กรมอนามัย ชวนลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลดเสี่ยงอันตราย

กรมอนามัย ชวนลดปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ ลดเสี่ยงอันตราย

กรมอนามัย เผยขยะอิเล็กทรอนิกส์ สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม ชวนลดปริมาณ ลดเสี่ยงอันตราย

นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า สารพิษในขยะอิเล็กทรอนิกส์สามารถเข้าสู่ร่างกายได้โดยผ่านการหายใจ การกิน และสัมผัสทางผิวหนัง เช่น ผู้ที่ทำงานคัดแยกจะเสี่ยงต่อการได้รับสารพิษโดยตรง ส่วนผู้ที่อาศัยอยู่ในบริเวณโดยรอบหรือคนในครอบครัว อาจได้รับสารพิษจากการปนเปื้อนในดิน ฝุ่น อากาศ น้ำ และอาหาร สำหรับกลุ่มวัยเด็ก ทารก หญิงมีครรภ์ มีโอกาสเสี่ยงที่จะได้รับสารพิษหากอยู่ในบริเวณที่มีการคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ผู้ที่ทำงานในโรงงานคัดแยกขยะอิเล็กทรอนิกส์อาจได้รับสารพิษปนเปื้อนมากับเสื้อผ้าและผิวหนัง ทำให้ลูกหรือเด็กในบ้านได้รับอันตรายด้วยเช่นเดียวกัน กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข เป็นอีกหน่วยงานที่แก้ไขปัญหาด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์วิธีการมาตรการในการควบคุมและกำกับดูแลมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนที่เกิดขึ้นให้อยู่ในภาวะไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ เพื่อเป็นการสนับสนุนการบังคับใช้กฎหมายของท้องถิ่น ได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการกระจายอำนาจให้ราชการส่วนท้องถิ่นมีอำนาจออกข้อบัญญัติ กำหนดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข วิธีการเพื่อควบคุมการจัดการเกี่ยวกับมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนให้ถูกสุขลักษณะ หากมีการฝ่าฝืนข้อบัญญัติของท้องถิ่นก็มีมาตรการลงโทษ โดยอาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ.2535 เช่น กรณีประชาชนทั่วไปนำมูลฝอยที่เป็นพิษหรืออันตรายจากชุมชนไปทิ้งในที่หรือทางสาธารณะ นอกจากในส่วนราชการท้องถิ่นจัดหาไว้ มีระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งปี ปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น

นายแพทย์วชิระ กล่าวต่อไปว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่างๆ ที่ใช้กันในชีวิตประจำวัน ส่วนใหญ่มีสารอันตรายที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ ได้แก่ 1) ตะกั่วทำลายระบบประสาท ต่อมไร้ท่อ ไต ระบบเลือด และการพัฒนาสมองของเด็ก ส่วนพิษเรื้อรังจะค่อยๆ แสดงอาการภายหลังการได้รับสารตะกั่วทีละน้อยจนถึงระยะเวลาหนึ่ง จึงจะแสดงอาการ 2) ปรอท เป็นอันตรายต่อระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง ทำให้เสียการควบคุมเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวของแขน ขา การพูด ทำให้ระบบประสาทรับความรู้สึกเสียไป เช่น การได้ยิน การมองเห็น ไม่สามารถรักษาให้ดีดังเดิมได้ 3) คลอรีนอยู่ในพลาสติกพีวีซี ก่อสารมะเร็ง เมื่อพลาสติกถูกเผาจะส่งผลต่อระบบหายใจ ระคายจมูก และทำให้เคลือบฟันผุ 4) แคดเมียม มีพิษเฉียบพลัน ทำให้ปอดอักเสบรุนแรง ไตวาย ไตถูกทำลาย และ 5) โบรมีน เป็นสารก่อมะเร็ง ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางชีวเคมี และรูปทรงของเส้นใยกล้ามเนื้อหัวใจ

“ทั้งนี้ วิธีการป้องกันขยะอิเล็กทรอนิกส์เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ทำได้โดยให้ลดการนำเศษเหลือทิ้งของผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่หมดอายุการใช้งานแล้ว (End of Life) นํากลับมาใช้ใหม่ (Re-use & Recycle) เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากปริมาณขยะ ซึ่งขณะนี้สิ่งที่ประเทศไทยได้ทำคือ การจัดทำกรอบระเบียบเพื่อเป็นแนวทางในการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมทั้งเป็นกรอบที่รองรับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากระเบียบของสหภาพยุโรป กรอบดังกล่าวประกอบด้วย แนวทางการควบคุมที่ต้นทาง โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมภาษีจากผู้นำเข้าสินค้า และผู้ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ แล้วนำเงินไปบริหารจัดการ โดยจะออกกฎหมายเก็บค่าธรรมเนียม การตั้งกองทุนสิ่งแวดล้อม การจัดการซากอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างทาง โดยจะไม่มีกฎหมายบังคับ แต่ใช้มาตรการด้านกลไกตลาด และแนวทางสุดท้ายเป็นการควบคุมที่ปลายทางจะสนับสนุนให้เกิดโรงแยกขยะแบบครบวงจร” อธิบดีกรมอนามัย กล่าวในที่สุด