ตั้งศูนย์อาชีวะภาคเหนือ ใช้ Big Data System พัฒนาคน

ตั้งศูนย์อาชีวะภาคเหนือ ใช้ Big Data System พัฒนาคน

สอศ.ตั้งศูนย์ NEC ภาคเหนือตอนล่าง จัดเก็บข้อมูลความต้องการกำลังคน และการผลิตของสถานศึกษา ครอบคลุม 4 จังหวัด นครสวรรค์-กำแพงเพชร-พิจิตร-อุทัยธานี ตั้งเป้าก.ค.61 ตั้งครบทั่วประเทศ 17 ศูนย์ เผยภาคเหนือต้องการคนภาคเกษตร ประมง ปศุสัตว์

วันนี้ (11 มิ.ย.) พล.อ.สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารมช.ศึกษาธิการ เป็นประธานในพิธีเปิดศูนย์ประสานงานการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา ภาคเหนือตอนล่าง (NEC-TVET Career Center : NEC) ที่วิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์และมอบนโยบายการผลิตและพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษาในเขตภาคเหนือ โดยมีผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ผู้ประกอบการในนครสวรรค์ เข้าร่วมว่า รัฐบาลมีนโยบายให้มีการผลิตกำลังคนอาชีวศึกษาให้สอดคล้องกับความต้องการกำลังคนในประเทศ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ รมช.ศึกษาธิการ สั่งการให้ สอศ.จัดตั้งศูนย์ประสานงานฯ 17 ศูนย์จัดตั้งศูนย์ฯครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ปัจจุบันจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว 6 ศูนย์ ซึ่งศูนย์ NEC ภาคเหนือตอนล่าง ถือเป็นแห่งที่ 7 การดำเนินงานครอบคลุมกลุ่ม 4 จังหวัดภาคเหนือตอนล่าง ได้แก่ นครสวรรค์ กำแพงเพชร พิจิตร และอุทัยธานี


ทั้งนี้ สถานประกอบการส่วนใหญ่มีความต้องการกำลังคนอาชีวะม่กกว่า ผู้จบระดับปริญญาตรี ดังนั้น ศูนย์ฯมีความสำคัญในการรวบรวม จัดเก็บข้อมูลจัดเก็บความต้องการกำลังคน และการผลิตกำลังคนในแต่ละภูมิภาค โดยนำระบบ Big Data System มาใช้ให้สถานประกอบการและสถานศึกษา เข้าระบบกรอกข้อมูล ซึ่งจะทำให้เกิดการเชื่อมโยงข้อมูลทั่วประเทศ โดยรมช.ศึกษาธิการ ได้ให้นโยบายว่าเมื่อทุกภูมิภาคเก็บรวมรวมข้อมูลได้ครบถ้วน ก็จะนำไปสู่การวิเคราะห์และพัฒนา กำหนดเป็นแผนงาน ยุทธศาสตร์ในการผลิตกำลังคนอาชีวะที่ตรงความต้องการได้แท้จริง และในอนาคตสถานศึกษา และสถานประกอบการทั่วประเทศ สามารถรู้ข้อมูลตัวเลขความต้องการกำลังคนในแต่ละพื้นที่ได้ อย่างไรก็ตาม คาดว่าจะสามารถจัดตั้งศูนย์ฯได้ครบทุกภูมิภาคในเดือนก.ค.นี้ จากนั้นจะนำเสนอความก้าวหน้าให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ทราบต่อไป


ด้าน นายสุเทพ ชิตยวงษ์ เลขาธิการ กอศ. กล่าวว่า การจัดตั้งศูนย์ฯในภาคเหนือจะมีทั้งสิ้น 3 จุด ได้แก่ เชียงใหม่ พิษณุโลก และนครสวรรค์ ทั้งนี้ มีสภาพพื้นที่ทางเศรษฐกิจคล้ายคลึงกัน คือทำเกษตรกรรม หัตถกรรมอุตสาหกรรม เทคโนโลยีดิจิทัลด้านซอฟท์แวร์ เป็นต้น แต่จากข้อมูลความต้องการของสถานประกอบการ พบว่าต้องการกำลังด้านเกษตร ประมง และปศุสัตว์ มากที่สุด รองลงมา อุตสาหกรรมการผลิต ท่องเที่ยวและบริการ โลจิสติกส์ และขนส่ง และวิสาหกิจชุมชน (OTOP) ขณะที่การผลิตของอาชีวะ ส่วนใหญ่เป็นด้านอุตสาหกรรมการผลิต ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน วิสากิจชุมชน (OTOP) และผลิตภัณฑ์อาหาร แปรรูปอาหาร ซึ่งจากข้อมูลเหล่านี้ก็จะเป็นประโยชน์ให้ สอศ.และวิทยาลัยนำไปวิเคราะห์วางแผนการผลิตได้อย่างเหมาะสม


ด้าน นายสุเทพ ศรีศักดิ์วรชัย ผู้อำนวยการวิทยาลัยเทคนิคนครสวรรค์ ในฐานะผอ.ศูนย์ NEC ภาคเหนือตอนล่าง กล่าวว่า ศูนย์ NEC ภาคเหนือตอนล่าง จัดโครงสร้างการบริหารเป็น 5 ฝ่าย ประกอบด้วย ฝ่ายข้อมูลกลาง ฝ่ายส่งเสริมสมรรถนะผู้เรียนเข้าสู่มาตรฐานอาชีพ ฝ่ายส่งเสริมการระดมทรัพยากรและความร่วมมือ ฝ่ายจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับการมีงานทำ ฝ่ายวิจัยและพัฒนา เป็นศูนย์หลักที่ประสานงานกับ 4 กลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง โดยที่ผ่านมาได้ประชุมสร้างความเข้าใจผู้บริหารสถานศึกษาทั้งรัฐและเอกชน รวมถึงสถานประกอบในการกรอกข้อมูลความต้องการแรงงานผ่านระบบBig Data System ขณะนี้หลายแห่งเริ่มเข้าระบบทำการกรอกข้อมูลแล้ว


ทั้งนี้ สอศ.ตั้งเป้าจัดตั้งศูนย์ฯครอบคลุมทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ รวม 17 ศูนย์ ประกอบด้วย ภาคกลาง 3 ศูนย์ ภาคเหนือ 3 ศูนย์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 5 ศูนย์ ภาคตะวันออก 3 ศูนย์ และภาคใต้ 3 ศูนย์ ปัจจุบันจัดตั้งเรียบร้อยแล้ว 6 ศูนย์ โดยภาคตะวันออก ที่วท.บางแสน,วท.ระยอง,วิทยาลัยสารพัดช่างฉะเชิงเทรา ภาคใต้ ที่วท.กาญจนาภิเษกปัตตานี ภาคกลาง ที่วท.สมุทรปราการ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่วท.ร้อยเอ็ด และล่าสุดที่เป็น ศูนย์ที่ 7 ที่วท.เทคนิคนครสวรรค์ภายในวิทยาลัยได้จัดนิทรรศการ ผลงานนวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ของนักเรียน นักศึกษาอาชีวศึกษาภาคเหนือ ที่ได้รับรางวัลการประกวดสิ่งประดิษฐ์ของคนรุ่นใหม่อาชีวศึกษา ประจำปีการศึกษา 2560 ระดับชาติ อาทิ รถป้องกันเด็กติดในรถ รถสามล้อเพื่อผู้สูงอายุ เครื่องกะเทาะเปลือก โพเดียมเอนกประสงค์ รถไฟฟ้าจากพลังงานเครื่องยนต์เล็ก อุปกรณ์คว้านเม็ดลำไย สเปรย์กำจัดเห็บสุนัขจากสารสกัดสมุนไพรแห้วหมู เครื่องเตือนเด็กติดในรถด้วย