ดีฟ เทคโนโลยี พลิกโฉมการแพทย์

ดีฟ เทคโนโลยี พลิกโฉมการแพทย์

เอไอ บิ๊กดาต้าและไอโอที เป็น 3 เทคโนโลยีขั้นสูงป่วนโลกได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแพทย์ทั้งรพ.บำรุงราษฎร์ หรือโรงพยาบาลที่บริหารงานโดยกลุ่มพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ นำ “ดีฟ เทค” มาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ

ปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) บิ๊กดาต้าและไอโอที เป็น 3 เทคโนโลยีขั้นสูงป่วนโลกได้เข้ามาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับวงการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็น ผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง รพ.บำรุงราษฎร์ หรือโรงพยาบาลที่บริหารงานโดยกลุ่มพริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ ต่างเร่งปรับตัวด้วยการนำ “ดีฟ เทค” เหล่านี้มาช่วยขับเคลื่อนธุรกิจ

ทางรอดของธุรกิจไซส์เล็ก

นายสาธิต วิทยากร ประธานคณะกรรมการบริษัท พริ้นซิเพิล เฮลท์แคร์ จำกัด กล่าวว่า จากความเปลี่ยนแปลงของดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น สอดคล้องกับแนวทางของบริษัทที่นำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาจัดการข้อมูล วิเคราะห์และรวบรวมผ่านระบบคลาวด์ เพื่อให้การทำงานแบบรวมศูนย์มีประสิทธิภาพ สามารถใช้ได้ทุกที่ทุกเวลาด้วยสมาร์ทดีไวซ์จาก 4 ระบบ ได้แก่ ระบบสารสนเทศโรงพยาบาล ระบบการวางแผนทรัพยากรทางธุรกิจขององค์กร ระบบบริหารทุนมนุษย์ และการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (ดาต้า อะนาไลติกส์)

“เป็นการรวมศูนย์ที่ช่วยลดขั้นตอน ลดค่าใช้จ่าย ทำให้เกิดความคุ้มค่า อาทิ ระบบบัญชี จัดซื้อ การบริหารสินค้าคงคลัง บุคลากร รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษา โดยการนำเทคโนโลยีมาผสมผสานกับประสบการณ์การบริหารงานในธุรกิจโรงพยาบาล และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการของโรงแรมในรูปแบบของเชน เข้ามายกระดับการให้บริการและสร้างมาตรฐานโรงพยาบาลในเครือพริ้นซิเพิลฯ”

ปัจจุบัน บริษัทได้เข้าไปบริหารโรงพยาบาล 5 แห่ง ได้แก่ รพ.ปากน้ำโพ 1, รพ.ปากน้ำโพ 2 จ .นครสวรรค์, รพ.พิษณุเวช จ.พิษณุโลก, รพ.สหเวช จ.พิจิตร และรพ.พริ้นซ์ ฮอสพิทอล สุวรรณภูมิ จ.สมุทรปราการ และบริหารโรงพยาบาลรัฐ 2 แห่ง จะเปิด รพ.พริ้นซ์ ฮอสพิทอล อุทัยธานี จ.อุทัยธานี และรพ.พิษณุเวช จ.อุตรดิตถ์ ไตรมาสแรกปี 2562

เขามองว่า ขนาดโรงพยาบาลไม่สำคัญที่จะเป็นข้อได้เปรียบหรือเสียเปรียบในการบริหารจัดการ แต่เทคโนโลยีต่างหากที่เป็นปัจจัยสำคัญที่จะสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน และเป็นหนึ่งในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ ทำให้คนไข้มีข้อมูลสุขภาพตนเองและใช้บริการโรงพยาบาลที่ไหนก็ได้ เพราะหัวใจสำคัญยังคงเป็นแพทย์ผู้ให้การรักษา สิ่งสำคัญถัดมาคือ ระบบส่งต่อข้อมูลและวางแผนการรักษาร่วมกันโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในโรงพยาบาลศูนย์

“คาดว่าสิ้นปีนี้จะมีรายได้ 2,300 ล้านบาทและภายใน 5 ปีจะมีรายได้ 4,000 ล้านบาท จากการบริหารจัดการโรงพยาบาลทั่วประเทศกว่า 20 แห่งโดยใช้งบลงทุน 10,000 ล้านบาท จากนั้นมีแผนที่จะขยายธุรกิจดูแลผู้สูงอายุในอีก10 ข้างหน้า”

เมื่อถึงเวลานั้นสังคมไทยเริ่มปรับตัวด้วยการใช้บริการในรูปแบบนี้มากขึ้น โดยนำเทคโนโลยีเซนเซอร์เข้ามารองรับการบริการในรูปแบบต่างๆ จะเป็นรายได้ใหม่อีกทางหนึ่งของบริษัท นอกจากการรับบริหารจัดการโรงพยาบาลในรูปแบบเครือข่าย

ทรานฟอร์มสู่ รพ.ดิจิทัล

นายแพทย์สมศักดิ์ เชาว์วิศิษฐ์เสรี ผู้อำนวยการด้านบริหารและผู้อำนวยการด้านการแพทย์ โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า เริ่มจากการบริหารจัดการข้อมูล (บิ๊กดาต้า) ซึ่งจะมีข้อมูลหลั่งไหลเข้ามาจำนวนมากทั้งข้อมูลผู้ป่วย ห้องปฏิบัติการ ผลตรวจจากแล็บ จึงต้องหาวิธีนำข้อมูลเหล่านี้เข้าสู่ระบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์แบบ แล้วเชื่อมต่ออุปกรณ์เครื่องมือ เพื่อให้แพทย์สามารถประมวลผลข้อมูลได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ

ถัดมาเป็นเทคโนโลยีเอไอและหุ่นยนต์ จะเข้ามามีบทบาทช่วยในการวินิจฉัย โดยช่วยให้แพทย์มีข้อมูลประกอบการตัดสินใจที่ถูกต้องแม่นยำมากขึ้น

“เราใช้เทคโนโลยีโดยมีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญควบคุมการทำงานทั้งหมด รวมทั้งการใช้หุ่นยนต์เข้ามาเป็นผู้ช่วยแพทย์ เช่น หุ่นยนต์ดาวินชีใช้ผ่าตัดมะเร็งในอวัยวะต่างๆ ขณะเดียวกันก็มี“เทคโนโลยีการวิเคราะห์ระดับยีน” เพื่อให้การรักษาแบบเฉพาะเจาะจง"

แม้เทคโนโลยีจะเข้ามาช่วยแพทย์ แต่แพทย์จะเป็นผู้ประมวลผลและออกแบบการรักษาทั้งหมด ซึ่งแนวทางการเลือกใช้เทคโนโลยีต่างๆ ต้องอาศัยงานวิจัย ประสบการณ์ของแพทย์รวมทั้งต้องมีผลรับรองถึงมาตรฐานความปลอดภัยในการรักษา ล่าสุดคือ “เทคโนโลยีแขนกลหุ่นยนต์” ช่วยศัลยแพทย์กำหนดพิกัดเพิ่มความแม่นยำในการผ่าตัดกระดูกสันหลัง ซึ่งเป็นจุดละเอียดอ่อนและเป็นศูนย์รวมของเส้นประสาทต่างๆ

ปีนี้ได้ปรับเปลี่ยนไปสู่การเป็นโรงพยาบาลดิจิทัล เพื่อจะเชื่อมโยงระบบไอทีเข้ากับบิ๊กดาต้าและไอโอทีที่มีในโรงพยาบาล ให้สามารถลิงก์กับแพลตฟอร์มต่างๆ ในการวิเคราะห์ประมวลผลข้อมูล คาดว่าภายใน 2-3 ปีจะสามารถพลิกโฉมการให้บริการที่รองรับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ยุคมิลเลนเนียลและรับกระแสดิจิทัลอีโคโนมี