นักโทษล้นคุก ถึงเวลาต้องเบี่ยงเบนโทษ

นักโทษล้นคุก ถึงเวลาต้องเบี่ยงเบนโทษ

"ประจิน" เปิดสัมมนาระดมความเห็นแก้ปัญหานักโทษล้นคุก ทะลุ 3.5 แสนคน แนะสร้างระบบคัดกรองเบี่ยงโทษจำคุกให้กับผู้ที่ไม่ใช่อาชญากรโดยสันดาน ยันราชทัณฑ์ไม่ปล่อยกลุ่มเสี่ยงออกมาทำร้ายสังคม

เมื่อวันที่ 2 มิ.ย.61 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเปิดการสัมมนา ก้าวผิดคิดพลาดให้โอกาสแก้ตัวใหม่ มาตรการทางเลือกแทนการจำคุก เพื่อระดมความคิดหาแนวทางแก้ไขปัญหานักโทษล้นคุก สถิติผู้ต้องขังล่าสุดมีจำนวน 350,600 คนเศษ ในขณะที่เรือนจำสามารถรองรับผู้ต้องขังได้เพียง 122,047 คน ก่อให้เกิดปัญหาความแออัดในเรือนจำ ภาวะนักโทษล้นคุกทำให้เกิดปัญหาทั้งในด้านการควบคุมและการแก้ไขพัฒนาพฤตินิสัย และการกระทำความผิดซ้ำ

นอกจากนี้ยังมีปัญหาจากงบประมาณในการควบคุมดูแลไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนผู้ต้องขัง ไม่มีงบประมาณปรับปรุงเรือนจำที่มีอายุการใช้งานมายาวนาน มาตรการคัดกรองผู้ต้องขังประพฤติดีพ้นจากเรือนจำด้วยวิธีพักการลงโทษและลดวันต้องโทษ แต่แก้ปัญหาได้เพียงเล็กน้อยเพราะราชทัณฑ์เป็นหน่วยงานปลายทาง ในทุกวันจะมีผู้ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเฉลี่ยเดือนละกว่าหมื่นคน ขณะที่โทษจำคุกที่ผู้ต้องขังถูกตัดสินก็สูงขึ้นเรื่อยๆ ปัญหาดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการแก้ไข เพื่อคัดกรองผู้กระทำผิดซึ่งเป็นกลุ่มตกกระไดพลอยโจน ทำผิดโดยไม่มีเจตนา หรือไม่ใช่อาชญากรที่กระทำผิดโดยสันดาน ได้รับโทษให้เหมาะสมกับพฤติกรรมตามมาตรการทางเลือกต่างๆ

เราไม่ต้องการเพียงแค่ว่ามีคุกไม่พอ ทำอย่างไรก็ได้ให้คนเข้าคุกน้อยลง ขอให้มั่นใจว่ากระทรวงยุติธรรมและกรมราชทัณฑ์จะไม่ปล่อยให้คนที่มีความเสี่ยง หรือไม่สามารถปรับพฤติกรรรมออกมาแน่นอน นอกจากปรับพฤติกรรมแล้วยังต้องให้มีการติดตามหลังปล่อยให้ผู้พ้นโทษมีงานทำ โดยประสานไปยังทุกสาขาอาชีพให้เข้ามาจ้างงานผู้พ้นโทษที่ผ่านการฝึกทักษะอาชีพ รวมทั้งมีคณะทำงานติดตามหลังปล่อย การให้ทุนสร้างอาชีพ ซึ่งเป็นการดูแลและแก้ปัญหาอย่างครบวงจรพล.อ.อ.ประจินกล่าว

ด้านพ.ต.อ.ณรัตช์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กำไลอิเล็คทรอนิกส์หรืออีเอ็มจะเป็นมาตรการทางเลือกที่นำมาใช้แทนการจำคุก ใน 2 มิติ โดยมิติแรกศาลสั่งใช้อีเอ็มในการปล่อยตัวชั่วคราวแทนการควบคุมตัวระหว่างการพิจารณาคดี โดยช่วยให้ประชาชนไม่ต้องไปเช่าโฉนดหรือนำหลักทรัพย์มาประกันตัวตัว และมิติที่ 2 เป็นการสั่งใช้อีเอ็มแทนการจำคุกในคดีที่ศาลสั่งรอลงการอาญาสามารถใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ควบคุมความประพฤติ ซึ่งในกลุ่มที่สามารถเบี่ยงเบนโทษจำคุกได้ต้องเป็นคดีที่มีโทษจำคุกไม่สูงมาก ซึ่งถือเป็นมาตรการที่ดีเพราะไม่ใช่การปล่อยเสือเข้าป่า แต่ทุกรายยังถูกติดตามตรวจสอบ ปัญหาติขัดที่อุปกรณ์ยังมีราคาแพง ใช้งบประมาณในการเช่าใช้หลักพันบาทต่อเครื่อง ในอนาคตหากส่งผลดีต่อการลดจำนวนผู้ต้องขัง อาจต้องของบประมาณเพื่อเช่าใช้อุปกรณ์อีเอ็มเพิ่มมากกว่า 10,000 ชิ้น ซึ่งการลงทุนในอุปกรณ์อีเอ็มถือว่าคุ้มค่าและมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการเลี้ยงนักโทษในเรือนจำ

สำหรับผู้ต้องขังในเรือนจำกว่า 350,000 คน เป็นผู้ต้องขังคดียาเสพติด 70% หรือประมาณ 200,000 คนเศษ ในอนาคตหากมีการลดเกณฑ์การลงโทษให้สอดคล้องกับร่างประมวลกฎหมายยาเสพติดก็จะสามารถเบี่ยงเบนนักค้ารายย่อย ดาราหรือนักศึกษา ซึ่งเป็นทั้งผู้เสพและผู้ค้ารายย่อย โดยจะกำหนดวิธีการลงโทษอื่นแทนการจำคุก เช่น การคุมประพฤติสั่งติดกำไลอีเอ็ม เพราะความผิดในที่เป็นแฟชั่นของวัยรุ่นซึ่งในต่างประเทศมีมาตรการลงโทษอื่นที่เหมาะสมก็ไม่ควรถูกส่งเข้ามาในเรือนจำ เพราะการจำคุกไม่ใช่คำตอบสุดท้าย ส่วนผู้ที่ทำผิดด้วยความชั่วร้าย เป็นอาชญากรโดยสันดาน ฆ่าข่มขืน ข่มขืนเด็ก ปล้นฆ่าที่อุกฉกรรจ์สะเทือนขวัญ ต้องถูกกันออกจากสังคมเอาไปเก็บไว้ในเรือนจำอธิบดีกรมราชทัณฑ์กล่าว

น.ส.แคเธอรีน เอ. ฮาร์ทเซนบุช ผู้ช่วยเลขานุการทางอาญา ประจำกระทรวงยุติธรรมสหรัฐอเมริกา ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า สหรัฐใช้ศาลคดียาเสพติดจัดโปรแกรมบำบัดฟื้นฟูผู้ติดยา โดยมีเงื่อนไขว่าจำเลยต้องรับสารภาพผิด เข้ารับการบำบัดฟื้นฟู ในระยะวลา 1-2 ปี ต้องเข้ารายงานตัวต่อศาล เพื่อบำบัดรักษาเป็นระยะๆ เมื่อจบโปรแกรมนี้พบว่าคนกลุ่มนี้จะไม่ต้องเข้าสู่ระบบราชทัณฑ์อีก โดยมีจำเลย 120,000 รายต่อปีได้รับความช่วยเหลือจากมาตรการทางเลือกแทนการจำคุก ส่งผลให้ผู้ต้องขังน้อยลง 25%

น.ส.อุเอโนะ มามิ ผู้เชี่ยวชาญจากสถานทูตญี่ปุ่น กล่าวว่า ญี่ปุ่นส่งเสริมการบำบัดผู้กระทำผิดโดยชุมชนควบคู่ไปกับการบำบัดโดยสถาบันของรัฐ ในปี 2016 อัยการเข้าไปดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิด 1.6 ล้านคน ศาลตัดสินส่งตัวเข้าสู่เรือนจำเพียง 20,467 คน โทษส่วนใหญ่จะเป็นการรอลงอาญาและคุมประพฤติ โดยโทษจำคุก 3 ปี สามารถรอลงอาญาได้ถึงตั้งแต่ 3- 5 ปี ทำให้ญี่ปุ่นมีจำนวนผู้ต้องขังไม่มากนัก ตัวเลขนักโทษสูงสุดอยู่ในปี 2006 มีนักโทษ 62% ของความจุเรือนจำ ญี่ปุ่นจึงไม่เคยมีปัญหาล้นคุก ราชทัณฑ์โดยชุมชนเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพในการลดจำนวนผู้ต้องขัง การบำบัดโดยชุมชนยังสามารถลดปัญหาอื่นๆที่มาจากการจำคุกด้วย แต่จะสำเร็จได้ต่อเมื่อได้รับการยอมรับจากสังคม เพราะไม่ใช่การนำผู้กระทำผิดมาลงโทษในชุมชน แต่เป็นกิจกรรมบำบัดต่างๆที่ได้รับการสนับสนุนจากชุมชน

ผู้เชี่ยวชาญจากประเทศญี่ปุ่น กล่าวด้วยว่า กฎหมายญี่ปุ่นเน้นการคุ้มครองสังคมไม่ได้เน้นตัวผู้กระทำผิดแต่ครอบคลุมผู้เสียหายด้วย ทำให้มีประชาชนเข้ามาเป็นอาสาสมัครคุมประพฤติมากกว่า 48,000 คน มีสำนักงานคุมประพฤติ 50 แห่ง คอยให้คำแนะนำ ในส่วนขององค์กรเอกชนจัดบ้านกึ่งวิถีให้ความช่วยเหลือผู้กระทำผิด นอกจากนี้ผู้ประกอบการยังให้ความร่วมมือจ้างงานผู้พ้นโทษด้วย ขณะการนำนักโทษออกทำงานบริการสังคม การทำความสะอาดพื้นที่สาธารณะในชุมชน ทำให้นักโทษรู้สึกในคุณค่าของตัวเอง