ส.ว.สหรัฐฯ เข้าพบ 'ประยุทธ์' ยกไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค

ส.ว.สหรัฐฯ เข้าพบ 'ประยุทธ์' ยกไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค

"ส.ว.สหรัฐฯ" เข้าพบ "ประยุทธ์" มุ่งหวัง 2 ประเทศมีความสัมพันธ์อันดี ระบุไทยมีบทบาทสำคัญในภูมิภาค ชี้ การเป็น "ปธ.อาเซียน" ในปีหน้า ยิ่งเสริมบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ ชมความพยายามแก้ค้ามนุษย์-สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์

เมื่อวันที่ 31 พ.ค.61 เวลา 13.30 น. นายโครี่ การ์ดเนอร์ (Cory Gardner) ประธานคณะอนุกรรมการด้านเอเชียตะวันออก แปซิฟิก และนโยบายความมั่นคงทางไซเบอร์ระหว่างประเทศ วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา เข้าเยี่ยมคารวะพล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. ทั้งนี้ พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยการหารือว่า นายกฯ ยินดีต้อนรับวุฒิสมาชิกโครี่ การ์ดเนอร์ ที่เดินทางเยือนไทยเป็นครั้งแรก โดยปีนี้จะครบรอบ 200 ปี ที่ประชาชนของทั้งสองติดต่อค้าขายกัน และครบรอบ 185 ปีความสัมพันธ์ทางการทูต ซึ่งไทยเป็นประเทศแรกในเอเชียที่มีความสัมพันธ์กับสหรัฐฯ และหวังว่าไทยและสหรัฐฯ จะมีความสัมพันธ์อันดีต่อกันในอนาคตอย่างยาวนานต่อไป โอกาสนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ได้เสด็จฯ ในพิธีเปิดนิทรรศการ Great and Good Friends ซึ่งจัดโดยเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย ซึ่งมีส่วนช่วยสร้างการรับรู้ทั้งแก่ชาวไทยและชาวอเมริกัน เกี่ยวกับความสัมพันธ์และความเป็นพันธมิตรระหว่างไทยกับสหรัฐฯ ที่มีมายาวนานและแนบแน่นด้วย

พล.ท.วีรชน กล่าวว่า นายกฯ ยังกล่าวถึงการเยือนสหรัฐฯ ในการพบหารือกับประธานาธิบดีทรัมป์ เมื่อเดือนต.ค. 60 ได้หารือกันอย่างเป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ ได้เพิ่มพูนความร่วมมือระหว่างกันในทุกมิติ เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย และประโยชน์ส่วนรวมของภูมิภาคและประชาคมระหว่างประเทศ สำหรับความร่วมมือด้านการทหารและความมั่นคงนั้น ไทยพร้อมร่วมมือกับสหรัฐฯ โครงการฝึกร่วมทางทหาร Cobra Gold เป็นหัวใจสำคัญของความร่วมมือทางทหาร ไทย-สหรัฐฯ มีการจัดอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2525 ปัจจุบันกลายเป็นการฝึกร่วมทางทหารที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก สำหรับปีนี้ มีประเทศต่าง ๆ กว่า 29 ประเทศแจ้งความประสงค์ขอเข้าร่วมเป็นประเทศร่วมฝึกหลัก (full participants)

พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า ไทยกับสหรัฐฯ ยังมีความร่วมมือด้านการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มแข็ง ทั้งด้านต่อต้านยาเสพติด การตรวจสอบศุลกากร การส่งผู้ร้ายข้ามแดน การค้ามนุษย์และค้าสัตว์ป่า และอาชญากรรม ข้ามชาติอื่น ๆ ปีนี้จะเป็นปีแรกที่ไทยเป็นเจ้าภาพการฝึก Pacific Partnership Exercise ด้านการให้ความช่วยเหลือด้าน มนุษยธรรมและตอบสนองต่อภัยพิบัติ ซึ่งประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี หวังว่าทั้งสองฝ่ายจะร่วมมือกัน อย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ ไทยพร้อมขยายความร่วมมือกับสหรัฐฯ เพื่อรับมือกับความท้าทาย รูปแบบใหม่ โดยเฉพาะในด้านไซเบอร์ การต่อต้านการก่อการร้าย และความมั่นคงทางทะเล

นอกจากนั้น สำหรับประเด็นระหว่างประเทศและภูมิภาคนั้น ไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับสหรัฐฯ และสนับสนุนการดำเนินการภายใต้ยุทธศาสตร์อินโด- แปซิฟิก ที่เปิดกว้างและเสรี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กลไก ตลาดเสรีซึ่งตั้งอยู่บนพื้นฐานของกฎกติกาสากล และการเสริมสร้างความเชื่อมโยงในภูมิภาค ทั้งนี้ หากสหรัฐฯ จะมีการเพิ่มมิติเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงในภูมิภาคให้มากขึ้น ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิก จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อทั้งสหรัฐฯ และประเทศในภูมิภาคเพิ่มขึ้น ซึ่งไทยยังพร้อมให้ความร่วมมือส่งเสริมบทบาทของสหรัฐในภูมิภาค ในกรอบอนุภูมิภาคเช่น ACMECS BIMSTEC และ IORA เป็นตัวเชื่อม (building blocks) เข้ากับยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกในกรอบใหญ่

พล.ท.วีรชน กล่าวอีกว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าการลงทุนนั้น รัฐบาลไทยขอให้สหรัฐฯ พิจารณาร่วมมือด้านการค้าการลงทุนกับไทยเพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั้งสองฝ่าย โดยคำนึงถึงปัจจัยพื้นฐานภายในของประเทศไทยเช่น ขนาด การเป็นประเทศเกษตรกรรม และการเติบโตทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ รัฐบาลไทยมีโครงการ Thailand 4.0 ซึ่งเกิดจากการวางนโยบายระยะยาว ผ่านยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะพัฒนาประเทศไปสู่การใช้เทคโนโลยี ใช้ดิจิทัลเพื่อช่วยพัฒนาประเทศไทยและภูมิภาค ซึ่งในกรอบการพัฒนานี้ มีการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้สิทธิประโยชน์แก่นักลงทุนต่างชาติอย่างมาก จึงหวังว่านักลงทุน สหรัฐฯ จะสนใจร่วมลงทุนในประเทศไทย ซึ่งฝ่ายสหรัฐฯ กล่าวยินดีที่จะร่วมลงทุนในประเทศไทย

"ในโอกาสนี้ วุฒิสภาสหรัฐอเมริกา ชื่นชมประเทศไทย ที่มีความสวยงาม ให้ความต้อนรับในการเดินทางมาเยือนไทยครั้งนี้ได้เป็นอย่างดี และมีความมุ่งมั่นให้ทั้งสองประเทศมีความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน โดยเห็นว่าประเทศไทยเป็นประเทศสำคัญที่มีบทบาทในภูมิภาค โดยเฉพาะอย่างยิ่งไทยจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า ซึ่งจะยิ่งส่งเสริมบทบาทของไทยในเวทีระหว่างประเทศยิ่งขึ้น และความพยายามของไทยในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์และการจัดการกับปัญหาสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์" พล.ท.วีรชน กล่าว