'กฤษฎา' สั่งตรวจสอบ หลังรร.ไผทอุดมศึกษางดให้เด็กดื่มนมโรงเรียน

'กฤษฎา' สั่งตรวจสอบ หลังรร.ไผทอุดมศึกษางดให้เด็กดื่มนมโรงเรียน

“กฤษฎา” สั่งกรมปศุสัตว์ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเร่งด่วนแล้ว หลัง รร.ไผทอุดมศึกษางดให้เด็กดื่มนมโรงเรียน

นสพ.สรวิศ ธานีโต รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์  ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน กล่าวว่า จากกรณีโรงเรียนไผทอุดมศึกษา ส่งหนังสือแจ้งผู้ปกครองของดการดื่มนมโรงเรียนหลังพบนมยู.เอช.ที หลายกล่องแสดงเลขข้างกล่องยังไม่หมดอายุ แต่สภาพทางกายภาพของนมขุ่นข้นเปลี่ยนไปจากสภาพปกติจึงงดดื่มนมตามโครงการอาหารเสริม(นม) โรงเรียน เพราะเป็นห่วงสุขภาพของนักเรียนว่า ทันทีที่ได้รับรายงานนายกฤษฎา บุญราช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้สั่งการให้กรมปศุสัตว์และองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทยในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมการนมโรงเรียน เจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์เขต1 เจ้าหน้าที่สำนักเทคโนโลยีชีวภาพการผลิตปศุสัตว์และเจ้าหน้าที่สำนักงานปศุสัตว์เขตพื้นที่กรุงเทพฯ เข้าพบคณะผู้บริหารโรงเรียนฯ เพื่อตรวจสอบและทราบข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเป็นการเร่งด่วน      


ทั้งนี้ จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า ลักษณะภายนอกของกล่องนมที่สุ่มตรวจกล่องนมดูปกติแต่นมจะมีลักษณะเนื้อนมเป็นลิ่ม ก้อนคล้ายวุ้นและได้ทำการตรวจสอบด้วยสารละลายเบตาดีนแล้วไม่พบว่าผสมแป้งแต่อย่างใด อย่างไรก็ตามขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงในกรณีที่เกิดขึ้นและเก็บตัวอย่างนม ส่งสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ไปตรวจอย่างละเอียดอีกครั้ง ส่วนข้อเสนอของโรงเรียนไผทฯ ขอเปลี่ยนนมจากสหกรณ์โคนม ไทยมิลค์  จำกัด เป็นผู้ประกอบการรายอื่นทางอสค. จะนำเสนอคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม (นม)โรงเรียนพิจารณาในการประชุมวันที่ 14 มิถุนายน 61 ที่จะถึงนี้

นสพ.สรวิศ  กล่าวด้วยว่า สำหรับสหกรณ์โคนม ไทยมิลค์ จำกัด ได้รับการจัดสรรสิทธิให้จัดส่งนมตามโครงการอาหาร (เสริม) นมโรงเรียนให้กับโรงเรียนไผทอุดมศึกษา โดยนมที่ส่งให้เป็นนมยูเอชที โดยส่งให้ทุกๆ 3 วัน  นมชุดที่มีปัญหาผลิตเมื่อวันที่ 19 เมษายน 61 หมดอายุวันที่ 7 ธันวาคม 61 โดยโรงเรียนได้รับทราบจากการดื่มนมชุดกล่าวของนักเรียนแล้วพบว่ามีรสชาติผิดปกติ จึงได้เปิดกล่องนมประมาณ 20 กล่องพบว่ามีลักษณะของนมมีความผิดปกติจึงได้มีหนังสือแจ้งผู้ปกครองและหยุดให้เด็กนักเรียนดื่มนมทันที


“รัฐมนตรีเกษตรฯ ได้แสดงความกังวลและเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าวเป็นอย่างมาก ได้สั่งการให้เร่งติดตามสถานการณ์และเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วน  เพราะไม่อยากให้กระทบต่อสุขภาพของเด็กนักเรียน  พร้อมเน้นย้ำให้เพิ่มคุณภาพและมาตรฐานนมโรงเรียนให้สูงขึ้นตลอดห่วงโซ่การผลิต เพื่อนักเรียนได้ดื่มนมที่มีคุณภาพดี ให้เข้มงวดตั้งแต่การผลิต การแปรรูป การขนส่งและการเก็บรักษา ตลอดจนการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีความโปร่งใสเป็นธรรมกับผู้ประกอบการ ซึ่งปัจจุบันเด็กระดับอนุบาล 1 - ป.6 ทุกคนจะได้ดื่มนมโรงเรียนเทอมละ 100วันสำหรับวันมาโรงเรียนและอีก 30 วันสำหรับนักเรียนกลับไปดื่มที่บ้านวันปิดเทอม โดยขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้เร่งดำเนินการจัดส่งตัวอย่างนมของโรงเรียนในล๊อตที่มีปัญหาไปให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) ตรวจสอบแล้ว” นสพ.สรวิศ กล่าว


นสพ.สรวิศ กล่าวถึงกระบวนการกำกับดูแลคุณภาพนมโรงเรียนของกรมปศุสัตว์ด้วยว่า จะให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นทาง (น้ำนมดิบ)  ที่ฟาร์มและศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบกลางทาง (แปรรูป) ที่โรงงาน และปลายทาง(โรงเรียน)โดยต้นทางการผลิตนั้นจะมีการตรวจน้ำนมดิบที่ศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบและฟาร์มอย่างน้อยปีละ 3 ครั้ง ฟาร์มโคนมจะต้องได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP และตรวจประเมินมาตรฐานฟาร์มอย่างน้อยปีละ1ครั้งและส่งตัวอย่างน้ำนมดิบในฟาร์มตรวจสอบในแลปทุกเดือน ส่วนกลางทางกรมปศุสัตว์จะสุ่มเก็บตัวอย่างน้ำนมดิบหน้าโรงงานแปรรูปตรวจสอบมาตรฐานเซลล์โซมาติก (SCC) เพื่อคัดกรองไม่ให้นมที่มาจากเต้านมอักเสบปนเข้าสู่การผลิต ที่ระดับไม่เกิน 500,000 เซลล์/ลบ.ซม.และตรวจสอบปริมาณของแข็งรวม (Total solid : TS) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 12.25 เพื่อให้มีเนื้อนมที่เข้มข้น ไม่ใสอย่างน้อยภาคเรียนละ 2 ครั้ง โดยโรงงานที่ไม่ผ่านเกณฑ์มีการรายงานไปยังคณะอนุกรรมการบริหารฯ นมโรงเรียนเพื่อลดสิทธิการจำหน่าย และลงโทษตามหลักเกณฑ์ฯ ส่วนการขนส่งโรงเรียน ผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบคุณภาพการขนส่ง มีการควบคุมอุณหภูมิ ดูแลสภาพบรรจุภัณฑ์ไม่ให้ชำรุดและตรวจนับโดยครู-อาจารย์ ส่วนปลายทางจะมีการตรวจสอบที่โรงเรียน โดยคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม (Milk Board)
มิลค์บอร์ดกำหนดให้มีคณะกรรมการนมโรงเรียนระดับจังหวัดและอำเภอทำหน้าที่ติดตาม กำกับ ดูแลคุณภาพนมโรงเรียนในพื้นที่โดยให้เจ้าหน้าที่ของกรมปศุสัตว์ปฏิบัติหน้าที่เลขาฯ ทั้งนี้ หากพบปัญหาให้ดำเนินการสอบสวนทันทีและให้รายงานผลการดำเนินการทุก 3เดือนและหากพบปัญหาก็ให้แจ้ง อ.ส.ค. และคณะอนุกรรมการบริหารฯ นมโรงเรียนดำเนินการลดสิทธิ ตัดสิทธิหรือยกเลิกสัญญาผู้ประกอบการตามหลักเกณฑ์นมโรงเรียนที่กำหนดไว้ได้ในทันที


“หลักเกณฑ์นมโรงเรียน 1/2561 ฉบับที่ 1 ค่อนข้างจะวางกฎเกณฑ์เข้มงวดและรัดกุมโดยกำหนดการขนส่งนมพาสเจอร์ไรซ์ด้วยรถห้องเย็น ไม่เกิน 4 องศา นมยูเอชทีด้วยรถขนส่งที่มีตู้หรือหลังคา หรือผ้าใบปิด ซ้อนลังไม่เกิน 10 ชั้น ให้ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหากล่องบุบ  ส่วนการเก็บรักษาที่โรงเรียนนมพาสเจอร์ไรซ์ให้ใส่ตู้เย็น หรือตู้แช่ เก็บไม่เกิน 8 องศา  นมยูเอชทีต้องเก็บซ้อนไม่เกิน 8 ชั้น ในกรณีลังซ้อนไม่เกิน 5 ชั้น กรณีห่อฟิล์มวางสูง 10 ซม. จากพื้น และให้เก็บไม่เกิน 45 องศา  ทั้งหมดเพื่อรักษาคุณภาพนมและป้องกันนมมีปัญหาระหว่างทางก่อนเด็กดื่มบริโภค”


อย่างไรก็ตาม  หากในอนาคตพบนมโรงเรียนมีปัญหา  สามารถแจ้งโดยตรงได้ที่สำนักงานปศุสัตว์อำเภอ/ปศุสัตว์จังหวัดในพื้นที่ที่โรงเรียนตั้งอยู่  โดยจะมีการประสานคณะกรรมการนมโรงเรียนระดับพื้นที่ดำเนินการต่อไป  หรือติดต่อโดยตรงที่อ.ส.ค.ผ่านเว๊บไซต์ http://schoolmilkthai.com   

ด้านดร.ณรงค์ฤทธิ์ วงศ์สุวรรณ  ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)ในฐานะเลขานุการคณะอนุกรรมบริหารจัดการโครงการอาหารเสริม(นม)โรงเรียน กล่าวว่า จากข้อมูลเบื้องต้น ทราบว่าโรงเรียนไผทอุดมศึกษาได้รับการจัดสรรสิทธินมโรงเรียนประเภทยูเอชทีระดับอนุบาลถึงชั้นประถมโรงเรียน ไผทฯ เด็กนักเรียนจำนวน 2,227 คน มีสหกรณ์โคนมไทยมิลค์ เป็นผู้ผลิต ตอนนี้ยังเหลือนม 72 ลัง โดยวันผลิต 19/4/61 วันหมดอายุ 7/12/61  ซึ่งขณะนี้ อสค.ได้ดำเนินการจัดหาและประสานกับสถานที่ผลิตจากสหกรณ์โคนมหนองโพหรือสวนจิตรลดามาทดแทนโดยด่วนแล้ว เพื่อให้นักเรียนมีนมดื่มต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นในหลังรร.ไผทอุดมศึกษาถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดี  ต้องขอบคุณทางโรงเรียนที่มีความรัดกุมเข้มงวดในการตรวจสอบคุณภาพนมก่อนให้เด็กบริโภคซึ่งประสบการณ์ตรงนี้จะแบบอย่างในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการแนวทางการบริหารจัดการโครงการนมโรงเรียนต่อไป    


อย่างไรก็ตาม  ขอเน้นย้ำว่าที่ผ่านมากระทรวงเกษตรฯโดยมิลค์บอร์ดมีความเข้มงวดในการตรวจสอบขบวนการผลิตนมโรงเรียนทุกขั้นตอน  มีการสุ่มตรวจนุ่มทุกล็อตที่จะออกไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในกรณีปัญหาที่เกิดขึ้นที่หลังรร.ไผทอุดมศึกษา ต้องมารอดูผลว่าเกิดปัญหาจากขบวนการช่วงไหน เพื่อจะได้นำข้อมูลมาปรับปรุงแก้ไข ส่วนผู้ประกอบการก็จะมีการหารือเพื่อหามาตรการลงโทษตามระเบียบอย่างเหมาะสมต่อไป ส่วนจะถึงขั้นตัดสิทธิ์เลยหรือไม่คงต้องรอฟังผลตรวจสอบข้อเท็จที่ชัดเจนก่อน  


สำหรับปีนี้รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในภาพรวม 14,000 ล้านบาท เพื่อให้เด็กไทยได้ดื่มนมรวม 7.45 ล้านคนใน 130 วันนับจากวันที่ 16 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา โดยปัจจุบันโครงการอาหาร(เสริม)นมโรงเรียนบริหารจัดการเชิงบูรณาการโดย 4 หน่วยงานหลักๆ คือ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมปศุสัตว์ดูแลคุณภาพน้ำนมดิบครบวงจร/ขั้นตอนการส่งมอบ กระทรวงสาธารณสุขโดยองค์การอาหารและยา(อย.)ดูแลผลิตภัณฑ์นมโรงเรียน/ควบคุมโรงงานผลิต/การตรวจวิเคราะห์คุณภาพ กระทรวงศึกษาธิการโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนรับผิดชอบโรงเรียน/การตรวจรับผลิตภัณฑ์และกระทรวงมหาดไทยดูแลงบประมาณไปยังองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นทั้งหมด