจากคุณพ่อของเธอ ซึ่งเป็นนักกฏหมาย และอดีตสมาชิกสภาเขต รวมถึงคุณแม่ ซึ่งขณะนั้นเป็นผู้ช่วยทูตพาณิชย์ สถานฑูตฝรั่งเศสประจำประเทศไทย

เธอลงสมัครรับเลือกตั้ง และได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฏร (ส.ส.) กรุงเทพมหานคร ถึง 2 สมัยซ้อน และด้วยวัยเพียง 26 ปี อีกตำแหน่งทางการเมือง คือ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี 

ขณะเดียวกัน ความคิดอยากเป็นเจ้าของโรงงาน ก็ยังอยู่ดังนั้น จึงมองหาธุรกิจลงทุน ก่อนความคิดจะตกผนึกที่ 'ธุรกิจอาหารเสริม' จากสมุนไพรไทยยาแผนโบราณ เมื่อราว 7 ปีก่อน โดยเริ่มตั้งแต่ 'รับจ้างผลิต' (OEM) ก่อนขยายการผลิต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารเพื่อขายให้ลูกค้าทั่วไป และเริ่มผลิตรูปแบบ ODM ครบวงจร และมีทีมวิจัยพัฒนาคิดค้นสูตรเอง

เธอ บอกต่อว่า เป็นบริษัทแรกๆ ในตลาดที่ใช้กลยุทธ์  'Star Marketing' เป็นตัวชูโรงให้กับลูกค้า โดยให้เหล่าดาราดังช่วยทำตลาดในสื่อโซเชียลมีเดีย และเป็นช่วงเริ่มต้นรีวิวในอินสตาแกรม ซึ่งกลยุทธ์ดังกล่าวบริษัทยอมรับว่าได้ผลดีเกินคาด แต่สิ่งสำคัญผลิตภัณฑ์ต้องดีด้วย รวมทั้งตอบโจทย์ผู้บริโภคด้วย และทำให้เกิดพฤติกรรมการซื้อซ้ำของลูกค้า