ทวงสัญญา!! 18 มิ.ย. คืนพื้นที่ทวงคืนป่าดอยสุเทพ

ทวงสัญญา!! 18 มิ.ย. คืนพื้นที่ทวงคืนป่าดอยสุเทพ

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โพสต์ "ก่อนศรัทธาตุลาการจะสูญสิ้น" ขีดเส้น 18 มิ.ย. ต้องย้ายออกจาก "ป่าแหว่ง"

เครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ โพสต์ "ก่อนศรัทธาตุลาการจะสูญสิ้น“ หลังไม่อนุญาตให้เข้าสำรวจพื้นที่ ขีดเส้น 18 มิ.ย. ครอบครัวข้าราชการ ต้องย้ายออกจาก ”ป่าแหว่ง" ตามคำสั่งนายกรัฐมนตรี

ทวงสัญญา!! 18 มิ.ย. คืนพื้นที่

นายธีระศักดิ์ รูปสุวรรณ ผู้ประสานงานเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊คส่วนตัว ชื่อ "Teerasak Rupsuwan“ ในหัวข้อ "ก่อนศรัทธาตุลาการจะสูญสิ้น" ระบุว่า 1.ก่อนสร้างหมู่บ้านตุลาการก็ไม่เห็นหัวประชาชน ไม่มีการบอกกล่าว หรือทำประชาพิจารณ์ เจรจากันแล้ว ก็ไม่ยอมให้ตัวแทนภาคประชาชนเข้าพื้นที่ ครั้งแรกชี้เขตแนวรังวัด ครั้งที่สอง วันที่ 12 มิ.ย.2561 ไม่ให้อนุกรรมการภาคประชาชนที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลเข้าพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง ที่ผ่านมาแสดงเจตนาเป็นปรปักษ์กับประชาชน ดูถูกประชาชน

2.เมื่อมีการเจรจา ประชาชนยอมให้เลื่อนเวลามาเป็นเดือน ให้จนถึงวันส่งมอบงานงวดสุดท้าย คือ วันที่ 18 มิ.ย.2561 ด้วยเหตุผลที่จะรัฐไม่ถูกฟ้องร้องจากผู้รับเหมา แต่ในเมื่อผู้รับเหมาทำไม่ทันเอง จึงไม่ต้องกลัวเหตุฟ้องร้องอีกต่อไป ต้องยุติสัญญาทันที ไม่มีการต่อสัญญา ไม่ให้มีการก่อสร้างอีกต่อไป สำนักงานศาลต้องออกมาบอกประชาชนว่าจะคืนพื้นที่ให้ธนารักษ์ได้เมื่อไร

ทวงสัญญา!! 18 มิ.ย. คืนพื้นที่

3.ข้าราชการที่เข้าไปอยู่อาศัยราว 30 ครอบครัวในอาคารชุดที่เป็นพื้นที่พิพาท ต้องย้ายออกทั้งหมดภายในวันที่ 18 มิ.ย.นี้ ตามข้อตกลงในการเจรจา และตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีที่ไม่ให้มีใครอยู่อาศัย

ทวงสัญญา!! 18 มิ.ย. คืนพื้นที่

อย่างไรก็ตาม หลังจากวันที่ 18 มิ.ย.2561 ที่จะถึงนี้ หากไม่ทำตามข้อตกลงข้างต้น เครือข่ายจำเป็นต้องออกมาทวงคำสัญญา พี่น้องทุกท่าน ถึงเวลาที่เราจะร่วมปกป้องดอยสุเทพกันแล้ว พวกเราชาวเชียงใหม่ จะไปรวมตัวกันหน้าศาลอุทธรณ์ภาค 5 นับถอยหลังได้เลย เราจะแจ้งวันรวมพลเร็วๆ นี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กลุ่มเครือข่ายขอคืนพื้นที่ป่าดอยสุเทพ ได้ทำหนังสือขออนุญาตลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง กับศาลอุทธรณ์ภาค 5 โดยกำหนดลงพื้นที่ในวันที่ 12 มิถุนายน เวลา 13.30 น. แต่ทางศาลได้แจ้งกลับมาว่า อนุญาตให้คณะกรรมการบางคนเท่านั้นได้เข้าไปสำรวจพื้นที่ ส่วนใหญ่จะเป็นคณะกรรมการในส่วนของหน่วยงานราชการและนักวิชาการเท่านั้น ส่วนคณะกรรมการภาคประชาชนไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าพื้นที่สำรวจ ทำให้ต้องยกเลิกเข้าพื้นที่ และจะได้ทำหนังสือขอลงพื้นที่เพื่อการสำรวจเพื่อหาข้อสรุปในการดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป