เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ต้นแบบโคนมไทยสู้ศึก FTA

เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ต้นแบบโคนมไทยสู้ศึก FTA

ธุรกิจเกษตรที่ต่อยอดความรู้จากที่เรียนมา สู่ฟาร์มต้นแบบ “เชียงใหม่เฟรชมิลค์” กุมตลาดภาคเหนือแล้ว ยังไม่เดินคนเดียว ส่งต่อความรู้สู่เครือข่ายเกษตรกรกว่า 200 ราย รวมตัวกันเป็นเครือข่ายเกษตรกรทันสมัย สู้ศึกเอฟทีเอ ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์

การเปิดเสรีการค้าไทย-ออสเตรเลีย และไทย-นิวซีแลนด์ที่จะเปิดเสรี สินค้านม และครีม รวมถึงเครื่องดื่มประเภทนมปรุงแต่งในปี 2568 ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมวิตกกังวลว่าจะเสียตลาดให้กับ2 ประเทศที่มีชื่อเสียงแหล่งวัวพันธุ์ดี จึงต้องมาดูแลวัวการบริหารจัดการฟาร์มให้มีประสิทธิภาพ

 เชียงใหม่ เฟรชมิลล์ เป็นตัวอย่างของธุรกิจที่ใช้งานวิจัยผสมผสานกับการเรียนรู้นวัตกรรมการบริการจัดการฟาร์ม ให้กับวัวพันธุ์พื้นเมืองแห่งล้านนา จึงได้วัวอารมณ์ดี และผลิตน้ำนมชั้นดีกระจายในภาคเหนือ

นี่คือผลผลิตจากความรักในอาชีพสัตวบาล ตั้งแต่ สมัยเรียนของ ดร.บัลลพ์กุล ทิพย์เนตร ประธานกรรมบริหารบริษัท เชียงใหม่ เฟรชมิลค์ จำกัด อดีตนักศึกษาสัตวบาล คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ผู้มีความสุขอยู่กับการรีดโคนมในวิชาเรียนโคนมทุกครั้ง จนเป็นเจ้าของฟาร์มต้นแบบการบริหารจัดการที่มีคุณภาพ

เริ่มต้นจากการตั้งซุ้มขายนมในมหาวิทยาลัย จนผลิตไม่เพียงพอ จึงรับนมจากองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) ในจังหวัดเชียงใหม่มาขาย จึงเป็นใบเบิกทางให้เข้าไปทำงานในอ.ส.ค. จนกระทั่งมาเปิดกิจการผลิตนมวัวจำหน่าย ในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งแต่อายุ 28 ปี

ด้วยความที่คลุกคลีรับซื้อน้ำนมจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมมาผลิตน้ำนมขายมายาวนาน จึงเห็นถึงความทุกข์ของเจ้าของฟาร์มโคนม ว่ายังขาดความรู้การบริหารจัดการ พัฒนาแม่วัวพันธุ์ดี น้ำนมมีคุณภาพออกสู่ตลาด จนต้องขาดทุนล้มเลิกกิจการไปหลายราย

นี่จึงเป็นเหตุผลให้จากคนรับซื้อนม หันมาเปิดฟาร์มเลี้ยงโคนมครบวงจร พร้อมกันกับนำวิชาความรู้ที่เรียนมา บวกกับการตระเวนไปเสาะหาองค์ความรู้จากฟาร์มตัวอย่างที่ว่าดีเลิศ ทั้งในและต่างประเทศ ใช้เวลาในการศึกษาโมเดลที่จะพัฒนาฟาร์มต้นแบบถึง 14 เดือน ก่อนกลับมาเขียนแผนธุรกิจ

จนสามารถพัฒนา ฟาร์มต้นแบบ ในการบริหารจัดการพันธุ์โคนมดี ให้เหมาะสมกับสภาพอากาศในประเทศเขตร้อน เพื่อให้แม่วัวกินอิ่มนอนหลับ พร้อมกันกับปรับสูตรอาหารให้ไปเลี้ยงแม่วัววัยเจริญพันธุ์ ผลิตน้ำนมได้ในปริมาณมาก มีสารอาหารที่ผ่านการวิจัยแล้วว่ามีคุณภาพสูงกว่าปกติ รวมไปถึงมีระบบการจัดการที่มีเชื้อจุลินทรีย์ปลอมปนน้อยที่สุด

“เราพัฒนาต่อเนื่อง คำว่าดีที่สุดในวันนี้ก็พัฒนาต่อไปให้ดีที่สุดไปอีก” นี่คือความแตกต่างเพราะได้ผสมผสานองค์ความรู้และผลงานวิจัยจากตำราวิชาการนำมาประยุกต์ใช้จริงในฟาร์ม เช่น ผลงานวิจัยทำให้ผลิตวัวตัวแม่มากกว่าวัวตัวผู้มากกว่าปกติ รวมไปถึงสูตรอาหาร และการจัดการฟาร์ม"

เริ่มต้นจากวัว 30-40 ตัวปัจจุบันมีวัวจำนวน 2,000 กว่าตัว ผลิตน้ำนมได้มากกว่า 200 ตันต่อวัน

เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ประเดิมทำตลาดโดยการส่งนมโรงเรียนเป็นหลัก จนขยายมาสู่การเป็นรับจ้างผลิต(OEM)ให้กับแบรนด์อันดับต้นๆ ของไทยหลายแบรนด์ จนเติบโตมาได้ในปัจจุบันที่มียอดขายมากกว่า1,000 ล้านบาท

ปัจจุบันเริ่มผลิตน้ำนมภายใต้แบรนด์ตัวเอง คือ มายด์ด้า (MILDDA) ,ยัมมี่ พร้อมกับขยายหน้าร้าน 2 แห่ง ที่ชื่อว่า “เฟรชแอนด์มายด์” เป็นจุดกระจายสินค้าในกลุ่มธุรกิจ พร้อมกันกับผลิตภัณฑ์แปรรูปจากโรงงานนม ประกอบด้วย ไอศกรีม นมเย็น และชีส

เขามองว่าการมีหน้าร้านช่วยให้เชียงใหม่เฟรชมิลค์ ได้สื่อสารกับผู้บริโภคโดยตรง หน้าร้านจึงช่วยเชื่อมต่อกับผู้บริโภค เพื่อเข้าใจความต้องการลูกค้ามากขึ้น

หลังจากประสบความสำเร็จจากโรงงาน เป็นฟาร์มต้นแบบพร้อมกันกับได้รางวัล ผู้นำเครือข่ายเกษตรกรดีเด่นจากธนาคารกรุงเทพ

ความรู้ที่ได้ไม่เพียงใช้ในฟาร์มตัวเอง แต่ได้ขยายองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรในเครือข่ายได้มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดีเพื่อให้ได้น้ำนมมีคุณภาพเช่นเดียวกันกับฟาร์มของเขา และกลุ่มธุรกิจเชียงใหม่เฟรชมิลค์จะเป็นผู้รับซื้อ ซึ่งปัจจุบันมีเกษตรกรในเครือข่าย 200 ราย โดยมีเกษตรกรปรับวิธีการบริหารจัดฟาร์มให้ได้มาตรฐานเดียวกันกับเชียงใหม่เฟรชมิลค์แล้ว 40 ราย

“เราพัฒนาเป็นฟาร์มต้นแบบแล้วต้องสร้างเครือข่าย ถ่ายทอดองค์ความรู้ ส่งต่อไปยังเกษตรกรให้มีการบริหารจัดการฟาร์มที่ดี เพื่อการรวมตัวพัฒนาอุตสาหกรรมให้แข็งแกร่ง”

เขาถอดบทเรียนการพัฒนาธุรกิจมากว่า 25 ปี จนเติบโต กระจายสินค้าทั่วตลาดภาคเหนือ โดยที่ไม่มีพื้นฐานความรู้ด้านธุรกิจ แต่เป็นการเน้นพัฒนาคุณภาพสินค้าให้แข็งแกร่ง แล้วสินค้าจะขายตัวเอง

“ความสำเร็จเกิดจากความซื่อสัตย์ในอาชีพ ใส่ใจทุ่มเท มีทีมงานรู้จริง และคู่คิดธุรกิจที่ดี"

ที่สำคัญคือการนำความรู้งานวิจัยจากมหาวิทยาลัย มาพัฒนาเพื่อทำให้สิ่งที่เรียนจับต้องได้ พร้อมกันกับขยายไปยังเครือข่ายเกษตรกรให้เข้าถึงองค์ความรู้

สมชาย บริรักษ์เลิศ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เชียงใหม่ เฟรชมิลค์ เล่าต่อว่า สิ่งกลุ่มธุรกิจโดดเด่นคือการมีน้ำนมคุณภาพที่โปรตีนสูงกว่านมปกติ ซึ่งมาจากการพัฒนาปรับปรุงฟาร์ม

ปัจจุบันอยู่ระหว่างการเตรียมพร้อมขยายตลาดส่งออกไปภูมิภาคก่อนจะกลับมาทำตลาดภายในประเทศซึ่งส่งออกแล้วในเมียนมาภายใต้แบรนด์ PEP กำลังอยู่ระหว่างเจรจากับประเทศจีน และกลุ่มประเทศอื่นๆ ในอาเซียน ซึ่งประเทศจีน มีความต้องการน้ำนมสูง เพราะไม่เชื่อมั่นและบริโภคนมภายในประเทศตัวเอง

“ต่างชาติรับรู้ว่าวัวของเราเป็นโคพันธุ์พื้นเมืองล้านนา ที่มีคุณภาพ ซึ่งเชียงใหม่เป็นพื้นที่ที่เหมาะแก่การเลี้ยงโคนม เพราะทำเลที่ตั้งสูงกว่าระดับน้ำทะเลสูง และมีลมพัดตลอด ทำให้แม่วัวอารมณ์ดี บวกกับการบริหารจัดการฟาร์ม ที่มีคุณภาพ แม้เราจำหน่ายส่งออกในราคาที่สูงกว่า ก็ยังขายได้”

โดยปัจจุบันรายได้หลักยังมาจากการรับจ้างผลิตน้ำนม แต่ในอนาคตกำลังอยู่ระหว่างขยายผลิตภัณฑ์ภายใต้แบรนด์ในกลุ่มธุรกิจ ตามเป้าหมายจะต้องมีรายได้จากแบรนด์ตัวเอง 50%ภายใน 5 ปี

--------------------------- 

Key to Success 

ธุรกิจน้ำนมคุณภาพ

-ผสมผสานวิชาความรู้หลากหลายแห่ง

-แปลงตำราวิจัยให้จับต้องได้

-คุณภาพสินค้านำตลาด

-ส่งต่อความรู้สร้างเครือข่ายเกษตรกร