แถลงการณ์686องค์กรฯต้านสารพิษ จี้'นายกฯ'สั่งทบทวนมติคกก.วัตถุอันตราย

แถลงการณ์686องค์กรฯต้านสารพิษ จี้'นายกฯ'สั่งทบทวนมติคกก.วัตถุอันตราย

เปิดคำแถลงการณ์ "686องค์กรฯต้านสารพิษ" ชุมนุมหน้าทำเนียบฯ จี้ "นายกฯ" สั่งทบทวนมติคกก.วัตถุอันตราย กรณีพาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรง ออกแถลงการณ์เรื่อง ขอให้ทบทวนมติและกระบวนการพิจารณาเพื่อยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส

กราบเรียน ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ตามที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้มีการประชุมครั้งที่ ๓๐-๑/๒๕๖๑ และมีการพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย ๓ ชนิด ได้แก่ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต เมื่อวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ ที่ผ่านมา และมีมติไม่ยกเลิกการใช้วัตถุอันตรายทั้ง ๓ ชนิด โดยให้เหตุผลว่าข้อมูลผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพยังไม่เพียงพอ ซึ่งขัดแย้งกับผลการพิจารณาของคณะกรรมการหลายชุดก่อนหน้านี้ รวมทั้งความเห็นของประชาคมวิชาการและมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ ในการนี้เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงซึ่งเป็นเครือข่ายภาคประชาชน 686 องค์กร ที่ได้ติดตามสถานการณ์เรื่องนี้และสนับสนุนมติของกระทรวงสาธารณสุข มีข้อสังเกตต่อกระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายและการทำงานของคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตราย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ดังนี้

1_1

๑) ในขณะที่กรมวิชาการเกษตรขอปรึกษาคณะกรรมการวัตถุอันตรายในประเด็นผลกระทบต่อสุขภาพ เพื่อควบคุมสารทั้ง ๓ ชนิด แต่การแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจพิจารณาการควบคุมวัตถุอันตรายฯ กลับเลือกตัวแทนจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และอดีตข้าราชการกระทรวงเกษตรฯถึง ๔ คน และอีก ๔ คนเลือกจากผู้ที่แสดงจุดยืนสนับสนุนกระทรวงเกษตรฯ จากคณะกรรมการที่มีจำนวน ๑๒ คน ซึ่งล้วนแต่ไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญด้านผลกระทบต่อสุขภาพ

๒) อนุกรรมการเฉพาะกิจฯดังกล่าวใช้ข้อมูลเก่าล้าสมัย เพื่อโน้มน้าวให้มีการใช้สารพิษร้ายแรงดังกล่าวต่อไป โดยเพิกเฉยต่อข้อมูลเชิงประจักษ์และรายงานใหม่ๆเป็นจำนวนมาก จนกระทั่งเครือข่ายนักวิชาการจากหลายสถาบัน เช่น สถาบันวิจัยจุฬาภรณ์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยนเรศวร ต้องจัดเวทีให้ข้อเท็จจริงทางวิชาการ

๓) กระบวนการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตรายในวันที่ ๒๓ พฤษภาคม ๒๕๖๑ มีกรรมการอย่างน้อย ๓ คนมีส่วนได้เสียกับสมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แต่กลับไม่มีการแสดงการมีส่วนได้เสียและไม่มีการสละสิทธิ์ลงคะแนน ซึ่งอาจขัด พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๒ วรรค ๒ (เอกสารแนบ ๖)

เครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่มีอันตรายร้ายแรงจึงขอกราบเรียน ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีได้โปรดพิจารณาบัญชาให้มีการดำเนินการ ดังนี้

2_2

๑) ให้คณะกรรมการวัตถุอันตรายทบทวนมติ และพิจารณายกเลิกพาราควอตและคลอร์ไพริฟอส ในเดือนธันวาคม ๒๕๖๒ ตามกรอบเวลาที่กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอไว้ โดยกระบวนการพิจารณาข้อมูลและลงมติต้องไม่มีผู้มีส่วนได้เสียเข้าร่วม เพื่อให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.วัตถุอันตราย พ.ศ. ๒๕๓๕ มาตรา ๑๒ วรรค ๒ ใช้ข้อมูลที่ทันสมัย เป็นกลางทางวิชาการ และมาจากหน่วยงานที่มีความเชียวชาญโดยตรง ได้แก่ ผลการพิจารณาของกระทรวงสาธารณสุข (เอกสารแนบ ๑ และ ๓) คณะกรรมาธิการการสาธารณสุข สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (เอกสารแนบ ๔) และข้อมูลจากเครือข่ายประชาคมวิชาการ (เอกสารแนบ ๕) ซึ่งเพียงพอต่อการพิจารณายกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอส เนื่องจากเป็นเหตุผลที่สอดคล้องกับ ๕๓ ประเทศที่ยกเลิกการใช้พาราควอตไปก่อนหน้านี้ และเป็นไปตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (เอกสารแนบ ๗) นำประเทศมุ่งสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน

๒) ให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการศึกษาหาวิธีการทดแทน ตามมติของสภาเกษตรกรแห่งชาติ (เอกสารแนบ ๒) เพื่อปกป้องคุ้มครองสุขภาพของเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งนี้จากการสำรวจของเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช พบว่า เกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจสำคัญ ได้แก่ ข้าว อ้อย ข้าวโพด ปาล์มน้ำมัน ยางพารา และมันสำปะหลัง ร้อยละ ๖๓ ไม่ได้ใช้พาราควอตในการกำจัดวัชพืช นั่นหมายถึงมีสารกำจัดวัชพืชชนิดอื่นและวิธีการในการจัดการวัชพืชที่มีประสิทธิภาพมากกว่าพาราควอตอยู่แล้ว หากแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องยังไม่ได้รวบรวมองค์ความรู้เหล่านี้มาเผยแพร่ในวงกว้าง

3_2

๓) ในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน ก่อนจะยกเลิกการใช้พาราควอตและคลอร์ไพริฟอสในปี ๒๕๖๒ หากพบว่ามีผลกระทบต่อต้นทุนของเกษตรกร เสนอให้กระทรวงการคลังศึกษาและจัดเก็บภาษีจากสารเคมีกำจัดศัตรูพืชที่มีอันตรายร้ายแรง มาใช้ในการเยียวยาผลกระทบและสนับสนุนให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิธีจัดการวัชพืชที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะลดผลกระทบจากการถูกกีดกันทางการค้าจากความไม่ปลอดภัยของสารพิษตกค้าง การละเมิดสิทธิเกษตรกรที่ใช้สารพิษที่อันตรายร้ายแรง ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยสามารถแข่งขันได้ในตลาดโลกในระยะยาว

จึงกราบเรียนมาเพื่อ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรีโปรดพิจารณาดำเนินการ เพื่อปกป้องสุขภาพของเกษตรกร ผู้บริโภค ป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และประโยชน์สุขของประชาชนไทยทั้งประเทศ