ปั้นนวัตกร สร้างเมืองอัจฉริยะอีอีซี

ปั้นนวัตกร  สร้างเมืองอัจฉริยะอีอีซี

ขอเวลาอีก 5 ปีจะได้เห็นเมืองอัจฉริยะเกิดขึ้นในพื้นที่อีอีซี ตามรอยรุ่นพี่อย่างภูเก็ต ขอนแก่นและเชียงใหม่ จากการปลุกปั้นของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมหรือกระทรวงดีอี ซึ่งมีเป้าหมายทำทุกจังหวัดให้เป็นเมืองสมาร์ท

ทั้งยังตั้งเป้าเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มประเทศ 3 ลุ่มน้ำ (คงคา-สุวรรณภูมิ-แม่น้ำโขง) คือ ไทย เมียนมา ลาว กัมพูชา เวียดนามและอินเดีย หรือกลุ่มประเทศ CLMVT (กัมพูชา ลาว เมียนมา เวียดนามและไทย)

“เราต้องมีโซลูชั่นซึ่งเป็นเสมือนทางเลือกให้กับประเทศเหล่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องคิดแบบคนกล้าที่จะไต่ไปสู่ระดับเวิร์ลคลาส ให้เหมือนกับสิงคโปร์” พันธ์ศักดิ์ ศิริรัชตพงษ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดีอี กล่าว

รัฐบาลมีนโยบายที่จะใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนประเทศในมิติต่างๆ ซึ่งรวมถึงพื้นที่อีอีซี 3 จังหวัด ชลบุรี ระยองและฉะเชิงเทรา โดยลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในทั้งในส่วนของการขนส่ง ระบบอินเตอร์เน็ตหมู่บ้าน บรอดแบนด์ ตลอดจนกำหนดกฎ กติกา มารยาทในการทำธุรกิจ ชี้ให้เห็นช่องทางการตลาด เพื่อเป็นกลไกและเครื่องมือในการทำงานให้สะดวกและง่าย ไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติ สำหรับผู้ประกอบการที่จะเข้ามาลงทุน

"อย่างไรก็ตาม แม้จะมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดี มีตลาดที่ชัดเจน แต่ยังมีโจทย์ว่าเราจะทำอะไรเพื่อสนับสนุนให้เกิดเป็นสมาร์ทซิตี้”

600 ล้านเพื่อพัฒนาธุรกิจอัจฉริยะ

ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) กล่าวว่า การจะสร้างเมืองอัจฉริยะนั้นแทนการคิดโจทย์และลงทุนเอง ภาครัฐควรดึงเอกชนเข้ามาทำพร้อมทั้งทำหน้าที่สนับสนุนให้เกิดไอเดียในการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคที่จะเป็นธุรกิจใหม่ของเอกชน และนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้โดยภาครัฐเข้ามาร่วมลงทุน

ดีป้ามีงบราว 600 ล้านบาทจากงบบิ๊กร็อคสำหรับกองทุนอุดหนุนธุรกิจใหม่ด้านสาธารณูปโภค ที่จะเปิดให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพที่มีไอเดียหรือธุรกิจตอบโจทย์การจัดการเมืองอัจฉริยะมาเข้าโครงการบ่มเพาะเพื่อยื่นขอรับทุน โดยดีป้าจะร่วมลงทุน 50% ของงบโครงการแต่ไม่เกิน 50 ล้านบาท ระยะเวลา 3 ปี จากนั้นจะเจรจาปรับเปลี่ยนเป็นหุ้น 25-60% ขึ้นอยู่กับความแข็งแกร่งของธุรกิจนั้นๆ

ปีแรกจะเน้น 4 ด้านหลักที่เริ่มมีผู้ประกอบการรุ่นใหม่สนใจคือ Smart Mobility โดยมีธุรกิจท่าเรือและขนส่งในพื้นที่อยู่แล้ว ผู้ประกอบการสนใจที่จะพัฒนาระบบวิเคราะห์ แก้ปัญหาระบบจัดการของขึ้นจากท่าเรือ เพื่อลดเที่ยวเปล่าที่ทำให้เสียเวลา เสียพลังงาน และต้นทุน ตามด้วย Smart Energy and Environment ที่มีผู้ประกอบการสนใจจะพัฒนาสมาร์ทกริดเพื่อลดใช้พลังงาน

ด้าน Smart Living ที่มีผู้ประกอบการสนใจเรื่องของเกษตรอัจฉริยะ และด้าน Smart Tourism ที่มีไอเดียเรื่องของการจัดเก็บข้อมูลนักท่องเที่ยวและระบบไร้เงินสดที่จะเอื้อให้นักท่องเที่ยวใช้ชีวิตได้สะดวกขึ้น ผู้ประกอบการสามารถจัดเก็บข้อมูลได้เป็นระบบขึ้น

พัฒนาคน-ธุรกิจท้องถิ่น

นอกจากนี้ยังจัดเตรียมกองทุนอีก 2 ส่วนคือ กองทุนเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรด้านดิจิทัล วงเงินกว่า 20 ล้านบาทสำหรับบุคลากรภาครัฐและภาคอุตสาหกรรม และกองทุนเพื่อการปรับเปลี่ยนของอุตสาหกรรม (Transformation Fund) จัดสรรงบ 1 ล้านบาทต่อรายสำหรัยปรับปรุงธุรกิจเดิมในพื้นที่อีอีซี

เช่น โรงอู่ต่อเรือที่ใช้ IoT เสริมฟังก์ชั่นในเรือ หรือการใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตื และระบบวิเคราะห์ข้อมูล เป็นต้น นำร่องทำแล้ว 10 โรงงาน และตั้งเป้าจะเพิ่มอีก 20 โรงงาน โดยอยู่ระหว่างการยื่นของบเพิ่ม

ทั้งนี้ ดีป้าร่วมกับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทและบจ.ดูเรียน คอร์ปปอเรชัน จัดทำโครงการ Smart City D - Boost Camp, (EEC Forum) เปิดโอกาสให้ผู้ที่สนใจด้านเมืองอัจฉริยะมีโอกาสเข้ารับการบ่มเพาะแนวคิดและแผนธุรกิจจากผู้เชี่ยวชาญ 6 สัปดาห์ จากนั้นเข้าสู่การคัดเลือกเพื่อรับการสนับสนุนต่อยอดธุรกิจ (www.smartcity-dboostcamp.com)

“โครงการเมืองอัจฉริยะนี้เป็นแผน 5 ปี (2561-2564) จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน โดยเฉพาะเมื่ออยู่ในเขตพื้นที่พิเศษภาคตะวันออกที่จะล้อไปกับแผนยุทธศาสตร์อีอีซี และที่สำคัญ ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชนจะช่วยยกระดับเมืองให้เป็นเมืองอัจฉริยะอย่างยั่งยืน"ณัฐพล กล่าว