‘Baania’ คลังอสังหายุคข้อมูลเป็นใหญ่

‘Baania’   คลังอสังหายุคข้อมูลเป็นใหญ่

"Disrupt ตัวเองก่อนที่จะถูกคนอื่นมาเปลี่ยน"

อัญชนา วัลลิภากร ผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด มองย้อนถึงวันที่ตัดสินใจว่าต้องลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างแม้ว่าธุรกิจในขณะนั้น นิตยสารโฮมบายเออร์ไกด์ เชียงใหม่ และธุรกิจอีเวนท์ ยังคงไปได้ดีไม่มีสะดุด ทั้งด้านรายได้และการเติบโต

"สัญญาณที่ค้นพบจากการลงพื้นที่สำรวจโครงการ เห็นว่าลูกค้ามีพฤติกรรมเปลี่ยนเร็วมาก 95% เปรียบเทียบราคาในช่องทางออนไลน์ สมมติเราบอกว่าโครงการตั้งอยู่ห่างจากห้างเซ็นทรัล 10 กิโลเมตร แต่จะได้รับคำตอบกลับมาว่าห่างแค่ 8.5 กิโลเมตรเท่านั้น

เหมือนว่าทุกอย่างลูกค้าได้ค้นหาข้อมูลมาหมดแล้ว ส่วนใหญ่จะใช้เวลาค้นหาประมาณ 11 โครงการก่อนเข้าชมโครงการ เมื่อเข้าไปแล้วถ้าพนักงานขายให้คำตอบได้ไม่ดี ลูกค้าจะไม่กลับมาอีกเลย 

นั่นก็ทำให้รู้ว่าพฤติกรรมของผู้ที่ต้องการซื้อบ้านได้เปลี่ยนไปแล้ว และเปลี่ยนแรงด้วย" 

ทำให้ตัดสินใจเลยว่า ต้องเปลี่ยนก่อนที่จะถูก Disrupt 

เริ่มต้นจากศึกษาทั่วโลกนี้ว่าว่ามีอะไรบ้าง ก็พบว่า อเมริกามีแพลตฟอร์มในลักษณะนี้เช่นกันทำให้เริ่มคิดว่าในไทยควรต้องมีแบบนี้บ้าง หมายถึงทำหน้าที่เป็นเหมือน Google ของอสังหาริมทรัพย์ 

แบบว่า....เมื่อคิดถึงบ้าน คิดถึงบาเนีย 

แล้วก็พบว่า สิ่งสำคัญที่สุดของการทำแพลตฟอร์มที่ดีจริงๆ ต้องใช้บิ๊กดาต้า ต้องมีข้อมูลย้อนหลัง และเอาข้อมูลนั้นมา Analysis ซึ่ง อัญชนา บอก ประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องนี้ อย่างเช่นเมื่อถามข้อมูลโครงการ ราคาขายจะเป็นราคาที่ใช้กู้แบงก์ แต่เมื่อเช็คกับกรมที่ดินกลับเป็นอีกราคาอย่างนี้ทำให้ต้องเริ่มหาแกนว่าจะเก็บบิ๊กดาต้ากันอย่างไรและตรงไหน

เมื่อ “ข้อมูล”คือหัวใจ แต่การจะทำให้ Baania เคลื่อนตัวได้ย่างที่ควรจะเป็นต้อง “เปลี่ยน”  ตั้งแต่วิธีคิดวิธีการทำงาน ไปจนถึงในเชิงกายภาพด้วยการปรับสถานที่ทำงานจากออฟฟิศแบบเดิมๆ ที่คุ้นตามาเป็นเปิดโล่ง สร้างบรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อการริเริ่มไอเดียสร้างสรรค์และการทำงานเป็นทีม

รวมถึงปรับกระบวนการการทำงาน ที่ อัญชนา บอกการทำงานไม่เหลือคราบเดิมจากที่เคยทำงานมา พร้อมกับมีพาร์ทเนอร์ใหม่เข้ามาเสริมเพื่อทำให้ทีมแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

“เราวางตัวเองว่า  ไม่ใช่บริษัทมีเดีย แต่เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่ซัพพอร์ตอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์”

การจะไปถึงจุดนั้นได้ ต้องเริ่มที่การทำงานใน 2 ส่วนหลัก ได้แก่ “งานหลังบ้าน” และ “หน้าบ้าน”

“หลังบ้าน” เป็นการจัดทีมและโครงสร้างการทำงานใหม่ หากจะเปลี่ยน ต้องเปลี่ยนตั้งแต่วิธีคิด และกระบวนการทำงานใหม่

"เมื่อสองปีที่แล้ว วันนั้นมีทีมอยู่ 20 คนก็ต้องค่อยๆ จูนความคิด แล้วอธิบายให้เห็นในสิ่งที่จะเดินไปข้างหน้า จากนั้นก็เติมเลือดใหม่เข้ามา  ในช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนั้น ได้แต่บอกไปว่าขอให้เชื่อ เพราะพี่ตั้งใจทำเรื่องนี้จริงๆ

เพราะเชื่อว่า การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งจะทำให้ดีขึ้น อย่างน้อยก็ 50:50  แต่หากไม่ทำอะไรโอกาสคงเป็นศูนย์"

“เราอยู่ในธุรกิจอสังหา อีกคนคุณวีระวัฒน์ เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี และมีประสบการณ์ทำงานอยู่ในคอปอเรทใหญ่มาก่อน เป็นส่วนผสมที่ดีในแง่การทำงาน ถึงวันนี้รู้สึกดีใจมากที่ได้มายืนอยู่ตรงนี้ เพราะว่าเราหลายๆ คนรู้ว่าอาจจะไม่มีวันนี้ก็ได้ ถ้าเราไม่เปลี่ยน แต่ก็ไม่รู้ว่าจะไปต่อได้ถึงไหน แต่ก็เชื่อว่ามาถูกทิศทางก็ต้องพยายามเดินต่อไป”

ปัจจุบันทีมมีการขยายเพิ่มมากขึ้น ประกอบด้วย ทีมดาต้า ดีเวลลอปเม้นท์ 50 คน เก็บข้อมูลจาก 7 แหล่งข้อมูลแล้วมาทำการวิเคราะห์ ข้อมูลที่ถูกต้องที่สุด จากนั้นเอาเข้าระบบ นอกจากนี้ยังมีทีมในส่วนของ Data scientist  และ Data insight คนที่จะเอาข้อมูลชุดที่ Data scientist ทำขึ้นมาวิเคราะห์เป็นคอนเทนท์

"ในภาพรวม โครงสร้างบริษัทเราเป็นเทคโนโลยี แบ่งป็น กลุ่มดาต้า , ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง, คอนเท้นท์ และ บิสิเนส คอนเซาท์  ตอนนี้เรามีทีมประมาณ 100 คน โดยยังมีงานบางส่วนที่ Outsource ราว 400 คนที่เป็นบริษัทสากล ทำงานร่วมกันในการเซอร์เวย์

เพราะเชื่อว่าโลกอนาคตจะเชื่อมกันด้วยความเป็นโปรเฟสชันนอลของกันและกัน"

“หน้าบ้าน” นำเสนอในสิ่งที่ “ผู้ซื้อบ้าน” และ อุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์ต้องการ 

เริ่มที่การวางตัวเองไว้ชัดโดยหน้าที่ของ Baania คือการเป็นมาร์เก็ตเพลส ข้อมุลโครงการที่ละเอียดมาก เพราะบ้านเป็นสินค้าราคาสูง แค่คนซื้อประสบการณ์น้อย ต้องใช้เวลาการตัดสินใจ ใช้เงินทั้งหมดของชีวิต ซึ่งข้อมูลที่จัดเก็บมาและนำเสนอจะมีข้อมูลที่คนอื่นยังทำไม่ได้เลย นั่นประวัติราคา และแนวโน้ม 

คนที่ซื้อบ้านโครงการนี้จะรู้ว่าแถวนี้ขายอยู่เท่าไหร่ อนาคตเป็นอย่างไร

สองเข้าถึงข้อมูลอย่าง Price map ทำเลนี้บ้านราคาเป็นอย่างไร โดยใช้ทีมงาน GIS และผังเมืองทำการสำรวจในแต่ละพื้นที่

สาม คิดว่าสำคัญสำหรับคนซื้อบ้าน คือ Compare ที่ผ่านมา การซื้อรถมีข้อมูลให้เปรียบเทียบราคา แต่บ้าน สินค้าที่มีราคาสูงกว่ามากลับไม่มีระบบมาสนับสนุนเพื่อการตัดสินใจ

ในส่วนของฟีเจอร์ใหม่ๆ มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพราะว่าธุรกิจดิจิทัล เป็นธุรกิจบนความเปลี่ยนแปลง

หนึ่งใน ฟีเจอร์ใหม่ คือ เป็นการประมาณราคาบ้าน Bestimate อัญชนา ยกตัวอย่าง ถ้าเรามีบ้าน อยากรู้ราคาบ้าน ถ้าเข้าฟีเจอร์ แล้วกรอกข้อมูล ระบบจะมี 40 อัลกอริทึ่ม คำนวณว่าบ้านที่ถามมา ราคาเท่าไหร่ ช่วงราคา ระบบจะบอกได้ทำให้เป็นการสร้างความความเชื่อมั่นในการซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ 

"เห็นได้ว่า รอบการซื้อบ้านในไทยยาวมาก เพราะไม่มีดาต้า แต่ถ้ามีบาเนียแล้วควรจะทำให้รอบการตัดสินใจซื้อบ้านเร็วขึ้น ที่ผ่านมาใช้เวลาค้นหาบ้าน 3-6 เดือน ในอเมริกา 30 วัน

ถ้าทำให้สั้นลงเหลือ 30-45 วัน อุตสาหกรรมนี้จะหมุนรอบได้เร็วขึ้น

เป็นการคิดที่ใหญ่นิดนึงแต่ก็ทำให้อุตสาหกรรมนี้ได้ประโยชน์โดยรวม"

ในอีกมุมของการทำงาน Baania มองว่า อุตสาหกรรมและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ใช้ประโยชน์อย่างไร เพราะบ้านเป็นสินค้าใหญ่ไม่สามารถยกไปให้ผู้บริโภคดูได้ ดังนั้นจึงต้องมีการสื่อสาร ทำให้มองว่า เราน่าจะทำให้ต้นทุนการสื่อสารลดลงได้โดยให้ผู้บริโภคมารวมอยู่ในจุดเดียว แล้วตอบโจทย์เป็นรายบุคคล

“ตอนนี้นักพัฒนาอสังหารายใหญ่ 10 รายใช้บริการก็ถือว่าเรามาถูกทางแล้ว เพราะในไทยยังไม่เคยใช้บิ๊กดาต้าในการทำอสังหา บางทำเล จัดเก็บข้อมูลย้อนหลัง 3-5 ปีสำหรับกรุงเทพฯ เช่น 3 พันโครงการ แอคทีฟ 1,600 โครงการ มีจำนวนกี่ยูนิต ซึ่งเป็นประโยชน์ต่ออตุสาหกรรม จากที่เคยต่างคนต่างทำ 

วันนี้เห็นปัญหาแล้วอาทิ คอมมูนิตี้มอลล์ ในบางทำเลที่ล้นเกินความต้องการ ปัญหาคือดาต้า สร้างแล้วไปต่อไม่ได้"

เซอร์วิสในส่วนนี้ทำงานโดย Market Analysis ให้กับนักพัฒนา โดยแบ่งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ออกเป็น 300 ย่าน  อัญชนา บอกที่แบ่งเช่นนั้นเพราะซื้อบ้านไม่ได้ซื้อเป็นจังหวัด เขต แต่จะมองถึงแต่ละย่านๆ ว่าเป็นอย่างไร 

ทำให้เริ่มจัดเก็บข้อมูลเป็นย่านๆ แนวสูง แนวราบเท่าไหร่ ทำเลมีแนวโน้มเติบโตอย่างไร จากนั้นวิเคราะห์ออกมาในขั้นแรกทำให้ผู้บริโภคอ่าน แต่สำหรับผู้ประกอบการจะเป็นข้อมูลที่ลึกลงไป ซึ่งจะเป็นการลดต้นทุนเรื่องการวิเคราะห์ตลาด

ข้อดีคือ ดีเวลลอปเปอร์ที่ทำงานกับเราจะรู้เลยว่า ผู้ซื้อชอบแบบบ้านแบบไหน รวมถึงข้อมูลพฤติกรรมอื่นๆ ทำให้เห็นถึง Future demand ของคนกรุงเทพฯ ว่าค้นหาบ้านย่านไหน ราคา  แบบบ้านใดที่คนค้นหามากที่สุด"

ประโยชน์จะเกิดในสองฝั่ง ทั้งผู้ซื้อบ้าน และดีเวลลอปเปอร์ โดยมี Baania อยู่ตรงกลาง

“คนจะเข้าใจว่า เราเหมือนทำให้กับรายใหญ่ แต่จริงๆ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการรายกลาง รายเล็กที่ไม่มีงบในการทำวิจัย รวมๆ แล้วเป็นการทำให้ภาพรวมอุตสาหกรรมดีขึ้น”

การทำงานในสายบิ๊กดาต้าในช่วงที่ผ่านมาเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ โดย Baania ได้รับการระดมทุนจาก 500 TukTuks ไปในปีที่ผ่านมา แล้วครั้งนี้เป็นอีกรอบของการขยายตัวทางธุรกิจโดยการรับเงินระดมทุนจาก 4 พันธมิตรได้แก่ กรุงศรี ฟินโนเวต บริษัทร่วมลงทุนในเครือกรุงศรี ร่วมกับบริษัท ปตท.จำกัด (มหาชน) บริษัท แอดเวนเจอร์ ในเครือเอสซีจี และ500 TukTuks ร่วมลงทุนในบริษัท บาเนีย (ประเทศไทย) จำกัด

“การลงทุนในรอบนี้จะเสริมสร้างความแข็งแกร่งในการขยายธุรกิจในอนาคต”

หลังจากการระดมทุนครั้งแรกในปี 2560 Baania พัฒนาฐานข้อมูลอสังหาริมทรัพย์ โดยมีข้อมูลโครงการครอบคลุม 15 จังหวัด ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ภาคเหนือ ภาคอีสาน ภาคตะวันออก กว่า 13,622 โครงการ มีบ้านอยู่ในระบบ 2,265,214 หลัง และแบบบ้าน 27,291 แบบ 

ที่ผ่านมา มีผู้เข้าใช้งานในระบบกว่า 4,000,000 ราย ทำให้มีข้อมูลในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคแล้วกว่า 700 ล้าน Data Point

สำหรับการระดมทุนในปี 2561 จะเข้าสู่การขยายการพัฒนาฐานข้อมูลโครงการอสังหาริมทรัพย์ให้ครบ 26 จังหวัด ในภาคใต้ ภาคตะวันตก โดยมีเป้าหมายเพิ่มผู้ใช้บริการในระบบเป็น 7,000,000 คน 

รวมทั้งใช้ไปกับการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ทั้ง Search by Lifestyle ระบบการค้นหาที่อยู่อาศัยตามพฤติกรรมการใช้ชีวิต และ Baania Pulse: Deep Social Listening สำหรับธุรกิจอสังหาริมทรัพย์

ยังมองถึงตลาดในต่างประเทศ เบื้องต้นเตรียมที่จะแปล 10 ภาษาสำคัญๆ พร้อมคุยกับพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศเอาไว้แล้ว โดยมองว่าเป็นโอกาส

“Baania เป็นบริษัทเทคโนโลยีที่นำแนวคิดในการพัฒนาโปรดักท์อย่างรวดเร็ว และเติบโตอย่างรวดเร็วในแบบสตาร์ทอัพเข้ามาใช้ในการทำงาน เรื่องการเติบโตมีความจำเป็น แต่การสร้างงาน สร้างทีมจะคิดอย่างยั่งยืน” อัญชนา กล่าว