กห.โต้ข่าวซื้อ 'ดาวเทียมจารกรรม' แย้มอาจได้ใช้ฟรี-ย้ำไม่มีละเมิดสิทธิ์

กห.โต้ข่าวซื้อ 'ดาวเทียมจารกรรม' แย้มอาจได้ใช้ฟรี-ย้ำไม่มีละเมิดสิทธิ์

กห.โต้ข่าวเตรียมซื้อ “ดาวเทียมทหาร” มูลค่าถึงกว่า 9 หมื่นล้านบาท ซึ่งอาจเป็น “ดาวเทียมจารกรรม” ตามที่เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้มีการตรวจสอบก่อนหน้านี้

ที่ประชุมสภากลาโหม เมื่อวันพุธที่แล้ว (30 พ.ค.) มีประเด็นหารือเกี่ยวกับการจัดหา “ดาวเทียมด้านความมั่นคง” มาใช้ทดแทนดาวเทียมไทยคมที่กำลังจะหมดสัญญาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ซึ่งเป็นไปตามยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศ พ.ศ.2561-2570 หรือแผน 10 ปีด้านความมั่นคง

แต่เมื่อมีข่าวเผยแพร่ออกไป กลับมีข้อมูลเพิ่มเติมจากบางฝ่าย นำเสนอผ่านทางเว็บไซต์ และแถลงการณ์ของ นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย สรุปได้ว่า กระทรวงกลาโหมเตรียมซื้อดาวเทียม 112 ดวง มูลค่า 9.1 หมื่นล้านบาท และอาจถูกสหรัฐหลอก เพราะอาจเป็นดาวเทียมจารกรรม สามารถถ่ายภาพแม้แต่การการใช้โทรศัพท์มือถือของประชาชนได้ว่าโทรหาใคร ซึ่งถือว่าละเมิดสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล และยังไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา แต่มีคณะบุคคลไปตกลงเจรจาว่าจะขอซื้อแล้ว ถือว่าขัดรัฐธรรมนูญ

จากข่าวที่ออกมา ทำให้ล่าสุดวานนี้ (4 มิ.ย.) พล.อ.ธารไชยยัตน์ ศรีสุวรรณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (ผบ.ทสส.) ออกมาชี้แจง โดยเฉพาะในประเด็นที่อ้างว่าจะมีการซื้อดาวเทียมจารกรรม โดยบอกว่า คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่ในเรื่องของดาวเทียมถือว่ามีประโยชน์สำหรับประเทศชาติ ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการวิจัยต่างๆ ที่สำคัญดาวเทียมที่ประเทศไทยเช่าอยู่จะหมดอายุสัญญาในปี 2564 ที่ผ่านมาประเทศไทยมีโครงการพัฒนาดาวเทียมมานานหลายสิบปีแล้ว ดังนั้นจึงมีแนวคิดในเรื่องการทำข้อพิจารณาความเหมาะสมในเรื่องที่ไทยจะมีเป็นของตัวเอง หรือร่วมทุนกับเอกชน ซึ่งไม่ใช่ดาวเทียมทางทหารอย่างเดียว

ผู้สื่อข่าวถามว่า เป็นเรื่องจำเป็นที่จะต้องมีดาวเทียมใช้เองใช่หรือไม่ ผบ.ทสส. กล่าวว่า ถ้ามีได้ก็จำเป็นต้องมี สมควรมี ถือเป็นการพัฒนาเทคโนโลยี เพราะสังคมโลกเปลี่ยนไปมาก มีเพื่อให้เกิดความทันสมัย เป็นประโยชน์ และใช้งานได้จริง

"ข้อกังวลเรื่องการจารกรรมข้อมูลนั้น คิดว่าคงไปไม่ถึงขั้นนั้น เพราะทุกระบบ ทั้งระบบป้องกัน ระบบใช้ประโยชน์ สิ่งเหล่านี้มีข้อจำกัดในตัว ไม่ใช่ว่าทำอะไรได้ทุกอย่างทั้งหมด" ผบ.ทสส.ระบุ

สำหรับความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับต่างชาติ อาจเป็นการเช่าหรือไปร่วมทุนในการสร้างดาวเทียมนั้น พล.อ.ธารไชยยัตน์ อธิบายว่า โดยปกติเป็นการเช่าจากบริษัทเอกชนหรือต่างชาติอยู่แล้ว แต่ครั้งนี้จะทำในทางกลับกัน คือไม่ต้องเช่า แต่เป็นการร่วมมือลงทุนร่วมกัน ซึ่งตรงนี้ยังอยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ยังไม่ได้ข้อสรุป ยังเป็นมุมของกระทรวงกลาโหม ซึ่งทางกองทัพอากาศก็ได้มีการวิจัยและพัฒนาไปไกลพอสมควร ในเรื่องของความเป็นไปได้

"ขอย้ำอีกครั้งว่าในสภากลาโหมยังไม่ได้มีข้อตกลงใดๆ และยืนยันว่าถ้าจะได้ใช้ ก็จะเป็นการใช้ฟรี สิ่งที่ทำขึ้นมาก็จะเป็นการลงทุนร่วม ทำให้เราประหยัดงบประมาณ คือให้เอกชนลงทุน แต่เราก็ได้ใช้ประโยชน์ ทำเองใช้เอง ถ้าพูดว่าเรื่องจารกรรมมันก็เกินไป ถ้าทำแบบนั้นต้องมีพลังอำนาจทางการเงินและเทคโนโลยีที่สูงมาก แต่เรายังไปไม่ถึงตรงนั้น"

ด้าน พลโท คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ชี้เเจงว่า ในฐานะที่กระทรวงกลาโหมเป็นผู้ใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมมาประมาณ 30 ปี สิ่งที่กระทรวงกลาโหมใช้ก็คือ เพื่อการสื่อสาร เพื่อการถ่ายภาพ สำรวจ และการเฝ้าระวังห้วงอวกาศ แต่ที่ใช้มากๆ ก็คือการสื่อสาร ซึ่งที่ประชุมสภากลาโหมเห็นว่า ในฐานะที่เป็น user หรือ "ผู้ใช้" มาตลอด ก็เห็นควรว่าจะต้องมีการพัฒนาจาก user มาเป็น operator ก็คือเป็น "ผู้ควบคุมการปฏิบัติ" ซึ่งก็เป็นแนวคิดที่จะต้องพัฒนาบุคลากรมารองรับ การเตรียมคนเพื่อเป็นสถานีควบคุม

นอกจากนี้จะต้องทำแผนยุทธศาสตร์ด้านอวกาศของกระทรวงกลาโหม ซึ่งจะสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ออกมา ขณะนี้กำลังทำ "แผนแม่บท" เตรียมพร้อมเรื่องของกิจการอวกาศ แต่ยังไม่ไปถึงขั้นที่ว่าจะมี "ดาวเทียมทหาร" และก็ไม่มีแนวคิดเรื่องของ "ดาวเทียมจารกรรม" อย่างแน่นอน เพราะฉะนั้นตัดประเด็นนี้ไปได้เลย

ทั้งนี้ ดาวเทียมที่ใช้เรื่องของการสื่อสาร มีดาวเทียมไทยคม ซึ่งจะหมดสัมปทานปี 2564 จากนั้นรัฐก็ต้องพิจารณาว่าที่ผ่านมาเราใช้ดาวเทียมของเอกชนล้วนๆ แต่ต่อไปนี้หลังจากปี 2564 ไปแล้ว เราควรมีดาวเทียมประเภทไหนอยู่บ้าง จะเป็นดาวเทียมที่ภาครัฐร่วมเอกชน หรือจะทำเหมือนเดิม คือให้เอกชนยิงขึ้นไป แล้วเราก็ใช้เหมือนเดิม หรือจะมีดาวเทียมของรัฐเอง ซึ่งถ้าจะมีดาวเทียมของภาครัฐ ก็จะใช้ครอบคลุมทุกภารกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความมั่นคง เศรษฐกิจ การสำรวจทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม ก็จะใช้ร่วมกัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ การศึกษาเพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสม ความคุ้มค่า และประโยชน์ที่จะใช้ให้ครอบคลุมทุกภารกิจ

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าดาวเทียมนี้จะเป็นดาวเทียมของประชาชน ดาวเทียมของภาครัฐก็คือภาษีของประชาชน ดังนั้นการใช้ประโยชน์ก็ต้องใช้เพื่อประโยชน์ประชาชนทั้งหมด คงเป็นไปไม่ได้ที่จะเอาดาวเทียมมานั่งจารกรรมดูเรื่องของการถ่ายภาพโทรศัพท์มือถือว่าใครจะโทรหาใคร คงไม่ไปก้าวล่วงถึงการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนอย่างแน่นอน

"ยืนยันได้เลยว่าไม่ได้ไปจารกรรมใคร การใช้งบประมาณตรงนี้รัฐก็ต้องพิจารณาใช้อย่างคุ้มค่า คงไม่ไปเบียดเบียนกับงบอื่นจนทำให้เกิดภาวะเศรษฐกิจที่ลำบาก จึงไม่อยากให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลไปในทางที่ทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด หรือตื่นตระหนก หรือไปเชื่อมโยงกับต่างชาติ จึงต้องระวังกระทบความสัมพันธ์กับประเทศอื่นด้วย การจะนำเสนออะไรออกไป อยากให้ใช้ข้อมูลของภาครัฐ เพราะสิ่งที่ภาครัฐให้คือข้อมูลที่ถูกต้องไม่ปิดบัง"

ส่วนข่าวที่ออกมาว่า ต้องใช้เงินกว่า 2 หมื่นล้านบาทนั้น โฆษกกระทรวงกลาโหม ยืนยันว่า ยังไม่มีแนวคิดที่จะมีดาวเทียมทหาร ไม่มีแนวคิดใช้ในภารกิจจารกรรม เรายังไม่พัฒนาไกลไปถึงขนาดนั้น วันนี้เเค่เปลี่ยนจากผู้ใช้ มาเป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการเอง ก็ต้องพัฒนาคนไปอีกพอสมควร

สำหรับดาวเทียม THEIA ที่มีข้อมูลออกมาทางสื่อบางแขนงนั้น พล.ท.คงชีพ กล่าวว่า เป็นเพียงการนำเสนอของหลายๆ ส่วน เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาเท่านั้น

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ดาวเทียม THEIA มาจากโครงการ Thailand Satellites Data Information Processing Center เป็นการร่วมวิจัยและพัฒนาการใช้ประโยชน์จากดาวเทียม THEIA ซึ่งจะเป็นประโยชน์ทางด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจ และยังเพิ่มศักยภาพเพื่อรองรับตามนโยบาย Thailand 4.0 ในลักษณะความร่วมมือวิจัยและพัฒนาผ่านทางหน่วยงานวิจัยของไทย เป็นไปตามพันธกิจของกระทรวงกลาโหมในการพัฒนา เสริมสร้าง และบูรณาการขีดความสามารถด้านกิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ เพื่อจัดทำร่างยุทธศาสตร์กิจการอวกาศเพื่อการป้องกันประเทศ กระทรวงกลาโหม พ.ศ. 2561-2570