'วีระศักดิ์' ลงพื้นที่รับทราบปัญหาผู้ค้าจตุจักร

'วีระศักดิ์' ลงพื้นที่รับทราบปัญหาผู้ค้าจตุจักร

"วีระศักดิ์" ลงพื้นที่หารือสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรเพื่อรับทราบปัญหาของผู้ค้า

จากข่าวเรื่องพื้นที่ตลาดนัดจตุจักรได้ถูกโอนกรรมสิทธิ์การดูแลให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเนื่องจาก กรุงเทพมหานครนั้นหมดสิ้นสัญญาการดูแลเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2555 ผ่านมา 6 ปี การเข้ามาดูแลของการรถไฟแห่งประเทศไทย ทางสหกรณ์และทางผู้ค้ามองว่าการบริหารงานยังไม่ตอบโจทย์ และมีปัญหาทำให้ผู้ค้าเกิดความวิตกกังวลแถมยังมีข่าวถึงการปรับขึ้นราคาค่าแผงเพิ่มจากเดิมอีก ซึ่งสวนทางกับรายได้ของผู้ค้าขายในปัจจุบันที่แม้ว่าจะมีผู้บริโภคเดินทางมาตลาดจตุจักมากขึ้นแต่รายได้กลับลดน้อยลง ยิ่งทำให้ผู้เช่าแผงจำนวนมากเกิดความวิตกกังวลเข้าไปอีก

ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.61 นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เดินทางมาที่ตลาดนัดสวนจตุจักรเพื่อพบปะหารือกับ สหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักรเพื่อรับทราบปัญหาของผู้ค้า และยังเดินสำรวจแผงผู้ค้าภายในสวนจตุจักร โดยมี 6 ประเด็นหลักที่ได้พูดคุยกันคือ

1.ไม่ที่จอดรถแก่นักท่องเที่ยวและการขนถ่ายสินค้า
2.มีผู้บุกรุกที่เข้ามาค้าขายบนพื้นผิวจราจร
3.ผู้บุกรุกที่ค้าขายบนพื้นผิวจราจรบดบังทางเข้าออกในการซื้อขายสินค้าในโครงการหลัก
4.ผู้บุกรุกทิ้งภาระค่าสาธารณูปโภคให้กับผู้ค้าในตลาดนัด เช่น ขยะ, น้ำ, ไฟฟ้า, ความปลอดภัย เป็นต้น
5.ค่าเช่าแผงสูงกว่าตลาดนายทุน
6.การจัดการถนนคนเดิน ตลาดจตุจักร ไม่สนับสนุนผู้บุกรุก

รัฐมนตรีกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเผยว่าในประเด็นดังกล่าวนั้นมีส่วนเกี่ยวเนื่องโดยตรงกับทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเพียงหนึ่งประเด็นคือการช่วยโปรโมทย์เท่านั้น ส่วนประเด็นอื่น ๆ จะสรุปและนำเสนอต่อนายกต่อไป และคงต้องใช่เวลาสักระยะเพื่อตรวจสอบในข้อมูลต่างๆ ให้ชัดเจน แต่ในส่วนที่ปฏิบัติได้ก่อนจะทำให้เร็วที่สุด

ด้านสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร มองว่าหากต้องการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับตลาดได้ตรงจุดนั้นมีวิธีการ 6 ข้อด้วยกันที่นำเสนอรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวประกอบด้วย

1.ให้ ททท. สนับสนุนโฆษณาประชาสัมพันธ์ สินค้าในตลาดนัดทั้ง OTOP และ SMEs
2.ให้ ททท. จัดกรุ๊ปทัวร์มาลงในพื้นที่และจัดพื้นที่จอดรถทัวร์
3.ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยเคลียร์พื้นที่บนผิวจราจรเกิดจากผู้บุกรุก
4.ให้การรถไฟแห่งประเทศไทยใช้หลักธรรมาภิบาล ยึดระเบียบและกฎหมายโดยใช้มาตรฐานเดียวกันในการแก้ปัญหา
5.กทม.เป็นหน่วยงานที่มีความพร้อมอยากให้มาบริหารจัดการ เพราะจะช่วยเสริมให้การรถไฟ แห่งประเทศไทยมีเงินเหลือเพิ่มอีกหลายเท่า
6.ให้มีมติการจัดการตลาดนัดจตุจักร จากคณะรัฐมนตรี หรือมีบัญชาจากนายกรัฐมนตรี ให้ตลาดนั้นบริหารงานโดยความร่วมมือ 3 ฝ่าย คือ การรถไฟ , กรุงเทพมหานคร, ภาคประชาชนในนามสหกรณ์บริการผู้ค้าตลาดนัดจตุจักร มีกฏหมายรองรับถูกต้องให้ข้อมูล