'องอาจ' ยัน ไม่เห็นความจำเป็น ลากเลือกตั้งถึง พ.ค.

'องอาจ' ยัน ไม่เห็นความจำเป็น ลากเลือกตั้งถึง พ.ค.

รองหัวหน้า ปชป. ยันไม่เห็นความจำเป็น ลากเลือกตั้งถึง พ.ค. เชื่อเลือกตั้ง ก.พ. 62 เหมาะสมแล้ว

นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึง การเลือกตั้งทั่วไปที่จะมีขึ้นตามโรดแม๊พว่า หากดูตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ทั้ง  4 ฉบับแล้ว ใช้เวลาเต็มที่ตามที่กฎหมายกำหนด  การเลือกตั้งทั่วไปอาจจะยาวไปถึงเดือนพฤษภาคมได้  แต่กฎหมายก็ไม่ได้บังคับว่าต้องใช้เวลาเต็มที่ตามที่กำหนดไว้ สามารถทำให้เร็วกว่าได้ แต่ทำให้ช้ากว่าไม่ได้
 

นายองอาจ กล่าวต่อว่า เมื่อพิจารณาถึงประสบการณ์ความพร้อมของฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว เห็นว่าไม่จำเป็นที่จะต้องลากยาวไปถึงเดือนพฤษภาคม การจะกำหนดให้มีการเลือกตั้งในเดือนกุมภาพันธ์ เป็นสิ่งที่เป็นไปได้ เพราะคณะกรรมการการเลือกตั้ง และพรรคการเมือง ก็พร้อมที่จะเข้าสู่สนามเลือกตั้งอยู่แล้ว นอกจากนั้นประสบการณ์การจัดการเลือกตั้งของไทย ก็ไม่เคยใช้เวลาถึง 150 วัน เพื่อจัดการเลือกตั้ง ที่ผ่านมาเรามักใช้เวลาเลือกตั้งภายใน 45 วัน หรือ 60 วัน  ถ้าคราวนี้จะเพิ่มวันขึ้นมาโดยข้ออ้างว่า  กกต. และพรรคการเมือง มีกิจกรรมต้องทำมากกว่าเมื่อก่อน  ก็พอรับได้  แต่ไม่จำเป็นต้องใช้เวลาถึง 150 วัน

"เพราะฉะนั้นการเลือกตั้งภายในเดือนกุมภาพันธ์ 2562  จึงเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสม ส่วนที่กังวลว่าคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกี่ยวกับคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่53 / 2560 เรื่องการดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองจะกระทบต่อโรดแม๊พนั้น ไม่น่าจะมีผลกระทบอะไร  ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยออกมาอย่างไร พรรคการเมือง ก็ต้องปฏิบัติไปตามนั้นอยู่แล้ว ซึ่งส่วนมากจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสมาชิกพรรค สาขาพรรค และการประชุมใหญ่ของพรรค" นางองอาจ กล่าวและว่า

สำหรับการทำ ไพรมารีโหวต จะกระทบต่อการกำหนดการเลือกตั้งหรือไม่นั้น ถ้าไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง  พรรคการเมืองก็ต้องพร้อมในการทำไพรมารีโหวต ตามที่กฎหมายกำหนด แต่ก็คงเป็นเพียงการทำไพรมารีโหวต ตามกฎหมาย ไม่ได้ทำตามจุดมุ่งหมายที่ควรจะเป็น

นายองอาจ ย้ำว่า การทำไพรมารีโหวตนั้น กฎหมายออกมามุ่งหวังให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมในการเลือกผู้สมัคร ส.ส.ของพรรค เราควรมีฐานสมาชิกที่มีจำนวนมากพอ  ที่จะทำให้เห็นว่า การเลือกผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย แต่ถ้าสมาชิกพรรคเพียง 100  คน หรือ 50 คน มาเลือกผู้สมัคร ส.ส. ของพรรค เราคงหวังจะเห็นการทำไพรมารีโหวตให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายได้ยาก และถ้าเราต้องการให้สมาชิกพรรคมีส่วนร่วมกำหนดผู้สมัคร ส.ส.ของพรรคอย่างแท้จริง ต้องเร่งเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองรณรงค์หาสมาชิกให้มีจำนวนมากพอสมควร และให้พรรคการเมืองเร่งสร้างความเข้าใจ กับ สมาชิกพรรคถึงความหมาย  และ ความสำคัญของไพรมารีโหวต การทำไพรมารีโหวต จึงจะเกิดประโยชน์อย่างแท้จริงตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย  ไม่ใช่เป็นเพียงพิธีกรรมตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งจะไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมแต่อย่างใด