กรมสุขภาพจิต เผยกลุ่ม 'เด็กพิเศษ' เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

กรมสุขภาพจิต เผยกลุ่ม 'เด็กพิเศษ' เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ

กรมสุขภาพจิต เผยกลุ่ม “เด็กพิเศษ” เป็นกลุ่มเสี่ยงถูกล่วงละเมิดทางเพศ ต้องดูแลใกล้ชิด สร้างเสริมทักษะสังคมที่เหมาะสม

กรมสุขภาพจิตเผยเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการมีความเสี่ยงในการถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงกว่าเด็กปกติ แม้จะมีความบกพร่องทางสติปัญญาแต่เด็กก็มีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายเข้าสู่วัยรุ่นเหมือนเด็กทั่วไป เด็กที่มีภาวะออทิสติก อาจมีทักษะการสร้างสัมพันธภาพทางสังคมที่ผิดปกติ มีการเข้าหาคนไม่คุ้นเคย ไม่ถูกกาละเทศะ แนะพ่อแม่ผู้ปกครองดูแลใกล้ชิด  สร้างเสริมทักษะทางสังคม ให้รู้จักการดูแลตนเอง ปกป้องร่างกาย และอวัยวะต้องสงวนของตนเองอย่างเหมาะสม

นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์กรณีเด็กหญิงวัย 11 ปี ที่เป็นออทิสติก ถูกพ่อเลี้ยงล่วงละเมิดทางเพศว่าปัจจุบันปัญหาการล่วงละเมิดทางเพศมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะผู้กระทำส่วนใหญ่มักเป็นคนใกล้ตัว หรือคนรู้จัก ข้อมูลจากศูนย์พึ่งได้ ของกระทรวงสาธารณสุข ที่รวบรวมจากโรงพยาบาล 523 แห่ง ในปี 2558  พบว่า มีเด็กเข้ารักษาจากถูกกระทำรุนแรง 11,000 คน เฉลี่ย 30 คนต่อวัน ส่วนใหญ่เป็นเด็กหญิง ถูกกระทำรุนแรงทางเพศ โดย 9ใน10 คน ถูกกระทำโดยบุคคลที่รู้จัก เด็กที่มีความบกพร่องทางด้านพัฒนาการและสติปัญญาหรือเรียกว่าเด็กที่ต้องการการดูแลพิเศษ เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่นคืออายุ 9-15 ปี ร่างกายจะมีการเจริญเติบโตเปลี่ยนแปลงเหมือนเด็กทั่วไป แต่ความสามารถในการดูแลตนเองในชีวิตประจำวัน และการมีปฏิสัพพันธ์กับผู้อื่น ตลอดจนการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าไม่ได้เติบโตตามวัยไปด้วย จึงเป็นกลุ่มเสี่ยงต่อการถูกล่วงละเมิดทางเพศสูงกว่าเด็กทั่วไป กลุ่มที่น่าห่วงที่สุดคือ เด็กที่มีภาวะออทิสติก  ซึ่งบางคนมีลักษณะการเข้าหาคนง่ายอย่างไม่เหมาะสม สำหรับเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศรายนี้ได้สั่งการให้ทีมสุขภาพจิตเอ็มแคทเข้าไปร่วมดูแลเด็กและครอบครัว ร่วมกับทีมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่อย่างใกล้ชิดแล้ว

ทางด้านแพทย์หญิงนพวรรณ ศรีวงค์พานิช ผู้อำนวยการ รพ.ยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ จ.สมุทรปราการ กล่าวเพิ่มเติมว่า พ่อแม่ผู้ปกครองรวมทั้งครูที่โรงเรียนจำเป็นต้องดูแลเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาและพัฒนาการ   อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ ควรสอนทักษะการเข้าหาผู้อื่นแบบมีระยะห่าง ทั้งนี้จุดเริ่มต้นการป้องกันปัญหาที่สำคัญที่สุดคือครอบครัว พ่อแม่ผู้ปกครองต้องดูแลอย่างใกล้ชิดและควรสอนเด็กเพื่อสร้างเสริมทักษะทางสังคม ให้เด็กปฏิเสธเมื่อมีคนพยายามจับต้องร่างกาย โดยเฉพาะ ปาก ซอกคอ หน้าอก ท้อง สะโพก ก้น หน้าขา อวัยวะเพศ ขณะเดียวกันต้องสอนให้ไม่ไปจับหรือสัมผัสร่างกายของคนอื่น สอนการดูแลความสะอาด ความเรียบร้อยของร่างกาย และสอนการแต่งกายอย่างเหมาะสม