ไอเดีย+วิจัย สรรสร้างเทรนด์ธุรกิจอาหารไม่ธรรมดา

ไอเดีย+วิจัย สรรสร้างเทรนด์ธุรกิจอาหารไม่ธรรมดา

เวทีเสวนาเทรนด์ธุรกิจอาหารโลกย้ำนวัตกรรมและองค์ความรู้จากงานวิจัยเข้ามามีบทบาทมากขึ้น สวทน.ระบุงบลงทุนวิจัยในอุตฯ อาหารแซงหน้ารถยนต์และปิโตรเคมี ด้านไทยยูเนี่ยนมุ่งสร้างความแตกต่างชิงส่วนแบ่งตลาด นำเสนอทูน่าแผ่นฉีกกรอบปลากระป๋อง

ในงานเสวนา Trends and Innovation in Global Food Business เนื่องในโอกาสครบรอบคล้ายวันสถาปนา 55 ปี สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เห็นพ้องว่า งานวิจัยในยุคนี้ต้องตอบโจทย์ตามเทรนด์โลกซึ่งไม่ใช่แค่ในประเทศเท่านั้น โดยเฉพาะการพัฒนานวัตกรรมเพื่อผู้สูงวัยที่เป็นกลุ่มเป้าหมายใหญ่ในอนาคต เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์ฟังก์ชั่นนัลฟู้ดที่จะเข้ามาตอบสนองความต้องการของตลาด


นายอัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และซีอีโอโครงการเมืองนวัตกรรมหรือฟู้ดอินโนโพลิส กล่าว ว่า ผลสำรวจพบ 2 ปีที่ผ่านมา การลงทุนวิจัยและพัฒนาในอุตสาหกรรมการผลิตสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อุตฯอาหาร 1.3 หมื่นล้านบาทแซงหน้าอุตฯ รถยนต์และปิโตรเคมี สะท้อนให้เห็นถึงการปรับตัวของผู้ประกอบการในอุตฯ อาหารรายใหญ่ ที่ต้องการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้ได้มาตรฐานในระดับสากล เพื่อความอยู่รอดในระยะยาว โดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีมาตรฐานและความน่าเชื่อถือมากขึ้น เช่นเดียวกับผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งมีสัดส่วน 80-90% จำเป็นต้องปรับตัวด้วย เนื่องจากปัจจุบันการแข่งขันและการเปลี่ยนแปลงในอุตฯ ทั่วโลกเกิดเร็วมาก พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนเร็วขึ้น


นายธวัช สุธาสินีนนท์ รองผู้จัดการทั่วไป ฝ่ายเทคโนโลยีและการพัฒนา บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือทียู กล่าวว่า อุตฯ อาหารจำเป็นต้องปรับตัวจากรับจ้างผลิตเปลี่ยนมาสร้างแบรนด์ของตนเอง เช่นเดียวกับที่ไทยยูเนี่ยนทำมาก่อนหน้านี้ เนื่องจากการสร้างแบรนด์ทำให้สามารถสื่อสารกับผู้บริโภคและสร้างมูลค่าเพิ่มกับสินค้าได้มหาศาล พร้อมกันนั้นจำเป็นต้องมีนวัตกรรมเพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งในตลาด แทนการใช้กลยุทธ์ราคา ขณะเดียวกันต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพการผลิต เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด ทั้งยังต้องคำนึงเรื่องสิ่งแวดล้อมด้วย


ยกตัวอย่างเช่น การพัฒนานวัตกรรมตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่ชอบถ่ายรูปอาหารลงโซเชียลมีเดีย ดังนั้น บริษัทจึงพัฒนาทูน่าแผ่นที่มีลักษณะคล้ายแฮมออกมาจำหน่าย แทนการจำหน่ายเฉพาะปลากระป๋องเท่านั้น นอกจากนี้ควรจะใช้เทคโนโลยีเครื่องจักรเข้ามามาช่วยในไลน์การผลิต เพื่อแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในอนาคต


นางสาวจาทัตยา กิตติบัณฑร เจ้าของกิจการบริษัท ยูเรก้า คอฟฟี่ จำกัด กล่าวว่า เมนูเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของแบรนด์คือ “ไข่เค็มลาเต้” สร้างความแปลกใหม่ด้วยไซรัปไข่เค็มโฮมเมดผสมกับนมสดและกาแฟ Cold Brew รสเข้มท็อปด้วยฟองนมและขนมทองหยอดกรอบ ในอนาคตสนใจที่ใช้เทคโนโลยีมาช่วยควบคุมคุณภาพเพื่อขยายตลาดในประเทศและต่างประเทศ