ตามหา...หอยกาบน้ำจืด

ตามหา...หอยกาบน้ำจืด

เรื่องราวเปลือกหอยน้ำจืดเฉพาะถิ่นที่ผู้คนมองข้าม และเดินเหยียบย่ำ

..............

ท่ามกลางแสงแดดแผดร้อนสลับกับฟ้าครึ้มเมฆฝนในช่วงหลังกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ผมไปยืนโก้งโค้งก้มหน้าก้มตาเเก็บซากเปลือกหอยกาบน้ำจืดตามห้วยหนองคลองบึงและแนวเขื่อนแห่งเมืองขอนแก่น จนหนังท้องตึง หน้าเริ่มมืด จุกถึงคอเพราะเพิ่งอัดข้าวเหนียวไก่ย่าง ส้มตำ ฯลฯ มาตุงเต็มกระเพาะ 

เพิ่งเข้าใจหัวอกชาวนาไทยและชาวอีสานที่ก้มหน้าทำงานหลังสู้ฟ้าตากแดดกรำฝน ร้อนจนแทบหน้ามืดเป็นลมเอาก็คราวนี้นี่เอง

หอยที่ผมสนใจเป็นพิเศษคือ กลุ่มScabies spp. หอยกาบน้ำจืดสองฝาขนาดเท่าฝักถั่วลิสงขนาดเล็ก บางชนิดฝาหอยแต่ละด้านเล็กเท่าเล็บนิ้วชี้คนเท่านั้นเอง ที่พบในพื้นที่นี้มีสามชนิดได้แก่ Scabies phaselus,Scabies crispata และScabies nucleus ชนิดที่ขนาดเล็กสุด

หอยกาบทั้งสามชนิดคล้ายกันมาก มีลายนูนเป็นเส้นซิกแซกบนผิวเปลือกทั้งสอง คล้ายคลื่นตัววีสีเขียวอ่อนแก่ซ้อนเรียงแนวกันบนพื้นผิวหลังสีใบตองอ่อนจาง ๆ 

เพื่อนเล่าให้ฟังว่า ในแต่ละแหล่งมีชื่อเรียกตามภาษาถิ่นต่างกัน ในสกลนครเรียก “หอยสบนก” หรือ “หอยปากนก” ส่วนพื้นที่อื่นของภาคอีสานโดยมากจะเรียกว่า “หอยทราย”

ผมเอง ฝันจะเก็บให้ได้ด้วยมือตัวเองสักครั้ง  ซึ่งในที่สุดฝันผมก็เป็นจริง อาจารย์ไพรัช ทาบสีแพร แห่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยขอนแก่น พาผมไปจุดที่เคยสำรวจประชากรหอยชนิดนี้

แม้จะพบหอยชนิดนี้ยากมาก แต่ถ้าพบS. phaselus และS. crispata สักอย่างละสามร้อยเปลือก ก็จะพบS. nucleus ได้สักเปลือก ซึ่งท่านก็เก็บได้เป็นคนแรกและนำมาวางบนฝ่ามือให้ผมด้วยความเมตตา จากนั้นจึงสอนวิธีสังเกตเพื่อค้นหาหอยชนิดนี้

S. nucleus แสนสวย แตกต่างจากอีกสองชนิด  เปลือกกลมรีกว่า มีปุ่มปมเป็นแนว ส่วนลายเปลือกที่เป็นเส้นซิกแซกก็ยกตัวนูนสูงขึ้นทั้งเปลือก และมีสีเข้มกว่าอีกสองชนิดนั้นมาก

ห้วงเวลาที่ได้พบกับเปลือกหอยน้ำจืดเฉพาะถิ่นตัวจิ๋วที่ผู้คนมองข้ามและเดินเหยียบย่ำ ผมแสนสุขใจ อย่างน้อยมันยังคงดำรงชีพและสืบพันธุ์ในแหล่งน้ำจืดของประเทศเรา

หอยทั้งสามชนิดพบเฉพาะในเขตประเทศไทยและประเทศเพื่อนบ้านรายรอบสามสี่ประเทศ

หากสัมผัสพิเศษของผมไม่พลาด เราอาจมีชนิดใหม่ของโลก รอการค้นพบและตั้งชื่อในถิ่นนี้

การสำรวจเรียนรู้ ต่อยอดข้อมูลของคนรุ่นผมและผู้คนในอนาคต อาจเป็นคำตอบของวันพรุ่งนี้