กระแสบอลโลกรัสเซีย เม็ดเงินที่วิ่งสวนทางผู้สนับสนุน

กระแสบอลโลกรัสเซีย เม็ดเงินที่วิ่งสวนทางผู้สนับสนุน

หากคุณจะขายแบรนด์ "ฟีฟ่า" ถ้ามีอักษรทั้งสี่ตัวนี้ ทุกอย่างก็จะดูเลวร้ายไปหมด

ต้องยอมรับว่า ในบรรดาการแข่งขันกีฬา ไม่มีทัวร์นาเมนต์ไหนที่จะทำให้คนทุกเพศทุกวัยหันมาสนใจได้เท่ากับ มหกรรมฟุตบอลโลก ซึ่งเวียนมาจัดทุก 4 ปี และ เวิลด์ คัพ 2018 ฉบับรัสเซีย คาดว่าจะยังคงได้รับความสนใจจากทั่วโลกเช่นเคย แต่ท่ามกลางกระแสที่เกิดขึ้นกลับพบว่ายังซ่อนปัญหาที่ข้องเกี่ยวกันอย่างเลี่ยงไม่ได้

ถ้าถามความพร้อมของเจ้าภาพ รัสเซีย คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้นรอแค่พิธีเปิดสนามอย่างเป็นทางการเท่านั้น แต่หากลองไปถาม สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า ในข้อสงสัยเดียวกันก็ไม่แน่ว่าคำตอบจะเหมือนกับข้างต้นหรือไม่ โดยเฉพาะเรื่องของสปอนเซอร์
ฟีฟ่า พบว่าการดึงดูดให้ผู้สนับสนุนหรือสปอนเซอร์รายใหญ่หันมาให้ความสนใจ ฟุตบอลโลกหนนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างยากและมีหลายปัจจัยที่เป็นอุปสรรค แถมตัวแปรเรื่องระยะเวลายังตีกรอบให้พวกเขาต้องเร่งหาผู้สนับสนุนก่อนที่ทัวร์นาเมนต์กีฬาที่มีสเกลใหญ่ขนาดนี้จะเปิดฉากขึ้น

ทั้งที่แฟนลูกหนังกำลังจดจ่อและรอคอยการมาถึงของฟุตบอลโลก แต่สิ่งที่แตกต่างคือ ฟีฟ่า กลับพบว่าตัวเองกำลังเจอปัญหาใหญ่ในการเร่หาผู้สนับสนุนจนอดสงสัยไม่ได้ว่าทำไมทัวร์นาเมสนต์ที่ได้รับความนิยมมากที่สุดแบบนี้ ถึงได้หาสปอนเซอร์ยากเย็นเหลือเกิน

ปัญหาคอร์รัปชัน

จากการดำเนินงานในปี 2016 ปรากฎว่า ฟีฟ่า ขาดทุนสูงถึง 369 ล้านดอลลาร์ อีกทั้งยังเสียสปอนเซอร์เดิมไปถึง 34 ราย ซึ่งสปอนเซอร์เหล่านี้ คือผู้สนับสนุนหลักในการแข่งขันฟุตบอลโลก

สาเหตุสำคัญที่ทำให้องค์กรลูกหนังโลกต้องขาดทุนจำนวนมหาศาลมาจากปัญหาคอร์รัปชั่นสะเทือนวงการในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากต้องเสียค่าใช้จ่ายในด้านเกี่ยวกับทางคดีที่มีการฟ้องร้องเพิ่มขึ้น รวมทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายสำหรับการประชุมใหญ่วาระพิเศษเพื่อเลือกตั้งประธานฟีฟ่าคนใหม่ แทนนายเซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ ที่ลาออกจากตำแหน่ง โดยค่าใช้จ่ายสำหรับเรื่องคดีฟ้องร้องต่างๆนั้นเพิ่มขึ้นเท่าตัว จำนวน 50 ล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกัน ยังต้องเสียค่าใช้ง่ายในด้านการพัฒนาและให้การศึกษาสูงถึง 428 ล้านดอลลาร์ระหว่างปี 2016 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีตัวเลขเพียง 187 ล้านดอลลาร์ นอกจากนี้ยังสูญเงินไปกับการลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลและโรงแรมในนครซูริค ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งถูกมองว่าไม่ประสบความสำเร็จอีกด้วย

จากการขาดทุนดังกล่าวทำให้เงินทุนสำรอง ฟีฟ่า ลดลง จาก 1,410 ล้านดอลลาร์ ในปี 2015 เหลือเพียง 1,048 ล้านดอลลาร์ และในปี 2017 ฟีฟ่า คาดว่าจะยังขาดทุนต่อเนื่อง จำนวน 489 ล้านดอลลาร์ แต่จะพลิกสร้างกำไรได้ในปี 2018 ซึ่งจะมีการจัดฟุตบอลโลกที่รัสเซีย

หลังจากที่ จานนี อินฟานติโน เข้ามาเป็นประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือฟีฟ่า เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีที่แล้ว เขาให้สัญญาว่าจะปฏิรูปวงการฟุตบอลใหม่ ลบภาพการทำงานอย่างไม่โปร่งใสและคอร์รัปชัน เหมือนสมัยที่ แบลตเตอร์ ประธานฟีฟ่าคนเก่าได้ทำไว้
อย่างไรก็ตามแม้ อินฟานติโน จะพยายามมากเท่าไหร่ แต่ดูเหมือนบรรดาสปอนเซอร์ก็ยังไม่มั่นใจกับคำมั่นสัญญาของประธานคนใหม่เสียทีเดียว

นักลงทุนเจ้าถิ่น

หลังจากการถูกจับกุมตัวของเจ้าหน้าที่ฟีฟ่าในปี 2015 ทำให้มีผู้สนับสนุนหลายรายที่ตัดสินใจยกเลิกการเป็นพาร์ทเนอร์กับฟีฟ่า
อย่างไรก็ตามข้อตกลงกับบริษัท จีน เช่น แวนด้า กรุ๊ป, ไฮเซ่นส์ และ วีโว รวมถึงการประกาศเป็นพันธมิตรกับกาตาร์แอร์เวย์ส ก็ยังพอจะทดแทนการสูญเสียผู้สนับสนุนรายใหญ่ อย่าง โซนี่และสายการบินเอมิเรตไปได้บ้าง แต่ที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ขณะนี้คือการขาดความสนใจจากบรรดานักลงทุนรัสเซียเอง ที่ทำให้ ฟีฟ่า กำลังรู้สึกลำบากใจอย่างหนัก โดยเวลานี้ผู้สนับสนุนเจ้าถิ่นมีเพียง บริษัทก๊าซธรรมชาติยักษ์ใหญ่ และ อัลฟา แบงค์ ธนาคารเจ้าดัง เท่านั้นที่เป็นผู้สนับสนุนระดับท้องถิ่นซึ่งน้อยที่สุดนับตั้งแต่เคยมีมา

ฟีฟ่า แบ่งลำดับของการเป็นผู้สนับสนุนออกเป็น 3 ระดับ 1. ระดับพันธมิตร (อาทิ อดิดาส, โค้ก) 2. ระดับสปอนเซอร์ (จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน, บัดไวเซอร์, แมคโดลันด์) ส่วนลำดับสุดท้ายคือ 3. ผู้สนับสนุนระดับท้องถิ่น ซึ่งเน้นเป็นแบรนด์ใหญ่ของแต่ละประเทศที่เป็นเจ้าภาพ

ย้อนกลับไปยังฟุตบอลโลก 2014 ทีบราซิล ที่แม้ก่อนเริ่มทัวร์นาเมนต์จะมีการเดินขบวนประท้วงให้เห็นอยู่ประปราย แต่เวิลด์คัพฉบับแซมบ้า ยังมีพาร์ทเนอร์ระดับท้องถิ่นที่หนุนหลังพวกเขาก่อนทัวร์นาเมนต์จะเปิดฉากอย่างเป็นทางการถึง 8 ราย

พาร์ทเนอร์ท้องถิ่นมีความสำคัญไม่เพียงแต่จัดหาเงินทุนให้กับการแข่งขันเท่านั้น แต่การได้แรงหนุนของบรรดาสปอนเซอร์ระดับท้องถิ่นยังช่วยสร้างความตื่นเต้นให้กับแฟนบอล โดยเฉพาะกับกองเชียร์เจ้าถิ่นซึ่งเป็นสิ่งที่ขาดหายไปอย่างชัดเจนสำหรับฟุตบอลโลกที่รัสเซียหนนี้
ฟีฟ่า ทำเงินจากค่าสปอนเซอร์ฟุตบอลโลก 2014 สูงถึง 1.4 พันล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 10% เมื่อเทียบกับฟุตบอลโลก 2010 ที่แอฟริกาใต้ แต่กับฟุตบอลโลกหนนี้พวกเขาอาจต้องทำใจกับตัวเลขที่อาจไม่ได้เย้ายวนเหมือนที่ผ่านมา

ผ่าทางตัน

แพทริก แนลลี ผู้ซึ่งเปลี่ยนโฉมกีฬาเป็นธุรกิจที่มีมูลค่าหลายพันล้านในปัจจุบันและทำงานด้าการตลาดให้กับฟีฟ่ามาตั้งแต่ยุค เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจหากหลายคนจะยังมององค์กรแห่งนี้ด้วยความสงสัย เพราะ ฟีฟ่า กลายเป็นแบรนด์ที่เป็นพิษสำหรับผู้สนับสนุน

นอกจากนี้ด้วยปัญหาคอร์รัปชันที่ฝังรากลึกเช่นนี้ นายแนลลี มองว่าบางทีองค์กรลูกหนังโลกควรเปลี่ยนชื่อเสียใหม่เพื่อทิศทางที่ดีขึ้นในอนาคต

“เวลานี้คำว่า ฟีฟ่า ค่อนข้างจะเป็นไปในแง่ลบ หากคุณกำลังพยายามที่จะขายแบรนด์ ฟีฟ่า ถ้ามีตัวอักษรทั้งสี่ตัวนี้ทุกอย่างก็จะดูเลวร้ายไปหมดและที่สำคัญมันไม่น่าสนใจ” นายแนลลี ทิ้งท้ายถึงทางออกของฟีฟ่าที่อาจต้องยอมเปลี่ยนชื่อขององค์กรที่ใช้มานานถึง 113 ปี
สำหรับนักการตลาดแล้ว กระแสฟีเวอร์ของฟุตบอลโลกปีนี้ ไม่ได้อยู่ที่การรอลุ้นว่าใครจะเป็นแชมป์โลก แต่หมายถึงการ “วัดมูลค่าผลตอบแทน” ที่ได้รับจากทำการตลาดจากการเกาะเทรนด์นี้ต่างหาก

เงินรางวัลฟุตบอลโลก 2018

ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย “ฟีฟ่า” จัดเตรียมเงินรางวัลไว้ 400 ล้านดอลลาร์ สำหรับ 32 ทีมที่ผ่านเข้ามเล่นในรอบสุดท้าย เพิ่มขึ้นจากเมื่อ 4 ปีก่อน ที่จ่ายไป 358 ล้านดอลลาร์ ถึง 42 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 12%

32 ทีมที่เข้ามาเล่นในรอบสุดท้ายจะได้รับไปก่อน 8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งถ้าตกรอบแบ่งกลุ่มก็จะยุติเงินรางวัลไว้เพียงเท่านี้ ส่วนเงินรางวัลในรอบแรกยังเป็นเรตเดยวกับที่ได้รับในฟุตบอลโลก 2014 แต่หากผ่านเข้ารอบลึกๆเงินรางวัลก็ยิ่งเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

รอบ 16 ทีมสุดท้าย จะได้รับ 12 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ได้รับ 9 ล้านดอลลาร์
รอบ 8 ทีมสุดท้าย 16 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ได้รับ 14 ล้านดอลลาร์
อันดับ 4 ได้รับ 22 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ได้รับ 20 ล้านดอลลาร์
อันดับ 3 ได้รับ 24 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ได้รับ 22 ล้านดอลลาร์
รองแชมป์ ได้รับ 28 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ได้รับ 25 ล้านดอลลาร์
แชมป์โลก ได้รับ 38 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากปี 2014 ที่ได้รับ 35 ล้านดอลลาร์
นอกจากนี้แต่ละชาติจะได้โบนัสพิเศษจากการผ่านเข้ามาเล่นในรอบสุดท้าย 1.5 ล้านดอลลาร์ ก่อนการแข่งขันจะเริ่มขึ้น ซึ่งเท่ากับว่าเพียงแค่ได้ผ่านเข้ามาเล่นฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายก็จะได้รับเงินรางวัลการันตีไว้แล้ว 9.5 ล้านดอลลาร์


รายได้ 5 ปีหลังสุดของฟีฟ่า
ปี // รายได้
ปี 2016 // 502
ปี 2015 // 544
ปี 2014 // 2096
ปี 2013 // 1386
ปี 2012 // 1166
หน่วย : ดอลลาร์
ที่มา : statista.com