‘สตูล’ห้องเรียนธรณีโลก

‘สตูล’ห้องเรียนธรณีโลก

ทุกตารางนิ้วคือการเรียนรู้ ปัจจัยสู่ความยั่งยืนของอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของเมืองไทย

............................................

บนกองหินที่ดูแห้งแล้งเกินกว่าจะเป็นที่เล่นสนุกสนาน เด็กๆ กลุ่มหนึ่งกำลังก้มหน้าก้มตาส่องๆๆ จากมุมนั้นย้ายไปมุมนี้ ราวกับว่าจะค้นหาปริศนาบางอย่างเพื่อไขรหัสจักรวาล

ซึ่งก็ไม่ได้เกินจริงมากนัก เพราะสิ่งที่พวกเขากำลังมองหาคือ ‘ฟอสซิล’ ที่หลงเหลือมาจากยุคดึกดำบรรพ์ ความมหัศจรรย์ของชีวิตที่อำพรางตัวผ่านกาลเวลาในก้อนหินที่คนอื่นอาจไม่เห็นค่า แต่พวกเขาคือผู้ค้นพบ

‘สตูล’ห้องเรียนธรณีโลก

นักสืบฟอสซิล จิ๋วแต่แจ๋ว

ย้อนหลังกลับไปเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว ด.ญ.บัซลา เกปัน ด.ญ.มุกอันดา เจริญขวัญ ด.ญ.วริศรา บุปผามาศ และเพื่อนๆ ชั้นประถมปีที่ 4 ของโรงเรียนอนุบาลสตูล เลือกทำโครงงาน “การสำรวจฟอสซิลในพื้นที่อำเภอเมือง จังหวัดสตูล” โดยพัฒนาโจทย์ขึ้นจากสมมติฐานง่ายๆ ว่า “ถ้าอำเภออื่นในสตูลมีการพบฟอสซิล อำเภอเมืองก็น่าจะมี” เพียงแต่ซากดึกดำบรรพ์นี้ซ่อนอยู่ที่ไหน...นั่นคือภารกิจของเด็กวัย 9-10 ขวบในตอนนั้น

“เริ่มจากเราเรียนวิชาบูรณาการซึ่งเป็นวิชาเพิ่มเติมของทางโรงเรียน เป็นวิชาที่ให้นักเรียนได้นำเสนอสิ่งที่ตัวเองสนใจ ตอนแรกก็มีหลายเรื่องเลยที่ต้องการจะศึกษา แต่ว่าด้วยความที่สตูลเป็นจังหวัดที่มีความอุดมสมบูรณ์ในเรื่องของธรรมชาติแล้วก็มีการค้นพบฟอสซิลแทบทุกอำเภอ แต่ตอนนั้น(5 ปีที่แล้ว)อำเภอเมืองยังไม่มี พวกเราก็คิดว่ามันน่าจะมี แต่ถึงขั้นฟอสซิลเราจะทำได้หรือเปล่า พอไปบอกคุณครูฉวีวรรณซึ่งสอนวิทยาศาสตร์ด้วย ท่านก็สนับสนุนความคิดของพวกเรา”

บัซลา ย้อนถึงที่มา ก่อนจะเล่าต่อถึงกระบวนการต่างๆ ที่ไม่ง่ายเลยสำหรับเด็กประถม “เริ่มแรกครูก็ให้หาข้อมูลว่าฟอสซิลคืออะไร สิ่งที่กลายเป็นหินบ้าง ร่องรอยบ้าง พวกเราก็เลยระดมความคิดกันว่าน่าจะออกไปดูของจริงๆ ก็เลยได้ไปที่พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา โรงเรียนกำแพง และพิพิธภัณฑ์ช้างดึกดำบรรพ์ทุ่งหว้า ที่มีการค้นพบฟอสซิลแล้วก็มีการเก็บพวกหินชนิดต่างๆ หลังจากนั้นก็มาคิดกันต่อว่าที่ไหนน่าจะมี พอลองไปเสิร์ชในกูเกิ้ลก็เจอว่า ‘บ่อดิน’ แต่ไม่รู้ว่าพิกัดอยู่ตรงไหน”

แม้คีย์เวิร์ดที่ได้จะเหมือนเข็มในทะเล แต่ด้วยการสนับสนุนจากคุณครูและผู้ปกครอง ทำให้ในที่สุดเด็กๆ ก็สามารถปักหมุดที่บ้านปอเก๊าะยามู ตำบลควนขัน ในเขตอำเภอเมือง

“ตอนนั้นเขากำลังจะสร้างโรงเรียนอยู่ เราก็ขออนุญาตเข้าไปหาฟอสซิล เดินๆ หาๆ โดยดูจากประเภทของหินก่อน ส่วนมากมันจะอยู่กับหินตะกอน หินโคลน หินพวกนี้พอเราไปลูบมันจะมีเศษดินติดนิ้วมา ก็สันนิษฐานว่าน่าจะมีฟอสซิลอยู่ พอเคาะๆ แล้วก็เจอ บางทีแค่เดินๆ ไปก็เจอเลย เราเจอฟอสซิลเยอะมาก ก็เลยเสนอเขาไปว่าพวกเราอยากจะอนุรักษ์พื้นที่ตรงนี้ไว้เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทุกคนสามารถเข้ามาเรียนรู้ได้” บัซลา บอกถึงความมุ่งมั่น ขณะที่มุกอันดา เล่าถึงความรู้สึกว่า

“ดีใจมาก เพราะไม่นึกว่าจะเจอแล้ว ก่อนหน้านั้นมันมีช่วงหนึ่งที่งานไม่ค่อยคืบหน้า แต่คุณครูก็บอกว่า อย่าท้อ ให้สู้ต่อไปก่อน เดี๋ยวก็สำเร็จเอง”

หลังจากนั้นไม่นาน เรื่องราวการค้นพบฟอสซิลหอยกาบคู่อายุ 350 ล้านปีและอีกหลายชนิดของนักสืบรุ่นจิ๋วซึ่งได้รับการยืนยันโดยนักธรณีวิทยาก็กลายเป็นข่าวดังระดับประเทศ ก่อนจะถูกยกระดับสู่เวทีนานาชาติ เมื่ออุทยานธรณีสตูล (Satun Geopark) ได้รับการประกาศจากยูเนสโก ให้เป็น ‘อุทยานธรณีโลก’(UNESCO Global Geopark) แห่งแรกของเมืองไทย ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา โดยมี ‘บ่อดิน’ แหล่งฟอสซิลจากการค้นพบของเด็กๆ เป็นหนึ่งในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสตูลที่มีคุณค่าทางธรณีวิทยาระดับโลก

โครงงานฐานวิจัย เรียนจริงรู้จริง

แม้ว่าผลงานของนักสืบฟอสซิลตัวน้อยเหล่านี้จะเป็นเรื่องน่าภูมิใจ แต่สิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้คือ รูปแบบการเรียนการสอนที่ใช้กระบวนการวิจัยเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ด้วยตัวเอง

‘สตูล’ห้องเรียนธรณีโลก

นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2544 เป็นต้นมา ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ได้ให้การสนับสนุนงานวิจัยในจังหวัดสตูลอย่างต่อเนื่อง ทั้งในเรื่องการศึกษา การท่องเที่ยวโดยชุมชน การจัดการทรัพยากร ฯลฯ รูปธรรมที่ชัดเจนอย่างหนึ่งคือการสร้าง ‘นักวิจัยชาวบ้าน’ ที่มีทักษะการคิด การพูด การเขียน การนำเสนอ ซึ่ง อ.สุทธิ สายสุนีย์ ในฐานะนักวิจัยและผู้อำนวยการโรงเรียนอนุบาลสตูล ได้นำแนวทางนี้ไปปรับใช้เพื่อจัดการเรียนรู้ภายในโรงเรียน

โครงงานฐานวิจัยถูกออกแบบโดยยึดหลักกระบวนการ 10 ขั้นตอน ได้แก่ เรียนรู้เรื่องใกล้ตัว, วิเคราะห์ สังเคราะห์ และย้อนทวนกระบวนการ, พัฒนาโจทย์วิจัย, ตั้งคำถามย่อยจากโจทย์วิจัย, ค้นหาวิธีเก็บข้อมูล, ศึกษาและค้นคว้าหาข้อมูล, วิเคราะห์และประมวลผลข้อมูล, ออกแบบและปฏิบัติการจริง, เก็บรวบรวมข้อมูลจากปฏิบัติการจริง, สรุป รายงานและนำเสนอ

“การศึกษาที่แท้จริง คือการศึกษาที่ต้องลงมือทำ ต้องปฏิบัติการ ต้องคลุก ต้องลงพื้นที่ ไม่ใช่แค่ศึกษาในห้องสี่เหลี่ยมแค่นั้น สำหรับที่นี่ต้องขอบคุณคุณครู เพราะว่าเราใช้โครงงานฐานวิจัยในการจัดการเรียนรู้มาตลอดเกือบ 10 ปี แล้วแต่ละปีก็เกิดโครงงานเยอะแยะมากมาย หนึ่งในนั้นเมื่อ 4-5 ปีที่แล้ว เด็ก ป.4 เขาเรียนรู้โครงงานเรื่องการหาแหล่งฟอสซิลในพื้นที่อำเภอเมือง ซึ่งในขั้นตอนการพัฒนาโจทย์และการลงพื้นที่ เด็กกลุ่มนี้ต้องไปขึ้นภูเขาหลายลูกมาก ไปเข้าถ้ำหลายถ้ำมาก เพราะต้องการจะหาซากฟอสซิล จนไปเจอที่บ่อดิน ซึ่งเขาดีใจกันมาก เราเห็นสายตาเด็กก็รู้สึกประทับใจ” ผอ.สุทธิ กล่าวด้วยความชื่นชม

เช่นเดียวกับ รศ.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการ สกว. ที่มองว่าการนำงานวิจัยมาเป็นฐานในการเรียนรู้ หรือ Research based learning ของโรงเรียนในจังหวัดสตูล ช่วยกระตุ้นการเรียนรู้ของเด็กได้เป็นอย่างดี

"เราจะเห็นการศึกษามากมายบอกว่าเป็น Active learning เรียนรู้อย่างกระตือรือร้น แต่ลงไปดูจริงๆ มันจะแอ๊คทีฟ เด็กก็สนุก แต่การเรียนรู้อาจจะยังไม่เกิดมากเท่าที่ควร Research based learning หรือโครงงานฐานวิจัยเนี่ย นอกจากเด็กจะแอ๊คทีฟแล้ว มันเกิดการเรียนรู้จริงๆ ผู้เรียนได้ลงมือจริงๆ เกิดความรู้จริงๆ นำมาต่อยอด คิดวิเคราะห์ หาคำตอบได้ อันนี้น่าสนใจมาก”

อย่างไรก็ดี การเปลี่ยนวิธีคิดของทั้งผู้บริหารโรงเรียน ครู และนักเรียน เพื่อจะร่วมกันออกแบบการเรียนรู้นอกห้องเรียน หรือมากกว่านั้นก็คือ ‘นอกกรอบ’ เป็นด่านแรกที่ต้องผ่านให้ได้

“การจัดการเรียนรู้อันนี้ไม่ใช่ครูเป็นคนบอก ครูจะเปลี่ยนหน้าที่ไปเลยค่ะ เราจะเป็นผู้อำนวยความสะดวกให้กับนักเรียน ยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ เริ่มตั้งแต่ว่าเขาอยากเรียนรู้เรื่องอะไร เสนอเรื่องขึ้้นมา แล้วก็มีการกลั่นกรองโดยการอภิปรายกันให้เห็นว่าทำไมถึงอยากเรียนรู้อันนี้ ที่ผ่านมาเราจะให้ทำโครงงานห้องเรียนละ 1 เรื่อง 1 ปีการศึกษา มีบริบทว่าเรื่องที่เสนอต้องเป็นเรื่องที่นักเรียนทำได้และเหมาะสมกับวัย ทำแล้วต้องสำเร็จไม่ทิ้งกลางทาง ต้องมีประโยชน์ต่อตนเอง และต้องบริการสังคมด้วย” คุณครูฉวีวรรณ ฮะอุรา ว่าอย่างนั้น

‘สตูล’ห้องเรียนธรณีโลก

สำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา แรกๆ ก็อาจจะมีความไม่มั่นใจบ้าง แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนจากคุณครูและผู้ปกครอง คำตอบหลังจากนั้นคือ สนุก ได้ความรู้ มีความภูมิใจ

“ผมชอบเรียนแบบนี้เพราะได้ออกมานอกสถานที่ อยู่ในห้องสี่เหลี่ยมมันก็น่าเบื่อ” ณัฐดนัย จันทร์เทพ นักเรียนชั้น ป.6 โรงเรียนอนุบาลสตูล ผู้เดินตามรอยนักสืบฟอสซิลรุ่นพี่ เล่าถึงมุมมองที่เปลี่ยนไปว่า

“เมื่อก่อนก็คิดว่ามันเป็นหินธรรมดาที่มีรอยประมาณนั้น พอรู้ว่าเป็นฟอสซิลก็คิดว่ามันเกิดมานานมาก แล้วแสดงให้เราเห็นว่าเขามีตัวตนอยู่จริง เดี๋ยวนี้เวลาเดินก็จะก้มมองดูเผื่อว่าจะเจอ...” เสียงเล็กๆ บอกพร้อมรอยยิ้ม ก่อนจะทิ้งท้ายว่า “ผมภูมิใจที่จังหวัดของเรามีสิ่งอัศจรรย์ครับ”

Geopark หลักสูตรของคนสตูล

เมื่อมี ‘ความรู้’ ย่อมเกิด ‘ความรัก’ นี่คือตรรกะพื้นฐานที่ทำให้เกิดแนวคิดในการสร้างหลักสูตร Geopark เพื่อหยั่งรากลงไปในจิตสำนึกของผู้คนที่จะต้องดูแลมรดกทางธรณีวิทยาแหล่งนี้

“ตอนนี้ทางจังหวัด ผู้ว่าฯเพิ่งลงนามในคำสั่งที่จะทำหลักสูตรจีโอปาร์ค โดยเฉพาะใน 5 กลุ่มคือ กลุ่มปฐมวัย กลุ่มมัธยม กลุ่มอุดมศึกษา กลุ่มทั่วไป และกลุ่มพิเศษ สาระสำคัญก็คือ จะเอาเนื้อหาของจีโอปาร์คเข้าไปใส่ในหลักสูตรการเรียนการสอนสำหรับสถานศึกษาในจังหวัดสตูล เพื่อให้คนสตูลเข้าใจว่า ฐานทรัพยากรของคุณที่เกี่ยวข้องกับจีโอปาร์ค มีความสำคัญอย่างไร

เหตุผลคือ ในฐานะเจ้าของพื้นที่เจ้าของทรัพยากร คุณต้องตระหนักถึงความสำคัญของสิ่งนี้ก่อน เพราะคนที่ดูแลรักษาคือคุณ ภูเขาอยู่ข้างบ้านคุณ ทะเลอยู่ข้างบ้านคุณ คนสงขลา คนกรุงเทพฯ คนแม่ฮ่องสอน ไม่สามารถที่จะมาปกป้องได้ ทีนี้การที่จะปกป้องตรงนี้ได้เขาต้องรู้ถึงความสำคัญ พอรู้แล้วจะตระหนัก พอตระหนักแล้วจะรัก พอรักแล้วจะหวงแหน เราเชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น” อ.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฎสงขลา ขยายความ

‘สตูล’ห้องเรียนธรณีโลก

แม้จะยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง แต่แนวทางคร่าวๆ ถูกวางไว้ให้รู้หลักการเบื้องต้นของการเกิดสภาพธรณีที่โดดเด่นของโลก โดยลงลึกไปตามระดับการศึกษา ทว่า หัวใจสำคัญอยู่ที่การลงพื้นที่จริง ปฏิบัติจริง

“คำว่าหลักสูตรนี่ไม่ใช่นั่งเรียนในห้อง เน้นการลงพื้นที่ แล้วก็มีแล็บง่ายๆ ที่ให้เห็นและปฏิบัติจริงในพื้นที่เลย ผมคิดว่าการศึกษาใฝ่รู้ที่เกิดจากแรงบันดาลใจ สำคัญที่สุดอย่าไปทำให้เด็กต้องรู้เพียงเพื่อสอบให้ผ่าน เพราะฉะนั้นกิจกรรมที่มันใกล้ตัว ในที่สุดจะสร้างแรงบันดาลใจได้ดี” อ.บรรจง ย้ำหลักการสำคัญและว่า หลักสูตรนี้น่าจะเริ่มได้ในปีการศึกษาหน้า

“เดิมเขาเรียนอยู่แล้วนะ ในกลุ่มสาระวิทยาศาสตร์โลกและอวกาศ วิทยาศาสตร์พื้นพิภพ ไม่ใช่เด็กจะมาเรียนใหม่ เพียงแต่ว่าเราจะทำหลักสูตรเฉพาะของสตูล คือแทนที่จะไปยกตัวอย่างของแม่เมาะ ยกตัวอย่างซากไดโนเสาร์ที่บุรีรัมย์ เราก็ใช้ฐานทรัพยากรในสตูลเป็นองค์ประกอบในหลักสูตร เพราะองค์ความรู้หลักมันเหมือนกันทุกที่ การเกิดฟอสซิล ยุคทางธรณี เพียงแต่เอาตัวอย่างที่ใกล้ตัวเขาไปใส่ เวลาลงพื้นที่เขาก็ลงไปปฏิบัติจริง”

สอดคล้องกับความเห็นของ ผอ.สุทธิ ที่บอกว่าไม่อยากให้หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรสตัฟฟ์ เขียนไว้สวยหรู แต่สร้างการเรียนรู้ไม่ได้จริง “...เด็กต้องลงพื้นที่ ต้องทำจริงๆ ตามศักยภาพตามวัย ผมเชื่อว่ามันจะได้ แต่ถ้าให้ดูภาพดูวิดีโอ ให้เขียนชื่อเขียนอะไรมันก็ฉาบฉวยอยู่ดี”

นอกจากข้อกังวลเหล่านี้แล้ว ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอีกอย่างหนึ่งคือ การจัดการศึกษาสำหรับกลุ่มพิเศษ โดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่ใกล้แหล่งธรณีวิทยา อ.บรรจง ในฐานะผู้รับผิดชอบ ประเมินว่าคงไม่ใช่การไปสอนให้เขาท่องจำข้อมูลต่างๆ เพื่อไปเล่าให้นักท่องเที่ยวฟัง แต่จะเป็นการไปศึกษาภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตภายใต้สภาพแวดล้อมที่พิเศษนี้มากกว่า

“กลุ่มพิเศษก็มีเซมังที่อยู่บนภูเขา ชาวน้ำอูรักลาโว้ยที่อยู่บนเกาะ สองกลุ่มนี้เราต้องไปดึงความรู้เขามา เขาใช้ชีวิตในทะเล เขาอ่านลมยังไง อ่านฝนยังไง อ่านแสงแดดยังไง เวลาประสบภัยพิบัติอย่างสึนามิเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขามีสัญชาตญาณในการเอาตัวรอดอย่างไร”

ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้การอนุรักษ์อุทยานธรณีโลกสตูลซึ่งกินพื้นที่กว่า 2,500 ตารางกิโลเมตรเป็นไปอย่างครอบคลุม  เนื่องจากในอาณาบริเวณของอุทยานธรณีฯนั้นมีทั้งส่วนที่ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า พื้นที่ของรัฐและเอกชน ลำพังกำลังเจ้าหน้าที่คงดูแลไม่ทั่วถึง 

“ถามว่าแหล่งนั้นมันอยู่ตรงไหน มันอยู่ตรงชุมชน มันอยู่ตรงข้างบ้าน อยู่ตรงอบต. เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราพูดกันมาตลอดก็คือว่า จะทำอย่างไรให้คนหรือชุมชนหรือหน่วยงานที่อยู่ข้างๆ ฐานทรัพยากรตรงนั้นรู้และเข้าใจให้เร็วที่สุด เพราะเขาจะเป็นคนป้องกันได้ดีที่สุด สมมติเกิดการขโมยที่ละงู โทรไปที่อำเภอ อำเภอโทรมาจังหวัด ใครจะวิ่งไปทัน ของก็ออกจากพื้นที่ไปซะแล้ว

ในส่วนของมัคคุเทศก์ก็เหมือนกัน ไม่อยากให้ท่องจำแล้วไปเล่า ต้องพูดด้วยความเข้าใจ เราเองต้องมีกระบวนการให้ความรู้ สร้างความตระหนัก และสร้างมาตรฐานการป้องกันไปด้วย”

หากมองในมุมของนักการศึกษาอย่าง อ.สุทธิ การป้องกันที่ดีที่สุดน่าจะมาจากการเปิดพื้นที่ให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาและหาแนวทางสร้างความยั่งยืน โดยอาจจะใช้โรงเรียนซึ่งกระจายตัวอยู่ในทุกพื้นที่เป็นแกนกลางในการเชื่อมโยงชุมชน เชื่อมโยงภูมิปัญญา สร้างความรักความผูกพันกับชุมชนกับรากเหง้าของตนเอง

เพราะด้วยความตระหนักในคุณค่าของทรัพยากรที่เชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของคนในท้องถิ่นเท่านั้น...ที่จะทำให้มรดกแห่งอดีตส่งต่อไปถึงอนาคต

‘สตูล’ห้องเรียนธรณีโลก