วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (13 มิ.ย.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (13 มิ.ย.61)

ราคาน้ำมันดิบผันผวน จากความไม่แน่นอนของผลการประชุมกลุ่มโอเปค

+/- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสปรับขึ้นเล็กน้อยสวนทางกับราคาน้ำมันดิบเบรนท์ จากความไม่แน่นอนของการปรับเพิ่มกำลังการผลิตของผู้ผลิตน้ำมันดิบกลุ่มโอเปคเพื่อชดเชยปริมาณการผลิตที่ลดลงของเวเนซุเอลาและอิหร่าน

+ สำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในปี 2562 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าที่คาดไว้ โดยปรับลดค่าคาดหมายเป็น 11.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน และได้ปรับเพิ่มค่าคาดหมายของอุปสงค์น้ำมันดิบสหรัฐฯ มาอยู่ที่ 20.67 ล้านบาร์เรลต่อวัน

- ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้น ประกอบกับค่าเงินยูโรที่อ่อนตัวลง ส่งผลให้นักลงทุนลดการลงทุนในตลาดน้ำมันดิบ เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ จะมีราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ

- หลังตลาดปิด สถาบันปิโตรเลียมด้านพลังงานสหรัฐฯ (API) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ประจำสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 8 มิ.ย. 2561 ปรับเพิ่มขึ้น 833,000 บาร์เรล สวนทางกับที่นักวิเคราะห์คาดการณ์

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงสวนทางกับราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการส่งออกน้ำมันเบนซินจากประเทศจีน อย่างไรก็ตาม ราคาน้ำมันเบนซินยังมีแรงหนุนจากอุปสงค์จากประเทศเวียดนามและอินเดีย

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยมีแรงหนุนจากอุปสงค์น้ำมันดีเซลจากประเทศแอฟริกาใต้ อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยกดดันจากอุปทานที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากโรงกลั่นในภูมิภาคทยอยกลับมาดำเนินการผลิตหลังเสร็จสิ้นการปิดซ่อมบำรุง

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์นี้

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 62-67 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 73-78 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • จับตาท่าทีของผู้ผลิตทั้งในและนอกกลุ่มโอเปคเกี่ยวกับมาตรการปรับลดกำลังการผลิตเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมัน หลังมาตรการดังกล่าวมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลง เนื่องจากผู้ผลิตอาจเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อชดเชยอุปทานที่หายไปจากอิหร่าน และเวเนซุเอลา โดยจะมีการหารือในการประชุมของกลุ่มโอเปควันที่ 22-23 มิ.ย. นี้
  • กำลังการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังราคาน้ำมันดิบยืนอยู่เหนือต้นทุนการผลิตน้ำมันดิบเฉลี่ยของสหรัฐฯ
  • ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือนเม.ย. 61 แตะระดับสูงสุดในประวัติการณ์ที่ 1.76 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะทรงตัวในระดับสูงต่อเนื่อง หลังส่วนต่างระหว่างราคาน้ำมันดิบเบรนท์ และเวสต์เทกซัสสูงกว่า 11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

-----------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

        โทร.02-797-2999