วิจัยเด่นเปลี่ยนโลก จากทุนปริญญาเอก คปก.

วิจัยเด่นเปลี่ยนโลก จากทุนปริญญาเอก คปก.

เทคนิคใหม่รักษาข้อเข่าเสื่อมแทนการฉีดเซลล์กระดูกอ่อน เกราะกันกระสุนจากอาวุธหนักและ สีจากพืชผักที่มีความเสถียรสูง เป็นไฮไลต์ผลงานวิจัยจากนักเรียนระดับปริญญาเอกทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ

ศ.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ ประธานคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการสนับสนุนการวิจัย กล่าวว่า ทุน คปก.ภายใต้สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เกิดจากการมองเห็นว่า การพัฒนาประเทศให้ได้ผลดีควรจะต้องพัฒนา “คน” โดยเฉพาะระดับปริญญาเอกแก่มหาวิทยาลัยต่างๆ เพิ่มขึ้น ด้วยมุ่งหวังให้ประเทศไทยผลิตดุษฎีบัณฑิตได้เพียงพอและส่งไปทำงานในต่างประเทศได้ในที่สุด ข้อดีของการเป็นนักศึกษา คปก. คือรู้เรื่องในประเทศไทยดี แต่ก็ไม่ทิ้งความเป็นสากลจากการไปทำวิจัยในต่างประเทศด้วย จึงเป็นโครงการที่ดีและควรให้การสนับสนุนต่อไป ทั้งนี้ นับแต่การก่อตั้งในปี 2539 คปก. ได้พยายามพิสูจน์ให้โลกเห็นว่านวัตกรรมคือหัวใจของการเติบโตทางเศรษฐกิจ และนวัตกรรมสังคมที่จำเป็นต่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งจำเป็นที่จะต้องมีการวิจัยในระดับปริญญาเอก โดยได้สนับสนุนทุนวิจัยระดับปริญญาเอกไปแล้ว 4,700 ทุน มีผู้สำเร็จการศึกษาเข้าทำงานในภาครัฐและเอกชน 3,289 คน


รศ.ขวัญชนก พสุวัต และ น.ส.โศภิตา วงศ์อินทร์ นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 15 จากภาควิชาวิศวกรรมชีวภาพ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) นำเสนอผลงานวิจัยการสร้างเซลล์กระดูกอ่อนหลายชั้น เพื่อนำไปใช้สำหรับแผลกระดูกอ่อนผิวข้อที่ถูกทำลายบางส่วน โดยได้พัฒนาวิธีสร้างเนื้อเยื่อกระดูกอ่อนที่มีคุณภาพดีขึ้นมาในห้องปฏิบัติการ เพื่อนำไปปลูกถ่ายที่ข้อเข่าของผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อม โดยเนื้อเยื่อนี้จะรวมตัวเข้ากับกระดูกอ่อนเดิมแล้วสร้างโปรตีนคอลลาเจนชนิดที่ 2 (โปรตีนหลักในกระดูกอ่อน) และสารล่อลื่นที่สำคัญ เพื่อให้เข่าทำงานได้เป็นปกติ จากเดิมที่ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมเนื้อเยื่อที่ฉีดเซลล์กระดูกอ่อนเข้าไปแต่ไม่สามารถเกาะตรงบริเวณเป้าหมาย


ผลงานไฮไลต์ถัดมาโดย ศ.ศราวุธ ริมดุสิต และ น.ส.มนัญญา โอฆวิไล นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 14 จากภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นการพัฒนาเกราะกันกระสุนสมรรถนะสูง จากพอลิเบนซอกซาซีนคอมพอสิทที่เสริมแรงด้วยเส้นใยชนิดต่างๆ มีความสามารถในการป้องกันการเจาะทะลุในระดับ III ตามมาตรฐาน National Institute of Justice (NIJ) ผลทดสอบการยิงที่โรงงานวัตถุระเบิดทหาร จังหวัดนครสวรรค์ พบว่าป้องกันการเจาะทะลุได้สูงถึง 6 นัด และมีรอยยุบตัวของดินทดสอบแต่ละนัดไม่เกิน 44 มิลลิเมตร โดยแผ่นเกราะมีความหนาเพียง 27.3 มม. น้ำหนักเกราะรวมทั้งชุดไม่เกิน 6.5 กิโลกรัม และมีต้นทุนวัสดุเพียง 7,000 บาทต่อเซ็ท


ชิ้นงานเด่นสุดท้าย ศ.สักกมน เทพหัสดิน ณ อยุธยา และ น.ส.ลักษิกา งามวงศ์ล้ำเลิศ นักศึกษา คปก. รุ่นที่ 18 จากภาควิชาวิศวกรรมอาหาร มจธ. พัฒนาการผลิตสีธรรมชาติ โดยใช้สีเขียวจากใบบัวบก สีแดงจากฝาง และสีเหลืองจากฟักทอง ด้วยวิธีการทางกายภาพและวิธีการทางเคมี เพื่อเพิ่มความเสถียรของสี จากนั้นจึงทดสอบโดยการประกอบอาหารหลากหลายชนิดจนได้ผลเป็นที่น่าพอใจ