วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (1 มิ.ย.61)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (1 มิ.ย.61)

WTI ปรับลดหลังนักลงทุนกังวลการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

- ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัส (WTI) ปรับตัวลดลงหลังสถาบันสารสนเทศด้านพลังงานของสหรัฐฯ (EIA) เปิดเผยว่า ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ ในเดือนมี.ค. 61 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 215,000 บาร์เรลต่อวันขึ้นไปแตะระดับ 10.47 ล้านบาร์เรลต่อวัน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดของสหรัฐฯ โดยเป็นผลมาจากการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากแหล่งน้ำมันดิบ Permain

- นอกจากนี้ ราคาน้ำมันดิบยังได้รับแรงกดดันจากการพิจารณาเพิ่มกำลังการผลิตอีกราว 1 ล้านบาร์เรลต่อวันของกลุ่มโอเปกและรัสเซีย เพื่อชดเชยกับอุปทานน้ำมันดิบที่หายไปจากเวเนซุเอลาและปริมาณการส่งออกของอิหร่านที่อาจลดลงหลังถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตร โดยจะมีความชัดเจนยิ่งขึ้นในการประชุมโอเปควันที่ 22-23 มิ.ย. ณ กรุงเวียนนา

+/- ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อย และส่งผลทำให้ส่วนต่างระหว่างน้ำมันดิบเบรนท์และเวสต์เทกซัสปรับตัวขึ้นไปแตะระดับ 11 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ซึ่งเป็นระดับสูงสุดตั้งแต่เดือนมี.ค. 58 เป็นต้นมา เป็นผลมาจากความสามารถในการขนส่งน้ำมันดิบผ่านท่อที่จำกัดการส่งออกน้ำมันดิบของสหรัฐฯ

+ EIA รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ปรับตัวลดลง 3.6 ล้านบาร์เรลในสัปดาห์ที่ผ่านมา มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลด 525,000 บาร์เรล หลังการนำเข้าน้ำมันดิบปรับตัวลดลง 530,000 บาร์เรลและการส่งออกเพิ่มขึ้น 431,000 บาร์เรลขึ้นไปแตะระดับ 2.2 ล้านบาร์เรล

ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากปริมาณการส่งออกจากจีนที่มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม ตลาดยังได้รับแรงหนุนจากความต้องการใช้ตามฤดูกาลจากประเทศอินโดนีเซีย อินเดีย และเวียดนาม

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ โดยได้รับแรงกดดันจากอุปทานน้ำมันสำเร็จรูปที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากโรงกลั่นส่วนใหญ่เริ่มกลับมาดำเนินการตามปกติ หลังจากช่วงปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น รวมถึงอุปสงค์ที่ปรับตัวลดลงในภูมิภาค

ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 65-70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 74-79 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

  • จับตาความคืบหน้าระหว่างกลุ่มโอเปคและนอกโอเปคว่าจะมีมาตรการปรับเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรองรับอุปทานที่หายไปจากอิหร่านและเวเนซุเอลาหรือไม่ จากการประชุมล่าสุดระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซียคาดจะมีการทยอยปรับเพิ่มกำลังการผลิตกว่า 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ทั้งนี้กลุ่มผู้ผลิตจะมีการทบทวนมาตรการดังกล่าวในการประชุมโอเปคในวันที่ 22 มิ.ย. 61
  • ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐฯ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังสหรัฐฯ ได้เพิ่มการขุดเจาะในช่วงที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่องจากราคาน้ำมันดิบที่สูงเหนือระดับต้นทุนการผลิต โดยปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐฯ จะปรับเพิ่มขึ้นเหนือระดับ 11 ล้านบาร์เรลต่อวัน เร็วกว่าที่คิดไว้ในช่วงก่อนสิ้นปีเป็นไตรมาส 4 ของปีนี้
  • ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ มีแนวโน้มปรับลดลง หลังปริมาณการนำเข้าน้ำมันดิบของสหรัฐฯ คาดจะปรับลดลง ในขณะที่ความต้องการใช้น้ำมันของโรงกลั่นมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

------------------------------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)          

         โทร.02-797-2999