‘RAKSA’ ปลดล็อคคนไข้ล้น รพ.   

‘RAKSA’  ปลดล็อคคนไข้ล้น รพ.    

 ความท้าทาย และเป็นบททดสอบเพื่อให้ได้รู้ว่าตัวเองนั้นมีศักยภาพได้มากที่สุดแค่ไหน

การสร้างธุรกิจใหม่ในมุมมอง กวิน อัศวานันท์ บอกว่านี่เป็นความท้าทาย ทั้งยังเป็นบททดสอบอย่างดีเพื่อให้ได้รู้ว่าตัวเองนั้นมีศักยภาพได้มากที่สุดแค่ไหน

ที่ผ่านมา กวิน สร้างธุรกิจมาแล้วหลากหลาย ตั้งแต่ Homeslyce.com ธุรกิจด้านอีคอมเมิร์ซ , Noonswoon สตาร์ทอัพสังคมออนไลน์ ที่เชื่อมโยงคนโสดที่มีความสนใจที่คล้ายกันให้รู้จักกัน

นอกจากนี้ ยังเคยทำงานเป็นวิศวกร software, Apple Inc., Cupertino, CA, USA แผนก iPod รับผิดชอบการเขียนโปรแกรมแปลภาษาใน iPod Nano จากภาษาอังกฤษ ให้เป็นภาษาเยอรมัน ภาษาฝรั่งเศส ภาษาสเปน ภาษาอิตาเลี่ยน และภาษาญี่ปุ่น รวมถึงนักพัฒนาโปรแกรม บนเว็บไซต์ facebook.com ที่สร้างโปรแกรมที่มีผู้ใช้จำนวนกว่า 2 ล้านคน ภายในระยะเวลา 2 เดือน

"Noonswoon ทำมา 4 ปี ทำให้มีคนแต่งงานกัน พบรักกันระดับหนึ่งในไทย รวมๆ แล้ว ผมทำมา 6 ตัวเรียกว่า เลือดออก 4 ตัวก็ว่าได้ แต่ก็มีอีก 2 ตัวที่ Exit” กวิน อัศวานันท์ อาจารย์ประจำภาควิชาพาณิชยศาสตร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในอีกบทบาทการเป็นผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านเทคโนโลยี (CTO) บริษัท Doctor Raksa จำกัด พัฒนาแอพพลิเคชั่นที่ชื่อ RAKSA ในปี 2560

เรียกว่า ผ่านประสบการณ์บอบช้ำมาบ้าง สำเร็จบ้าง ทุกอย่างเป็นเรื่องที่ “เรียนรู้” เพื่อสิ่งที่ดีกว่า และไม่พลาดซ้ำในทางสายเดิม

แต่ไม่ว่าอย่างไร ยังเชื่อว่า การสร้างอะไรบางอย่างเพื่อส่งต่อสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ในอีกด้านธุรกิจก็สามารถอยู่ได้ก็เป็นสิ่งที่อยากจะทำ

จุดเริ่มต้นของ RAKSA เกิดขึ้นภายหลังเดินทางกลับมาประเทศไทยแล้วได้เห็นปัญหา “คนไข้” เป็นจำนวนมากต้องต่อคิวเพื่อรอเข้ารับการรักษาพยาบาล

“แพทย์ 3 หมื่นคนในไทย คูณด้วยชั่วโมงทำงาน 8 ชั่วโมง เท่ากับชั่วโมงที่จำกัด ขณะที่จำนวนของคนไข้ที่รอการรักษาพยาบาลนั้นเป็นจำนวนที่มากกว่าหลายเท่าตัว จึงมาคิดว่า ทำอย่างไรที่จะเอาเทคโนโลยีเข้ามาทำให้กว่า 67 ล้านคนซึ่งเป็นตัวเลขจากหักจำนวนคนที่ม่คามรู้ด้านสุขภาพออกไปแล้วได้อย่างไร”

RAKSA ได้ถูกพัฒนาให้เป็น Telemedicine  เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพที่มีความน่าเชื่อถือจากแพทย์ผู้เชียวชาญไปยังคนไทยทั่วประเทศผ่านระบบด้านสารสนเทศ

“ความตั้งใจ ผมอยากลดแรงเสียดทานที่คนไข้อยากจะได้ข้อมูลด้านสุขภาพให้น้อยที่สุด” กวิน ขยายความว่า ข้อมูลที่ได้จากการสัมภาษณ์คุณหมอทำให้เห็นว่า 100% ของคนที่เดินทางไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล มากถึง 40% ที่ความเป็นจริงแล้ว อาจไม่ต้องมาเดินทางมาโรงพยาบาลด้วยซ้ำไป

“หลายๆ คน พอเริ่มมีเหตุไม่ปกติกับร่างกาย แต่ก็ไม่รู้ว่าจะซีเรียสมากน้อยแค่ไหนกับสิ่งผิดปกตินั้น หากซีเรียสก็หาหมอ แต่เมื่อไปแล้วกลับไม่พบว่าเป็นอะไรทำให้ต้องเสียเวลา หรือในกรณีที่ไม่ซีเรียสแล้วเลือกที่จะรอจนถึงโมเม้นที่พบว่าเร่ิ่มกังวลมากขึ้นจึงค่อยไปหาหมอ ซึ่งกว่าจะถึงตอนนั้นก็อาจจะสายเกินไป”

ทั้งหมดที่กล่าวมา กวิน บอกเป็นเรื่องของการเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพของคนไทยที่ยังมีน้อย ทำให้ต้องมีต้นทุนทั้ง เวลาที่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาล เสียเวลาในการรอคิว และกว่าจะได้รับการตรวจ รอรับยา กว่าจะได้เดินทางกลับก็เสียเวลาไปกว่าครึ่งค่อนวัน ซึ่งบางคนไม่รู้กับสิ่งที่สูญเสียไป

อีกทั้ง ข้อมูลด้านสุขภาพเมืองไทย ยังกระจัดกระจาย และไม่มีใครที่จะบอกว่าข้อมูลด้านสุขภาพที่คนส่วนใหญ่มักเลือกที่จะเสิร์ชหาข้อมูลก่อนเข้าพบแพทย์เพื่อรับการรักษา ซึ่งข้อมูลจำนวนมากเหล่านั้นมักจะไม่ได้รับการยืนยันว่ามาจากหน่วยงานใด ส่วนใหญ่เป็นการบอกเล่าจากประสบการณ์ที่แต่ละคนเคยเจอมาก่อน ซึ่ง การพัฒนา RAKSA ขึ้นมาก็เพราะอยากจะแก้ไขในปัญหาตรงนี้

โดยออกแบบให้ RAKSA เป็นพื้นที่สำหรับให้คุณหมอที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเข้ามาให้ความรู้กับผู้บริโภคผ่านระบบที่พัฒนาขึ้น โดยสามารถดาวน์โหลดได้ทั้ง Android กับ iOS ขณะที่คนที่ต้องการรับคำแนะนำในการรักษาได้เข้ามาเจอกัน

ทั้งนี้ในกระบวนการ เป็นการให้คำปรึกษาในเบื้องต้น เมื่อเข้าสู่ระบบ จากนั้น หมอจะแนะนำแนวทางการรักษา กรณียาสามัญทั่วไปก็ซื้อร้านยาทั่วไป แต่ถ้าหากต้องการตรวจในระดับที่ลึกขึ้น อาทิ เอ็กซเรย์ จะเป็นส่วนที่ต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาล

ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้ตอบโจทย์ใครบ้างนั้น กวิน บอก ตอนนี้มีหมอประมาณ 40 คนในระบบซึ่งแยกความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน เช่น สูตินารีแพทย์ กุมารแพทย์ อายุรแพทย์ เป็นต้น ซึ่งการปรึกษาจะเป็นแบบเรียลไทม์ 15 นาที โดยผ่านการแชท, คุยเป็นเสียง และวิดีโอ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ใช้งาน 

หลังเปิดให้บริการ ประมาณ 4-5เดือน ระบบได้ให้คำปรึกษาคนไข้ไปแล้วกว่า 1,800 เคส ส่วนใหญ่เป็นแม่และเด็กที่่เข้ามาใช้บริการเยอะ โดยเฉพาะคนที่มีลูกเล็ก พ่อแม่มือใหม่ เวลาที่ลูกไม่สบายไม่รู้จะทำอย่างไร กรณีเกิดอาการผดผื่น เป็นต้น 

"บางช่วงเวลาจะเปิดให้รับคำปรึกษาฟรี แต่ในบางช่วงเวลาจะมีค่าบริการ Doctor Fee ซึ่งไม่ได้สูงหากเทียบกับค่าใช้จ่ายและเวลาในการเดินทางไปโรงพยาบาล

ปัจจุบัน RAKSA มีคนเข้ามาใช้บริการในระบบแล้ว 5,000 คน ซึ่งเป็นในแบบ B2C เรากับคนไข้ กับอีกส่วนก็มีในฝั่งคุณหมอที่เข้าร่วมบนแพลตฟอร์มนี้

"เราไม่ได้มีจุดประสงค์ทดแทน แต่เป็นส่วนเสริมของระบบสุขภาพในไทย เพื่อให้คนไข้รู้ว่าควรซีเรียสมากน้อยแค่ไหน ก่อนตัดสินใจไปโรงพยาบาล ด้วยการหาข้อมูลให้ตัวเองและรับคำแนะนำในการรักษาเบื้องต้น

โดยใช้เทคโนโลยี Mobile เพื่อลดความเหลื่อมล้ำการให้บริการด้านสาธารณสุข สร้างข้อมูลสุขภาพที่ดีใหักับคนไทย

เป้าหมายจากนี้ อยากเห็น คนไทย 5-10 ล้านคน รู้จัก RAKSA แล้วเป็นที่พึ่งของเค้าได้ในระดับหนึ่ง

ที่ผ่านมา กวิน บอก แผนงานพัฒนาไปได้ด้วยดี ตามแผนที่วางเอาไว้ ที่ต้องการเห็นจากนี้ คือ  ผลักดันระบบนี้ให้เป็นส่วนหนึ่งของแอพพลิเคชั่นที่คนไทยใช้ ถ้าคิดถึงด้านสุขภาพ (ไม่ต้องป่วยก็ได้) ให้นึกถึงเรา

...ด้านสาธารณสุขไทย เราซ่อมและเสริมได้

เส้นทางสายสตาร์ทอัพ

กวิน อัศวานันท์ เริ่มสั่งสมประสบการณ์ในการทำสตาร์อัพ ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการเรียนรู้และพัฒนาธุรกิจใหม่ๆ ในอีกด้านสามารถถ่ายทอดให้กับนิสิตในหลักสูตรปริญญาโทในหลักสูตรธุรกิจเทคโนโลยีและการจัดการนวัตกรรม (CUTIP) ในปัจจุบัน

หากมองย้อนไปผลงานเด่นๆได้แก่ 2556 – 2559 ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท Noonswoon Inc, กับผลงานรางวัลชนะเลิศ จากการแข่งขัน AIS Startups 2013ระดมทุนจำนวน 13,000,000 บาท (400,000 USD) จากนักลงทุน Venture Capitalistเช่น 500 Startups และ Golden Gate Ventures

ทั้งยังได้รับการคัดเลือกจากองค์กร e27 ให้เป็น 1 ใน 10 บริษัท Startups ที่น่าสนใจที่สุดในเอเชีย ปี 2013 (คัดเลือกจากกว่า 100 บริษัททั่วภูมิภาค)จนต่อมาบริษัทได้รับการติดต่อและซื้อกิจการโดยบริษัทมหาชนจากประเทศออสเตรีย

2560 – ปัจจุบัน ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้บริหารด้านเทคโนโลยี บริษัท Doctor Raksa จำกัด ร่วมก่อตั้งบริษัท Startups เพื่อสร้างระบบ Telemedicine ในประเทศไทย เพื่อให้ข้อมูลสุขภาพที่มีความน่าเชื่อถือ จากแพทย์ผู้เชียวชาญ