วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (14 มิ.ย.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (14 มิ.ย.61)

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่ม หลังปริมาณน้ำมันดิบและน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ร่วง

+ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐฯ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 61 ปรับตัวลดลง 4.1 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ประกอบกับปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐฯ ลดลง 2.3 ล้านบาร์เรล จากความต้องการใช้น้ำมันเบนซินที่เพิ่มขึ้นในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว

+ สำนักงานพลังงานสากล (IEA) คาดการณ์อุปสงค์น้ำมันในตลาดโลกในปี 61 จะอยู่ในระดับทรงตัว โดยจะขยายตัวที่ 1.4 ล้านบาร์เรลต่อวัน จากสภาพเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในระดับดี อย่างไรก็ดี เนื่องจากราคาน้ำมันที่ค่อนข้างสูงอาจกระทบต่อความต้องการใช้น้ำมัน

- ซาอุดิอาระเบีย และกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปค) รวมทั้งรัสเซีย จะเสนอปรับเพิ่มกำลังการผลิตในการประชุมวันที่ 22 มิ.ย. โดยรัสเซียจะเสนอในการประชุมดังกล่าวให้กลุ่มผู้ผลิตน้ำมันกลับมาผลิตโดยใช้กำลังการผลิตเดิมในเดือน ต.ค. 59

- ธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด มีมติเป็นเอกฉันท์ให้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะสั้น 0.25% สู่ระดับ 1.75-2.00% ในการประชุมเมื่อวานนี้ และส่งสัญญาณปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 2 ครั้งภายในปีนี้ คาดว่าจะปรับขึ้นในเดือนก.ย. และธ.ค. โดยระบุว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากแรงกดดันจากอุปทานในภูมิภาคที่อยู่ระดับสูง หลังมาเลเซียมีปริมาณการผลิตน้ำมันเบนซินเพิ่มขึ้นร้อยละ 15.5 ในปีนี้

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลจากประเทศแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ดี ตลาดยังถูกกัดดันจากปริมาณการส่งออกน้ำมันดีเซลที่เพิ่มขึ้นจากประเทศจีน ญี่ปุ่น และอินเดีย

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

          ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 63-68 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

          ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 73-78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคเกี่ยวกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา โดยจะมีการหารือในการประชุมของกลุ่มโอเปควันที่ 22-23 มิ.ย. นี้
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบยืนอยู่เหนือต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. 61 แตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เทกซัสสูงกว่า 11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)         

         โทร.02-797-2999