กรธ.ชี้คำสั่ง53/60กระทบพรรคเล็ก ไร้คนยืนยันต้องยุบพรรค

กรธ.ชี้คำสั่ง53/60กระทบพรรคเล็ก ไร้คนยืนยันต้องยุบพรรค

โฆษกกรธ. ชี้คำสั่ง53/2560 กระทบพรรคเล็ก ไร้คนยืนยันต้องยุบพรรค ประเมินคนละเรื่องกับ ไพรมารี่โหวต แจงแทนคสช.ใช้ม.44 แก้กฎหมายกระทบบทหลักรธน. เพื่อความรวดเร็วขั้นตอนออกกฎหมาย

เมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2561 นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) กล่าวถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่มีมติต่อคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ 53/2560 ซึ่งแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ.2560 ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบของรัฐธรรมนูญ ว่า ตนมีความเห็นสอดคล้องกับคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะประเด็นที่ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นตัวแทนของพรรคการเมืองยื่นต่อศาล ที่เกี่ยวกับสถานะสมาชิกพรรคการเมือง ข้อเท็จจริงหากไม่มีคำสั่งที่ 53/2560 ความของพ.ร.ป.พรรคการเมือง กำหนดให้พรรคต้องตรวจสอบ และ ปรับปรุงฐานข้อมูลของสมาชิกพรรคตามกฎหมายใหม่ แต่เมื่อมีคำสั่งที่ 53/2560 ออกมาภายหลังพร้อมกับกำหนดเวลาจึงไม่ใช่ประเด็นที่จะสร้างผลกระทบใดกับพรรคการเมือง

นายอุดม กล่าวด้วยว่าที่หลายฝ่ายมองว่าคำสั่งที่ 53/2560 คือ การรีเซ็ทสมาชิกพรรค และอาจมีผลกระทบกับการเลือกตั้งขั้นต้นเพื่อหาผู้สมัคร ส.ส. หรือ ไพรมารี่โหวตนั้น ถือเป็นคนละประเด็น ทั้งนี้ส่วนตัวตนมองว่าเรื่องจำนวนสมาชิกที่ใช้เป็นฐานทำไพรมารี่โหวต สำหรับพรรคการเมืองขนาดใหญ่ ไม่มีปัญหาเพราะมีสมาชิกพรรคที่ยืนยันเป็นจำนวนที่มากพอ แต่หากจะมีปัญหา คือ พรรคการเมืองขนาดเล็กเท่านั้น เช่น ก่อนมีกฎหมายใหม่ พรรคมีสมาชิกหลักร้อย แต่เมื่อต้องยืนยันสมาชิกพรรคตามกฎหมายใหม่อาจไม่มีผู้ใดยืนยันความเป็นสมาชิกพรรค ซึ่งจะส่งผลให้สิ้นสภาพความเป็นพรรคการเมืองและไม่สามารถส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งได้ตามกฎหมายใหม่

ประเด็นที่นักการเมืองยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมมองว่าเป็นเพียงการสร้างประเด็นทางการเมือง กรณีที่หลายฝ่ายมองว่า คสช. ไม่ควรใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพราะจะกระทบกับบทหลักของรัฐธรรมนูญ เรื่องสิทธิเสรีภาพ นั้น ส่วนตัวของผม มองว่าอาจจะมองเช่นนั้นได้ แต่ต้องทำความเข้าใจว่ารัฐบาลคสช. เป็นรอยต่อก่อนที่มีรัฐบาลใหม่ ดังนั้นการตรากฎหมายบางครั้งอาจมีเงื่อนไขที่ใช้เวลา ซึ่งมาตรา 44 เป็นเครื่องมือตัดสินใจ และเป็นกลไกทำให้การออกออกฎหมายฉับไวมากขึ้น นายอุดม กล่าว