สแกนยุคทอง 'ซีฟโก้' เมกะโปรเจค ดันเสาเข็มทะลัก..!!

สแกนยุคทอง 'ซีฟโก้'  เมกะโปรเจค ดันเสาเข็มทะลัก..!!

โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ หนุนเอกชนลงทุนเพิ่ม 'โอกาสทอง' ธุรกิจเสาเข็ม-ฐานราก 'ณรงค์ ทัศนนิพันธ์' ผู้ก่อตั้ง บมจ.ซีฟโก้ โชว์พันธกิจแบ็กล็อกทุบสถิติสูงสุดในรอบ 43 ปี หลังคว้าบิ๊กโปรเจค 4 แห่ง

แรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐบาล ยิ่งเฉพาะ 'โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก' (EEC) และ 'โครงการการเชื่อมต่อสนามบิน 3 แห่ง' รวมทั้งแผนลงทุนของกระทรวงคมนาคมกำหนดงบลงทุนขับเคลื่อนโครงสร้างพื้นฐาน ปี 2561 ด้านคมนาคมขนส่ง 3.09 แสนล้านบาท แบ่งเป็นทางบก 1.52 แสนล้านบาท ทางราง 9.62 หมื่นล้านบาท ทางน้ำ 7,323 ล้านบาท และทางอากาศ 5.35 หมื่นล้านบาท

กำลังส่งผลบวกต่องาน 'รับเหมาก่อสร้าง' ประเภทรับเหมางานเสาเข็มเจาะ-ฐานรากและงานโยธา ถือเป็นหนึ่งในฟันเฟืองสำคัญของงานก่อสร้าง ซึ่งกำลังเป็น 'แรงผลักดัน' อัตราการเติบโตในอนาคต...!!

หนึ่งในผู้ประกอบการที่ได้รับ 'ปัจจัยบวก' นั่นคือ บมจ.ซีฟโก้ หรือ SEAFCO ผู้ประกอบการรับเหมางานเสาเข็มเจาะ งานฐานรากและงานโยธา 'ณรงค์ ทัศนนิพันธ์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ซีฟโก้ หรือ SEAFCO บอกเล่าสตอรี่ใหม่ ๆ ผลักดันฐานะทางการเงินกับ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า

หากย้อนไปในอดีตงานฐานรากประเภทงานเจาะเสาเข็มมีแต่งานขนาดเล็กๆ แต่ปัจจุบันเมืองไทยเปลี่ยนแปลงไปมากมีการลงทุนขนาดใหญ่ เนื่องจากเมืองไทยมีการพัฒนาต่อเนื่อง ซึ่งในช่วงที่ผ่านมา บมจ.ซีฟโก้ มีการเติบโตมาตลอดเพียงแต่ไม่ได้หวือหวา

ทว่า หลังจากนี้เมืองไทยกำลังลงทุนขนาดใหญ่จำนวนมหาศาล ถือเป็น 'โอกาสทอง' ของบริษัทที่จะเติบโตแบบ 'ก้าวกระโดด' สะท้อนผ่านปัจจุบันมี 'มูลค่างานในมือ' (Backlog) มากกว่า 3,700 ล้านบาท ทยอยรับรู้รายได้ต่อเนื่องถึงครึ่งปี 2562 ซึ่งเป็นตัวเลขมากที่สุดใน 'รอบ 43 ปี' นับตั้งแต่ก่อตั้งบริษัทมา โดยปกติแล้วบริษัทจะมี Backlog สะสมปลายปีราว 1,000 ล้านบาท 

ปัจจุบัน 'ซีฟโก้' ดำเนินธุรกิจเป็นผู้รับก่อสร้างงานฐานรากและงานโยธาทั่วไป โดยรับงานทั้งจากภาคราชการและภาคเอกชน บริษัทสามารถรับงานโดยตรงจากเจ้าของโครงการหรือรับงานช่วงต่อ (Sub-contract) จากผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก (Main Contractor) ประกอบด้วย 1.งานเสาเข็มเจาะ (Bored Pile , Barrett Pile) 2.งานกำแพงกันดิน (Diaphragm Wall) 3.งานก่อสร้างโยธา ซึ่งรวมถึงงานฐานรากต่างๆ และงานก่อสร้างอาคาร และ 4.งานบริการทดสอบต่างๆ

'ผู้ก่อตั้ง' เล่าต่อว่า ตอนนี้ 'ปัจจัยบวก' ที่กำลังส่งผลให้ ซีฟโก้ มีโอกาสเติบโตอีกมาก นั่นคือ โครงการลงทุนขนาดใหญ่ของรัฐ อาทิ โครงการ EEC , โครงการเชื่อมต่อสนามบิน 3 แห่ง (สุวรรณภูมิ-ดอนเมือง-อู่ตระเภา) เป็นต้น เพราะว่าทุกโครงการต้องใช้เสาเข็มเจาะจำนวนมาก

'หาก EEC เกิดขึ้นส่วนประกอบต่างๆ ต้องตามมา ไม่ว่าโรงงานอุตสาหกรรม , อาคารสูง โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ 3-4 จังหวัด ทั้งหมดถือเป็นโอกาสของบริษัท ซึ่งบริษัทมีศักยภาพมากพอในการเข้าไปรับงานได้อยู่แล้ว'

สะท้อนในช่วงที่ผ่านมา บริษัทสร้างเสียงว้าว...!! หลังรับงาน 'บิ๊กโปรเจค 4 โครงการ' มูลค่า 1,250 ล้านบาท ทั้ง โครงการวัน แบงค็อก พื้นที่โซน 1 โซน 2 โครงการอาคารจอดรถใหม่ศูนย์การค้าเดอะมอลล์ สาขาถนนงามวงศ์วาน รวมถึงโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ที่กำหนดเข้าดำเนินการต้น พ.ย.นี้

หากโฟกัสเพียงแค่เฉพาะโครงการวัน แบงค็อก ที่เป็นมิกซ์ยูสอสังหาริมทรัพย์ที่ใหญ่ที่สุดของเมืองไทย และถูกวางให้เป็นแลนด์มาร์คระดับโลก ด้วยงบลงทุนมากกว่า 120,000 ล้านบาท ล่าสุดเปิดประมูลไปแล้ว 3 เฟส คาดว่าเปิดประมูลเฟส 4 บริษัทจะยืนประมูลด้วย และจากประสบการณ์คร่ำหวอดของบริษัทมีโอกาสได้งาน 'ใกล้แค่เอื้อม'

บริษัทรับงานทั้งโดยตรงกับเจ้าของโครงการ และรับงานช่วงต่อ (Sub-Contract) จากผู้รับเหมาก่อสร้างหลัก อย่างเช่น งานโครงการรถไฟฟ้าขนาดใหญ่ เรียกว่ากวาดมาเกือบทุกสาย สายสีส้ม จากผู้รับเหมาหลัก คือ บมจ.ช.การช่าง (CK) และสายสีชมพูจากผู้รับเหมาหลัก คือ บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) เป็นต้น

'เครื่องจักรที่มีอยู่ขณะนี้ จะเต็มอยู่ในคลังไม่กี่วัน เพราะเตรียมขนย้ายไปทำงานใหม่ที่รับมาทั้งหมดแล้ว'

นอกจากนี้ บริษัทมีงานที่อยู่ระหว่างรอยื่นประมูลใหม่ “มูลค่า 6,000 กว่าล้านบาท” ซึ่งเป็นงานรัฐและเอกชน ปัจจุบันสัดส่วนงานรัฐ 65% และ เอกชน 35% จากปีที่แล้ว งานรัฐ 80% และ เอกชน 20% หลังได้รับงานวัน แบงค็อกไป เมื่อต้นปีที่ผ่านมาส่งผลให้สัดส่วนงานภาคเอกชนเลยขยับขึ้นมา

'การรับงานในปัจจุบันจะเน้นงานที่ให้มาร์จิ้นที่ดี และจะไม่เสนอรับงานมากจนเกินไปในช่วงที่มีปริมาณงานออกมามากในช่วงนี้ เพราะปัจจุบันบริษัทได้ใช้กำลังการผลิตที่เกือบจะเต็มที่แล้ว ทำให้ต้องบริหารกำลังการผลิตให้มีประสิทธิภาพก่อนการตัดสินใจรับงาน'

สำหรับการลงทุนในปีนี้ บริษัทยังไม่มีแผนการลงทุนเครื่องจักรใหม่ แต่จะใช้ในการลงทุนด้านอื่นๆ จึงส่งผลทำให้จะใช้งบลงทุนในระดับที่ต่ำกว่าปีก่อน โดยปีก่อนบริษัทใช้งบลงทุนไปแล้วราว 300-400 ล้านบาท

กรรมการผู้จัดการใหญ่ แจกแจงเป้าหมายปี 2561 ว่า ตั้งเป้ารายได้ 'เติบโต 25%' จากปีก่อน หลังจากปลายปีก่อน ควักเงินลงทุนซื้อเครื่องจักรไป 300–400 ล้านบาท เท่ากับเพิ่มเครื่องมืออีก 30% ฉะนั้นผลประกอบการอย่างน้อยๆ โตได้เข้าเป้าแน่นอน 'ถ้าปีนี้ผ่าน 25% ซึ่งคาดว่าเป็นไปได้ ปีต่อไปตลาดอำนวย โตได้สัก 5-10% ก็สวยหรูแล้ว'

ขณะที่ ผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2561 มีรายได้อยู่ที่ 449 ล้านบาท กำไรสุทธิ 52.38 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 60.18 ล้านบาท เพราะอยู่ระหว่างเคลื่อนย้ายเครื่องจักรไปประจำการในโครงการใหม่ๆ ตอนนี้ในคลังเก็บเครื่องจักรที่มีอยู่ก็ย้ายไปเพียงครึ่งเดียว แต่ตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นไป อาจวูบวาบไปตลอดและพีคไปในทุกไตรมาส

สำหรับ 'ปัจจัยเสี่ยง' ของธุรกิจที่กังวลมากสุด 'กลัวไม่มีงาน' เหมือนสมัยต้มยำกุ้งปี 2540 เป็นปีที่บริษัทปาดเหงื่อ เรียกว่าหนักมาก เพราะไม่มีงานเลย 5 ปี ตอนนั้นประเทศไม่พัฒนาและไม่มีคนจ้างงาน ขายเครื่องจักรก็ไม่มีคนซื้อ มีแต่คนเอาเครื่องจักรมาฝาก

ถามประเด็นฮอตฮิต หากเลือกตั้งต้องเลื่อนออกไป หรือไม่มีการเลือกตั้งเลย “หุ้นใหญ่” ตอบในมุมมองส่วนตัวว่า ไม่กระทบมากงานฐานรากคิดเป็นแค่ 5-10% ของมูลค่าโครงการ เช่น งานมูลค่า 100 ล้าน ได้ 5 -7 ล้านเท่านั้น ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาลใหม่ก็ต้องลงทุนโครงการต่างๆ เพราะว่าต้องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

'กลัวเรื่องเศรษฐกิจมากกว่าการเมือง แม้ที่ผ่านมามีการชุมนุมพาเหรดเสื้อเหลือง เสื้อแดง แต่สำหรับงานก่อสร้างไม่กระทบ อาจทำให้ชะลอไปบ้าง แต่ระหว่างนั้นก็ยังมีงานเก่า งานยังมีเต็มมือ มีโครงการ มีงานให้ทำเรื่อยๆ แต่พอมีปัญหาเศรษฐกิจขึ้นมา จอดเลย ไม่มีการลงทุนเกิดขึ้นทุกโครงการชะงักไปหมด'

ท้ายสุด 'ณรงค์' ปิดท้ายว่า หน้าที่ของเจ้าของคือ หางานมาป้อนบริษัทให้มากสุด และสร้างกำไรให้มากสุด ซึ่งจะสะท้อนมาที่ผลประกอบการจะเป็นคำตอบที่ชัดเจน แม้ตอนนี้หลายโบรกเกอร์จะเชียร์ซื้อ 'หุ้น SEAFCO' ก็ตาม แต่ในฐานะเจ้าของอยากให้บริษัทเติบโตยั่งยืนและสม่ำเสมอต่อไป...!!

รุก 'ต่างประเทศ' เพิ่มรายได้

'ณรงค์ ทัศนนิพันธ์' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ. ซีฟโก้ หรือ SEAFCO บอกว่า แม้ว่างานในเมืองไทยจะมีจำนวนมาก แต่ว่าบริษัทยังมองการลงทุนใน 'ต่างประเทศ' ด้วย โดยบริษัทเข้าไปลงทุน ตั้งบริษัทท้องถิ่นในประเทศเมียนมาภายใต้ชื่อ 'ซีฟโก้ เมียนมาร์' ซึ่งบริษัทลงทุนในเมียนมา 4 ปีแล้ว ทำเสร็จไป 10 กว่างาน มูลค่าราว 400-500 ล้านบาท

แม้ว่าปีที่แล้วสถานการณ์ในเมียนมาไม่ดีมาก เนื่องจากรัฐบาลมีการชะลอโครงการ แต่ตอนนี้เริ่มเห็นสัญญาณดีขึ้นแล้ว ซึ่งงานที่มีบริษัททำไปเกือบ 50% อาทิ โครงการแลนด์มาร์คที่ย่างกุ้ง และกำลังเตรียมเพิ่มเครื่องมือเข้าไป ซึ่งการลงทุนเครื่องมือใหม่ตรงนี้ไม่ได้มากนัก แนวโน้มที่เมียนมายังมีโอกาสเติบโต มีงานรอประมูลอีก 2-3 งาน

เขาบอกต่อว่า จากประสบการณ์ในเมียนมา ทำให้บริษัทขยายการลงทุนเข้าไปในประเทศกัมพูชา ซึ่งกำลังศึกษาเตรียมตั้งบริษัทเหมือนในเมียนมา ซึ่งปัจจุบันมีโครงการที่อยู่ระหว่างการศึกษาเข้าลงทุนร่วมกับพันธมิตรท้องถิ่นและผู้รับเหมาไทยด้วย

'คาดว่าในกัมพูชาจะได้รับงานช่วงปลายปีนี้ ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ต่างประเทศ 5-10% แต่หากได้งานตลาดกัมพูชาสัดส่วนรายได้จะเป็น 10-15% ฉะนั้น หากเรามี 3 ตลาด (ไทย-เมียนมา-กัมพูชา) จะทำให้บริษัทเติบโตแบบยั่งยืน และเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจอีกด้วย'

นอกจากนี้ ตอนนี้บริษัทมีการวิจัยพัฒนาต่อเนื่องไม่หยุด ทำให้บริษัทสามารถแข่งขันได้ ซึ่งธุรกิจรับเหมาก่อสร้างเติบโตตามการพัฒนาของประเทศ หากไม่มีศึกสงครามก็เชื่อว่าต้องโตไปอีก เพราะธรรมชาติของคน อยากอยู่ดี กินดี เดินทางสะดวก งานออกมาเยอะ คนอาชีพนี้มีมากขึ้น คนสร้างตึกก็ทำเสาเข็มก่อน สร้างทางด่วนก็ทำเสาเข็มก่อน คนจะสร้างจะทำอะไรก็ทำเสาเข็มก่อน อาชีพนี้ก็น่าจะมั่นคงในระดับหนึ่ง