อังกฤษให้วีซ่า 'ยิ่งลักษณ์' ไม่กระทบส่งผู้ร้ายข้ามแดน

อังกฤษให้วีซ่า 'ยิ่งลักษณ์' ไม่กระทบส่งผู้ร้ายข้ามแดน

รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ยืนยันอังกฤษให้วีซ่า "ยิ่งลักษณ์" 10 ปี ไม่กระทบการขอตัวส่งผู้ร้ายข้ามแดน

เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2561 รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด นายโกศลวัฒน์ อินทุจันทร์ยง บอกว่า การที่รัฐบาลอังกฤษให้วีซ่าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ เป็นเวลา 10 ปี ไม่ได้หมายความว่ารัฐบาลอังกฤษให้การรับรองสถานะอดีตนายกฯหญิงของไทยเป็นกรณีพิเศษ ทั้งๆ ที่ตกเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลให้กลับมารับโทษจำคุก 5 ปีในคดีรับจำนำข้าว เพราะการให้วีซ่าถือเป็นเอกสิทธิ์ของรัฐบาลแต่ละประเทศว่าจะอนุญาตให้บุคคลใดเข้าประเทศ หรือไม่ให้เข้าประเทศก็ได้ ในทางกลับกันขณะนี้ถือว่ามีความชัดเจนแล้วว่า อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ พำนักอยู่ที่ประเทศอังกฤษแน่นอน ฉะนั้นทางการไทยย่อมสามารถยื่นคำร้องขอตัวกลับมาดำเนินคดีในฐานะเป็น "ผู้ร้ายข้ามแดน" ได้ ซึ่งรัฐบาลไทยเคยทำสำเร็จมาแล้วกรณีการขอตัว นายราเกซ สักเสนา เจ้าของฉายาพ่อมดทางการเงิน เป็นผู้ร้ายข้ามแดนจากประเทศแคนาดากลับมารับโทษในประเทศไทย ในคดียักยอกและฉ้อโกงทรัพย์ธนาคารกรุงเทพฯพาณิชย์การ หรือ บีบีซี

สำหรับขั้นตอนการดำเนินการหลังจากนี้ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด บอกว่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติต้องแจ้งยืนยันถิ่นที่อยู่ที่ชัดเจนว่า อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์อยู่ที่ไหน แล้วส่งข้อมูลมาให้อัยการ จากนั้นอัยการจะทำหน้าที่เป็น "ผู้ประสานงานกลาง" ส่งเรื่องต่อไปยังกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อประสานผ่านช่องทางกระทรวงการต่างประเทศของอังกฤษ เพื่อขอตัวอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมารับโทษตามคำพิพากษาของศาลต่อไป

สำหรับเงื่อนไขการขอส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีหลักการง่ายๆ คือ 1.ดูว่ามีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกันหรือไม่ ถ้ามีให้ยึดตามสนธิสัญญา ถ้าไม่มี ก็ข้ามไปข้อ 2 คือดำเนินการตามหลัก "ต่างตอบแทน" คือเราขอเขา เขาส่งให้เรา วันหนึ่งเขาขอเรา เราก็ต้องส่งให้เขาบ้าง แน่นอนว่าหลักต่างตอบแทน มักขึ้นกับความสัมพันธ์ของสองประเทศในห้วงเวลานั้นๆ เป็นหลัก

สำหรับไทยกับอังกฤษมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เรียกว่า "สัญญาว่าด้วยส่งผู้ร้ายข้ามแดนกันระหว่างกรุงสยามกับอังกฤษ" ลงนามกันตั้งแต่ปี พ.ศ.2455 หรือ 106 ปีมาแล้ว

เมื่อสองประเทศมีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนระหว่างกัน เงื่อนไขที่ต้องพิจารณาในขั้นต่อไปก็คือ ความผิดที่จะขอตัวให้ส่งผู้ร้ายข้ามแดน มีระบุในสนธิสัญญาหรือไม่ และต้องไม่เป็นความผิดทางการเมืองด้วย

เมื่อตรวจสอบความผิดที่ต้องส่งผู้ร้ายข้ามแดน ในสนธิสัญญาระหว่างไทยกับอังกฤษแล้ว พบว่ามีทั้งหมด 31 ข้อ หรือ 31 ฐานความผิด ส่วนใหญ่เป็นอาชญากรรมขั้นพื้นฐาน หรือเป็นความผิดที่กระทำกันในยุคนั้น เพราะเป็นสนธิสัญญาที่เก่ามากแล้ว เช่น ฆ่าคนตาย ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา / ยักยอกทรัพย์ / ฉ้อโกงเงิน / ปลอมเงินตรา เป็นต้น / แต่ไม่มีฐานความผิดว่าด้วยการปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ หรือโดยทุจริต ตามที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใช้ลงโทษอดีตนายกฯหญิงยิ่งลักษณ์ และไม่มีฐานความผิดใดใกล้เคียงหรือเทียบเคียงกับฐานความผิดที่ศาลไทยสั่งลงโทษอดีตนายกฯได้เลย

แต่สนธิสัญญาก็เปิดช่องไว้ สำหรับโทษอื่นๆ นอกเหนือจาก 31 ฐานความผิดนี้ หากบัญญัติอยู่ในกฎหมายที่ใช้อยู่ของทั้งสองประเทศ ก็สามารถส่งผู้ร้ายให้แก่กันได้ / ฉะนั้นสิ่งที่ฝ่ายไทยต้องเร่งศึกษาและหาคำตอบโดยด่วนก็คือ กฎหมายอังกฤษมีระบุความผิดเรื่องปฏิบัติหรือละเว้นปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบหรือไม่ / ถ้ามีก็สามารถพิจารณาส่งอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์เป็นผู้ร้ายข้ามแดนได้ตามคำขอของรัฐบาลไทย