‘หุ่นยนต์-ออโตเมชัน’สร้างอนาคตเกษตรไทย

‘หุ่นยนต์-ออโตเมชัน’สร้างอนาคตเกษตรไทย

หุ่นยนต์ดูแลแปลงผัก แขนกลลวกก๋วยเตี๋ยว หรือโดรนบินสำรวจต้นมะพร้าว เป็นผลงานสิ่งประดิษฐ์นำร่องที่นักวิจัย มจธ. มองผ่านเทรนด์อนาคตสำหรับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร

หวังช่วยรับภาระงานคุณภาพต่ำและ เอื้อให้แรงงานทำงานที่มีมูลค่าสูง

“ไทยแลนด์ 4.0 เป็นยุทธศาสตร์ที่ใช้นวัตกรรมเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาดโลก สิ่งที่จำเป็นคือ ต้องเปลี่ยนแปลงรูปแบบในอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ให้มีผลผลิตที่ดีจำนวนมากและได้มาตรฐานด้วยเทคโนโลยีและองค์ความรู้ต่างๆ ที่ตอนนี้ไทยยังอ่อน แต่ก็ต้องเริ่มสร้างเพราะหากไม่ทำก็จะสู้คนอื่นไม่ได้” อรพดี จูฉิม รองประธานหลักสูตรวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) กล่าวระหว่างการเสวนาเรื่อง ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์สำหรับเกษตรและอาหาร ในงาน KMUTT Creativity & Technology Showcase ครั้งที่ 1

แก้ปัญหาบนยอดมะพร้าว

“โดรนอัจฉริยะเพื่อการเกษตร” ตรวจสอบแมลงศัตรูพืชบนต้นมะพร้าว เกิดจากการที่ “อรพดี” มองเห็นปัญหาของเกษตรกรสวนมะพร้าวกับการรับมือแมลงศัตรูพืช แต่มีข้อจำกัดคือ ความสูงของต้นทำให้ยากในการดูแล หากแก้ปัญหาไม่ทันก็อาจทำให้ต้นมะพร้าวตายและความเสียหายอาจลุกลามไปทั้งสวน

โดรนที่พัฒนาขึ้นจะทำหน้าที่ค้นหาแมลงศัตรูบนต้นมะพร้าว โดยใช้หลักการประมวลผลด้วยเซนเซอร์ตรวจจับภาพ รวมถึงมีกล้องตรวจจับระบบอินฟราเรดสำหรับเวลากลางคืนและพ่นสารกำจัดศัตรูพืชที่อยู่ในถังที่ยกขึ้นไปพร้อมโดรน ทำให้การฉีดพ่นทำได้ตรงจุด ไม่ฟุ้งกระจายในอากาศ ลดความเสี่ยงของเกษตรกรในการปีนและสัมผัสสารเคมีอีกด้วย

นักวิจัย กล่าวว่า มีการใช้ระบบการเรียนรู้ของจักรกล (Machine Learning) ในการใส่ข้อมูลภาพแมลงศัตรูพืช หรือพื้นที่ที่มีปัญหาให้สามารถระบุและฉีดพ่นสารกำจัดศัตรูพืชได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้ยังมีเซนเซอร์วัดระดับเพื่อให้โดรนสามารถบินพร้อมปรับระดับความสูงโดยอัตโนมัติตามความสูงของต้นมะพร้าวได้ด้วย

“สวนมะพร้าวเป็นพื้นที่ที่มีความซับซ้อน แต่เราต้องการเริ่มจากของยาก เพื่อที่จะพัฒนานวัตกรรมที่สมบูรณ์และสามารถประยุกต์ไปใช้ในพืชอื่นๆ หรือพื้นที่เกษตรกรรมที่มีความซับซ้อนไม่มากได้ง่ายขึ้น และแม้จะเป็นผลงานที่มีต้นทุนสูงแต่หากสามารถแก้ปัญหาที่เกษตกรไม่มีทางแก้มาก่อนได้ ก็นับเป็นโซลูชั่นที่พร้อมจะจ่าย” อรพดี กล่าว

กิจกรรมง่ายๆ แต่ใช้สิ่งประดิษฐ์อย่าง “แขนกลลวกก๋วยเตี๋ยว” โดย บวรศักดิ์ สกุลเกื้อกูลสุข อาจารย์พิเศษสถาบันวิทยาการหุ่นยนต์ภาคสนาม (ฟีโบ้) วางโจทย์ให้นักศึกษาพัฒนาโดยใช้เทคโนโลยี 2 ประเภทคือ หุ่นยนต์พื้นฐานในการวางโครงสร้างของแขนกล และปัญญาประดิษฐ์/ระบบการเรียนรู้ของจักรกล เพื่อจดจำลักษณะของเส้นก๋วยเตี๋ยวประเภทต่างๆ รวมถึงองค์ประกอบต่างๆ ของก๋วยเตี๋ยว เพื่อให้สามารถลวกและใส่ส่วนผสมตามที่ลูกค้าต้องการ

“เทคโนโลยีแขนกลไม่ใช่เรื่องใหม่ แม้ไม่ได้เห็นในชีวิตประจำวันแต่ในอุตสาหกรรมอาหารที่มีการแปรรูปวัตถุดิบ และอาหารกึ่งสุกเพื่อส่งออกใช้กันมานานแล้ว ตอนนี้ ทีมวิจัยได้พัฒนาแขนกลต้นแบบ 7 ตัว ที่สามารถทำก๋วยเตี๋ยว กะเพรา ผัดไทย ส้มตำ หรือแพนเค้ก โดยที่นักพัฒนารุ่นใหม่เหล่านี้จะได้ทั้งแนวคิดของหุ่นยนต์ที่จะประยุกต์สู่การใช้งานรูปแบบที่หลากหลาย ในขณะเดียวกันก็ได้องค์ความรู้ด้านซอฟต์แวร์ การใช้อิมเมจโพรเซสซิ่งหรือระบบการเรียนรู้ของจักรกล รวมถึงดาต้าต่างๆ ที่จะเป็นประโยชน์ในอนาคต” บวรศักดิ์ กล่าว

ทดแทนงานที่คนไม่ควรทำ

เช่นเดียวกับ ผศ. ถวิดา มณีวรรณ์ หัวหน้าโครงการหุ่นยนต์เคลื่อนที่สำหรับดูแลแปลงผักขนาดเล็ก กล่าวว่า เกษตรกรรมสมัยใหม่ต้องอาศัยความแม่นยำในการเพาะปลูกเพื่อผลผลิตที่ดีและมีมาตรฐาน ซึ่งต้องใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อเก็บข้อมูลทั้งแสง ความชื้น ปริมาณน้ำที่เหมาะสมกับพืชแต่ละประเภท

หุ่นยนต์เคลื่อนที่สำหรับดูแลแปลงผักขนาดเล็ก จะทำหน้าที่หยอดเมล็ดผัก มีเซนเซอร์ตรวจวัดความชื้นในดินเพื่อสั่งระบบรดน้ำอัตโนมัติ ดูแลผักแบบโมดูลาร์และยังใช้ระบบประมวลภาพในการจำแนกวัชพืชออกจากผักที่ปลูก

“คนไทยควรได้ทำงานที่ปลอดภัย งานที่ใช้สมอง ใช้ความคิดสร้างสรรค์ ในฐานะที่เราเป็นองค์กรเล็กๆ ที่ทำเรื่องหุ่นยนต์ แต่แนวคิดที่ยิ่งใหญ่คือ เราอยากให้งานง่ายๆ งานที่ไม่ต้องใช้ศักยภาพมาก หรืองานที่มีความเสี่ยงเป็นหน้าที่ของหุ่นยนต์ แล้วนำแรงงานเหล่านั้นไปพัฒนาศักยภาพและทักษะเพื่อทำงานที่มีมูลค่าสูงขึ้น มากกว่าจะเป็นแค่แรงงานราคาถูก” ผศ.ถวิดา กล่าว