จัดเวทีแข่งขันนำเสนอผลงานด้านการสื่อสาร เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

จัดเวทีแข่งขันนำเสนอผลงานด้านการสื่อสาร เพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

นิเทศ จุฬาฯ ผนึกกำลัง GlobCom และมหาวิทยาลัยชั้นนำ จาก 15 ประเทศทั่วโลก จัดประชุมวิชาการและเวทีแข่งขันนำเสนอผลงานด้านการสื่อสารเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน

คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย Global Communication (GlobCom) เป็นเจ้าภาพจัดประชุมวิชาการด้านการสื่อสาร Global Communication Symposium ครั้งที่ 16 เพื่อสนับสนุนการใช้พลังงานนอกรูปแบบ หรือ Unconventional Energy เพื่อความมั่นคงทางพลังงานของโลก ระหว่างวันที่ 1-3 มิถุนายน 2561 ณ อาคารมงกุฏสมมติวงศ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยมีนิสิตนักศึกษากว่า 100 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยชั้นนำใน 15 ประเทศทั่วโลก เข้าร่วมการประชุมวิชาการและแข่งขันการนำเสนอผลงานด้านการสื่อสาร


1_6



การประชุมวิชาการครั้งนี้ ถือเป็นการประชุมที่ GlobCom จัดขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก โดยคณะนิเทศศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนความร่วมมือด้านการสื่อสารเชิงกลยุทธ์ระหว่างภาคีเครือข่ายมหาวิทยาลัย จากการจัดประชุมวิชาการร่วมกับการแข่งขันนำเสนอผลงานโครงการประชาสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์เพื่อบริษัทอินนิออส (INEOS) หนึ่งในองค์กรผู้สำรวจและผลิตปิโตรเคมีและผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับปิโตรเคมี ซึ่งในปีนี้ นิสิตนักศึกษา 9 ทีม รวมมากกว่า 300 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยทั่วโลก ได้ผสานความร่วมมือโดยการประชุมและวางแผนผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อพัฒนาแผนงานโครงการการประชาสัมพันธ์เชิงกลยุทธ์นานกว่า 3 เดือน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการรับรู้ ความเข้าใจ อันนำไปสู่ภาพลักษณ์เชิงบวกต่อการใช้พลังงานนอกรูปแบบเพื่อความมั่นคงทางพลังงาน ในกลุ่มเป้าหมายที่เป็นผู้นำทางความคิดทั่วโลก

ตลอดทั้ง 3 วันของการประชุม ตัวแทนนิสิตนักศึกษาทั้งชาวไทยและต่างชาติกว่า 100 คน จาก 15 มหาวิทยาลัยใน 15 ประเทศทั่วโลก ได้ร่วมกันนำเสนอแผนงานโครงการ รวมถึงเปิดเวทีเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการจัดหาและพัฒนาการใช้พลังงานอย่างยั่งยืนทั่วโลก ทั้งนี้ ก่อนการนำเสนอผลงานแก่คณะกรรมการ นิสิตนักศึกษาทุกคนจะได้รับการอบรมพิเศษจากผู้เชี่ยวชาญด้านการประชาสัมพันธ์ระดับแนวหน้าของประเทศไทย รวมถึงนักวิชาชีพและนักวิชาการด้านการสื่อสารชั้นนำจากทั้งในและต่างประเทศ อาทิ ศาสตราจารย์กิตติคุณ Jane Hammond จากสมาพันธ์การประชาสัมพันธ์ระหว่างประเทศ สหราชอาณาจักร, Cristina Ventura ประธานเจ้าหน้าที่วิเคราะห์ เครือ The Lane Crawford Joyce Group ประเทศฮ่องกง, Dmitry Gavra ผู้อำนวยการ School of Journalism and Mass Communication ประเทศรัสเซีย, Josep-Maria Carbonell คณบดีสถาบัน The Blanquerna School of Communications and International Relations ประเทศสเปน, ผู้ช่วยศาสตราจารย์สมิทธิ์ บุญชุติมา อาจารย์ประจำภาควิชาการประชาสัมพันธ์ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, คุณปัณฑารีย์ ยอดศรี ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัท เต็ดตรา แพ้ค (ประเทศไทย) จำกัด และคุณแคริน โลหิตนาวี ผู้ก่อตั้งเครือไมดาส พีอาร์ (ประเทศไทย) เป็นต้น



3_7



ทั้งนี้ หลังจากจบการนำเสนอผลงานและผ่านการตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจะได้รับโอกาสในการฝึกงานที่บริษัทอินนิออส ประเทศเยอรมันนี ซึ่งผลปรากฏว่า นายอเล็กซานเดอร์ แดง นิสิตหลักสูตรนิเทศศาสตรบัณฑิต สาขาวิชาการจัดการการสื่อสาร (หลักสูตรนานาชาติ) คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เป็นหนึ่งในทีมที่ได้รับรางวัลชนะเลิศ และได้รับโอกาสการฝึกงานที่บริษัทอินนิออสร่วมกับสมาชิกในทีมทั้งหมด



4_5



"นอกจากนิสิตนักศึกษาจากทุกมหาวิทยาลัยจะได้ประโยชน์ทั้งในเชิงวิชาชีพและวิชาการสื่อสารจากการจัดประชุมในครั้งนี้ ยังเป็นการเปิดโอกาสให้นิสิตนักศึกษาได้สัมผัสมุมมองการสื่อสารของโลกในแง่มุมอื่น ๆ ที่นอกเหนือจากที่ได้พบเจอในบริบทสังคมท้องถิ่น ผ่านประสบการณ์ในการร่วมงานกับผู้คนต่างชาติต่างวัฒนธรรมในรูปแบบของการทำงานเป็นทีม และยังได้เรียนรู้จากการลงมือปฏิบัติด้วยกรณีศึกษาจริงอีกเช่นกัน" อาจารย์ ดร.ธีรดา จงกลรัตนาภรณ์ รองคณบดีฝ่ายวิจัยและวิรัชกิจ คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าว



5_5



"คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาฯ เชื่อมั่นว่า การเข้าร่วมเครือข่าย GlobCom ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายด้านการสื่อสารระหว่างมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลกที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุด จะเป็นส่วนสำคัญในการส่งเสริมภาพลักษณ์และชื่อเสียงของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในด้านการสื่อสาร ให้เป็นที่ประจักษ์แก่นานาประเทศทั่วโลก" ศาสตราจารย์ ดร.ปาริชาต สถาปิตานนท์ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวทิ้งท้าย