ปปง.ยึดทรัพย์ '88ล้าน' อดีตปลัดพม.กับพวก

ปปง.ยึดทรัพย์ '88ล้าน' อดีตปลัดพม.กับพวก

ปปง.ยึดทรัพย์ "พุฒิพัฒน์" อดีตปลัดพม.กับพวกรวม 12 คน 88 ล้าน พันโกงเงินคนไร้ที่พึ่ง พร้อมแจ้ง ปปป.เอาผิดฟอกเงิน "ประวิตร" ย้ำจับ "อดีตพระพรหมเมธี" ให้ได้

จากกรณี สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.)ตรวจพบความผิดปกติในการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งคาดว่าจะมีการทุจริตเงินสงเคราะห์คนไร้ที่พึ่ง เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 ต่อมามีคำสั่งให้ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ ปลัด พม. ในขณะนั้น และ นายณรงค์ คงคำ รองปลัดพม. ให้ไปปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 หลังจากนั้นในเดือนเมษายน ได้มีคำสั่งให้ทั้งสองคนออกจากราชการไว้ก่อน ระหว่างการสอบสวนในฐานความผิดร้ายแรง นอกจากนี้ยังมีข้าราชการระดับสูงอีก 9 ราย เนื่องจากมีหลักฐานว่าเกี่ยวข้องและอยู่เบื้องหลังการทุจริตเงินสงเคราะห์คนยากจนไร้ที่พึ่ง ล่าสุด คณะกรรมการธุรกรรม สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน หรือ ปปง. มีคำสั่งยึดและอายัดทรัพย์สินนายพุฒิพัฒน์ และพวก รวม 12 ราย มูลค่า 88 ล้านบาท พร้อมเเจ้งเอาผิด 12 บิ๊ก ข้าราชการ พม.

เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน ที่สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ วีริยาสรร รองเลขาธิการ รักษาราชการแทนเลขาธิการปปง. เปิดเผยถึงมติคณะกรรมการธุรกรรมในการประชุมเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ที่ผ่านมา ว่า ตามที่คณะกรรมการธุรกรรมมีมติมอบหมายพนักงานเจ้าหน้าที่ ปปง.ตรวจสอบ ธุรกรรมและทรัพย์สินของกลุ่มบุคคลที่มีพฤติการณ์ทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ ซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัดพม. ได้ดำเนินการตรวจสอบเชิงลึกแล้วพบว่า ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ 3 ราย ได้แก่ นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัด พม. นายณรงค์ คงคา อดีตรองปลัด พม. และนายธีรพงษ์ ศรีสุคนธ์ อดีตผู้ตรวจราชการ พม. มีพฤติการณ์ทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้

โดยพฤติการณ์ของกลุ่มบุคคลดังกล่าวมีลักษณะการทำงานเป็นขบวนการ ผ่านทางการจัดสรรเงินงบประมาณลงไปยังศูนย์และหน่วยงานต่างๆ ในสังกัดทั่วทุกภาค และมีการจัดทำเอกสารการเบิกจ่ายเงินงบประมาณอันเป็นเท็จ โดยนำเงินที่ได้จากการทุจริตเบิกจ่ายส่งกลับคืนไปยังผู้บริหาร กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการในขณะนั้น และแปลงเงินไปเป็นทรัพย์สินในรูปแบบอื่นให้แก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง เช่น ที่ดิน ห้องชุด รถยนต์หรู เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์ต่างๆ ซึ่งจากการสืบสวนข้อมูลทางการเงินและข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สินของผู้เกี่ยวข้องพบว่า มีการได้ไปซึ่งทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินเป็นจำนวนมาก

คณะกรรมการธุรกรรมมีมติให้ยึดและอายัดทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของนายพุฒิพัฒน์ นายณรงค์ และนายธีรพงษ์ และเจ้าหน้าที่ของ พม. รวมถึงบุคคลที่เกี่ยวข้องสัมพันธ์กับบุคคลดังกล่าว ประมาณ 12 ราย เช่น ที่ดิน ห้องชุด รถยนต์หรู เงินในบัญชีเงินฝากธนาคาร และหลักทรัพย์ต่างๆ รวม 41 รายการ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท เพื่อดำเนินการตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน

พล.ต.ต.รมย์สิทธิ์ กล่าวอีกว่า จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มคนดังกล่าวมีพฤติการณ์กระทำความผิดทางอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่ง ปปง.จะได้ดำเนินการกล่าวโทษต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญา ความผิดฐานฟอกเงินกับผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป ทั้งนี้ ขอแจ้งเตือนข้าราชการและเจ้าหน้าที่ที่มีพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริตในหน้าที่ว่า นอกจากจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินแล้ว หากใครมีพฤติการณ์ในการรับหรือโอนทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการทุจริตก็อาจต้องถูกดำเนินคดีอาญาฐานฟอกเงิน ซึ่งมีโทษจำคุก 10 ปีต่อการโอนหรือรับโอน 1 ครั้ง กล่าวโดยสรุปแล้วผู้ที่เกี่ยวข้องกับการทุจริต นอกจากจะถูกยึดหรืออายัดทรัพย์สินแล้ว ตัวผู้กระทำความผิดเอง ผู้เกี่ยวข้องสัมพันธ์ หรือนอมินี ที่รับโอนทรัพย์สินจากผู้กระทำความผิดทุกคนก็ยัง อาจต้องถูกลงโทษจำคุกในความผิดฐานฟอกเงินด้วย

ต่อมา นายวิทยา นีติธรรม เลขานุการกรม ปปง. เดินทางไปที่ กองบังคับการป้องกันปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (บก.ปปป.) เพื่อเข้าพบ พล.ต.ต.กมล เหรียญราชา ผบก.ปปป. เพื่อร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิดกับผู้เกี่ยวข้องที่มีพฤติการณ์ทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ ในคดีฟอกเงิน

นายวิทยากล่าวว่า สืบเนื่องจาก ปปง.มีมติให้อายัดทรัพย์สินของข้าราชการและเจ้าหน้าที่ในสังกัด พม. จำนวน 41 รายการ มูลค่าประมาณ 88 ล้านบาท หลังมีพฤติการณ์ทุจริตยักยอกเงินช่วยเหลือคนยากไร้ โดยตนได้รับมอบหมายให้ร้องทุกข์กล่าวโทษเอาผิด นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์ อดีตปลัด พม. กับหญิงสาวคนสนิท อดีตข้าราชการใน พม. ทั้งนี้ จากการตรวจสอบพบว่ามีการกระทำผิดในช่วงปี 2558-2560 หรือปีงบประมาณ 2559-2560 มีลักษณะการทำผิดในรูปขบวนการ และไม่ได้โอนเงินผ่านธนาคารแต่เป็นแบบหิ้วเงินทอนกลับจึงทำให้ยากต่อการตรวจสอบ

“ในแต่ละปีเจ้าหน้าที่พบการทุจริตประมาณ 80 ล้านบาท หรือร้อยละ 30 โดยทาง ปปง.ต้องรีบดำเนินการตรวจสอบเร่งด่วน เพราะพบว่าก่อนหน้านี้มีการเคลื่อนย้ายทรัพย์สินไปยังบุคคลอื่นและแปรสภาพเป็นทรัพย์สินอื่นๆ เช่น เงินทอง ที่ดิน รถยนต์ ซึ่งจะขยายผลต่อไป นอกจากนี้ พบว่ามีการนำเงินโอนมาไว้ที่ศูนย์ช่วยเหลือคนจนในพื้นที่ก่อเหตุ และส่งต่อมาที่ อดีตปลัด พม. แต่ยังไม่พบเส้นทางการเงินไปถึงระดับกระทรวงหรืออดีตรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ปปง.จะเปิดโอกาสให้ผู้ถูกยึดอายัดทรัพย์สิน เข้ามาชี้แจงถึงที่มาของทรัพย์สิน ภายใน 30 วัน หากพบว่าเป็นทรัพย์สินที่ไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิด จะคืนให้ แต่หากชี้แจงไม่ได้ จะต้องยึดไว้จนกว่าคดีจะสิ้นสุด” นายวิทยา กล่าว

ด้าน พล.ต.ต.กมล เปิดเผยว่า เบื้องต้นรับหนังสือไว้ก่อน โดยนัด ปปง.มาแจ้งความร้องทุกข์อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มิถุนายนนี้ ก่อนเริ่มดำเนินการรวบรวมพยานหลักฐานและตั้งคณะทำงานขึ้นมา พร้อมยอมรับว่า คดีดังกล่าวมีความซับซ้อนพอสมควร แต่ทาง ปปง.มีรายละเอียดคดีชัดเจน หลังจากนี้ บก.ปปป.ต้องขออนุมัติจากกองบัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง (บช.ก.) เพื่อให้มีอำนาจสืบสวนสอบสวน ลงพื้นที่ตรวจสอบติดตามผู้ต้องหาและทรัพย์สินต่อไป

การติดตามควบคุมตัวอดีตพระพรหมเมธี ผู้ช่วยเจ้าอาวาสวัดสัมพันธวงศาราม ผู้ต้องหาคดีเงินทอนวัด ที่หลบหนีไปอยู่ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งอยู่ระหว่างยื่นขอลี้ภัย โดยทางเจ้าหน้าที่ไทยยังคงรอคำตอบจากทางการของเยอรมนี

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ให้สัมภาษณ์ถึงการติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธี ว่าทุกอย่างจบแล้ว ให้เขาดำเนินการไป ส่วนจะได้ตัวหรือไม่ ก็อยู่ที่เขา

ทั้งนี้ จากที่มีกระแสข่าวว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) และ พ.ต.อ.กฤษณะ พัฒนเจริญ รองโฆษก ตร. เดินทางไปกรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งคาดว่าจะไปประสานขอความช่วยเหลือจากตำรวจสากล ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่เมืองลียง ประเทศฝรั่งเศส เพื่อให้ช่วย ติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธี หลังจากนั้นจะเดินทางไปที่นครแฟรงก์เฟิร์ต ประเทศเยอรมนี เพื่อเจรจาขอตัวอดีตพระพรหมเมธีกลับมาดำเนินคดีในไทยนั้น

ล่าสุด แหล่งข่าวคนใกล้ชิด พล.ต.อ.จักรทิพย์ ได้ออกมาปฏิเสธเรื่องดังกล่าว โดยอ้างว่า พล.ต.อ.จักรทิพย์เดินทางประเทศฝรั่งเศสจริง แต่ไปตามคำเชิญของตำรวจฝรั่งเศส เพื่อดูงานอาวุธ ไม่ได้ไปประสานขอความช่วยเหลือจากตำรวจสากลที่เมืองลียง เพื่อที่จะติดตามขอตัวอดีตพระพรหมเมธี จากเยอรมนี แต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม รายงานข่าวแจ้งว่า ระหว่างที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์อยู่ที่กรุงปารีส ได้มีการประสานงานกับทางตำรวจสากล เพื่อติดตามตัวอดีตพระพรหมเมธี ซึ่งคาดว่าจะทราบผลไม่เกินวันศุกร์ที่ 15 มิถุนายนนี้ และหากผลการเจรจาสำเร็จ คณะทำงานพร้อมด้วย พล.ต.อ.จักรทิพย์ จะเดินทางไปรับตัวอดีตพระพรหมเมธีกลับมาดำเนินคดีที่ประเทศไทยในวันที่ 16 มิถุนายน

สำหรับการสืบสวนสอบสวนบุคคลอื่นในคดีฟอกเงินนั้น ชุดทำงานในส่วนของกรณีวัดสระเกศวรมหาวิหาร ที่มีหลักฐานชัดเจนว่ามีการทุจริตที่เข้าข่ายการฟอกเงิน ซึ่งต่างจากการทุจริตเงินทอนวัดที่เคยเกิดขึ้นมาก่อนหน้านี้ โดยวัดสระเกศได้รับงบประมาณจากสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) รวม 2 ครั้ง ครั้งแรกเป็นเงินจำนวน 30 ล้านบาท โดย พศ.จ่ายเป็นเช็คเมื่อ วันที่ 21 ธันวาคม 2558 เนื่องจากเสนอของบทำโครงการเงินอุดหนุนอบรมคุณธรรมจริยธรรมสำหรับเด็กและเยาวชนฯ ครั้งที่สอง วัดสระเกศได้รับงบประมาณอีกจำนวนเงิน 32.5 ล้านบาท โดย พศ.จ่ายเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 เนื่องจากวัดได้เสนอโครงการอุดหนุนศูนย์กลางการเผยแผ่กิจการพระพุทธศาสนา

สำหรับรายละเอียดของโครงการนั้น ในเอกสารได้ระบุว่าทั้ง 2 โครงการ เป็นงบประมาณเพื่ออุดหนุนด้านเผยแผ่ศาสนา โดยจะนำงบประมาณเพื่อนำไปอุดหนุนให้วัดสาขา 13 แห่ง แต่เมื่อตรวจสอบรายละเอียดกลับพบว่ามีวัดจำนวน 9 วัด ที่ไม่ได้รับงบประมาณอุดหนุนเลยตามที่ระบุไว้ ได้แก่ วัดไตรธรรมาราม จ.สุราษฎร์ธานี, วัดบุดดา จ.สิงห์บุรี, วัดมหาพุทธาราม จ.ศรีสะเกษ, วัดพระธาตุพนม จ.นครพนม, วัดอัมพวัน จ.ยโสธร, วัดบ่อชะเนง จ.อำนาจเจริญ, วัดพระพุทธบาทเขากระโดง จ.บุรีรัมย์, วัดศรีมงคลใต้ จ.มุกดาหาร และวัดแห่งหนึ่งใน จ.สงขลา ส่วนวัดที่เหลืออีก 4 คือ วัดหลวงพ่อสด จ.ราชบุรี, วัดพระธาตุดอยสุเทพ จ.เชียงใหม่, วัดปากน้ำ จ.อุบลราชธานี และมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตขอนแก่น ได้รับงบประมาณไปแห่งละ 2 ล้านบาท รวม 8 ล้านบาท ส่วนงบประมาณที่เหลืออีกกว่า 50 ล้านบาท พบว่า อดีตพระพรหมสิทธิ อดีตเจ้าอาวาสวัดสระเกศ ได้ยักย้ายถ่ายเทไปยังบัญชีของ น.ส.นุชรา สิทธินอก อายุ 32 ปี คนในบ้านของ นางฑัมม์พร นิพนธ์พิทยา อายุ 50 ปี อดีตเจ้าของห้างหุ้นส่วนจำกัดดีดีทวีคูณ ซึ่งเป็นสีกาคนสนิทของอดีตพระพรหมสิทธิ เพื่อให้ผลิตสื่อโฆษณาให้แก่วัด

รายงานข่าวแจ้งว่า จากการสอบปากคำอดีตพระพรหมสิทธิได้ให้การว่าที่โอนไปยังบัญชีของ น.ส.นุชรา นั้นก็เพราะนางฑัมม์พรแนะนำว่าเป็นวิธีหนึ่งในการเลี่ยงภาษี แต่เมื่อชุดสืบสวนร่วมกับ ปปง.ตรวจสอบแล้วกลับพบว่าไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำไปใช้อย่างผิดวัตถุประสงค์และมีการนำไปใช้ในกิจการส่วนตัวจำนวนมาก ทั้งที่เงินจำนวนนี้ควรจะถูกจัดส่งไปยังวัดจำนวน 9 วัดเพื่อให้พระเณรในต่างจังหวัดที่ด้อยโอกาสได้เรียนหนังสือตามที่วัดเขียนโครงการมา ซึ่งระบุว่าจะส่งเงินไปยังโรงเรียนพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา เป็นเงินค่าใช้จ่ายทั้งหมดประมาณ 26,000 บาทต่อรูป รวมทั้งสองโครงการเป็นเงิน 62.5 ล้านบาท

รายงานข่าวแจ้งด้วยว่า รูปแบบของการทุจริตเงินของวัดสระเกศ วัดสัมพันธวงศ์ และวัดสามพระยาวรวิหาร ครั้งนี้แตกต่างจากการดำเนินคดีเงินทอนวัดในครั้งที่ผ่านๆ มา เนื่องจากรูปแบบเดิมที่พบในวัดต่างจังหวัด พศ.จะเป็นฝ่ายเสนองบประมาณให้วัดไปทำโครงการต่างๆ แต่เงินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ถูกโอนคืนกลับไปให้ข้าราชการใน พศ. บางวัดพระจึงกลายเป็นเหยื่อของการกระทำความผิด ตำรวจจึงไม่ได้ดำเนินคดีกับพระ แต่ได้กันไว้เป็นพยานเพราะถือว่าไม่มีเจตนา แต่กรณีของวัดที่ถูกเนินคดีทั้ง 3 วัดนั้น พระไม่ได้โอนเงินกลับไปยังเจ้าหน้าที่ พศ. แต่เงินที่ได้รับมาเพื่อทำโครงการต่างๆ กลับถูกโอนเข้าบัญชีฆราวาส บัญชีตัวเอง แทนในรูปแบบของการฟอกเงิน ซึ่งพระเป็นผู้ที่กระทำทุจริตด้วยตัวเองจึงต้องถูกดำเนินคดีฐานร่วมกันฟอกเงิน เพราะพระไม่ได้เป็นเหยื่อเหมือนคดีเงินทอนวัดที่ผ่านมา