ไฟเขียว! ขยายวันรับนศ.อาชีวะพรีเมียม 'ระบบราง-แม็คคาฯ' ถึง 10 มิ.ย.

ไฟเขียว! ขยายวันรับนศ.อาชีวะพรีเมียม 'ระบบราง-แม็คคาฯ' ถึง 10 มิ.ย.

"อุดม" ไฟเขียวอาชีวะพรีเมียม 2 สาขา "ระบบราง-แม็คคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ฯ" ขยายเวลารับนักศึกษาเพิ่มถึง 10 มิ.ย.ที่นั่งเหลือเพราะเปิดช้า พ่อแม่กังวลค่าใช้จ่ายกรณีต้องเรียนในต่างประเทศ มอบ สอศ.เจรจาเอกชนสนับสนุนทุนเด็กเรียนต่อ

วานนี้ (30 พ.ค.) นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยว่า จากการประชุมเพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการ เพื่อยกระดับคุณภาพหลักสูตรอาชีวศึกษาตามนโยบายรัฐ หรืออาชีวะพรีเมียม ใน 7 สาขา ได้แก่ สาขาระบบขนส่งทางราง สาขาแม็คคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ สาขาช่างอากาศยาน สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม สาขาโลจิสติกส์ และสาขาเกษตรสมัยใหม่ (สมาร์ทฟาร์มมิ่ง) ใน 27 วิทยาลัย ในหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ร่วมกับวิทยาลัยต่างประเทศ จบการศึกษาได้รับทวิวุฒิ ซึ่งเริ่มรับนักศึกษารุ่นแรก ปีการศึกษา 2561 โดยพบว่าวิทยาลัยเปิดรับนักศึกษาได้ 70-80% โดยเฉพาะ 2 สาขา ได้แก่ สาขาระบบราง และสาขาแม็คคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์อุตสาหกรรม ยังมีที่นั่งพอรองรับ ดังนั้น เพื่อให้แต่ละวิทยาลัยสามารถรับเด็กได้ตามเป้าหมาย ที่ประชุมจึงมีมติให้วิทยาลัยขยายการรับนักเรียนออกไปจนถึงวันที่ 10 มิถุนายน

"สาเหตุที่ยังรับได้ไม่เต็มจำนวนอาจเพราะหลักสูตรดังกล่าวเปิดรับได้ช้า เด็กหลายคนมีที่เรียนแล้ว อีกทั้งบางสาขา เช่น ระบบขนส่งทางรางมีความร่วมมือกับประเทศจีน 1 ปีตามหลักสูตร ทำให้ผู้ปกครองอาจจะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย ทั้งนี้ โครงการอาชีวะพรีเมียมเป็นการเรียนหลักสูตรพันธุ์ใหม่ ในสาขาที่ตอบโจทย์ ตรงความต้องการของภาคอุตสาหกรรม เด็กจะมีความรู้ทักษะและสมรรถนะสูง เรียนจบแล้วสามารถเข้าทำงานเลย ผมจึงมอบให้สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ไปหาวิธีการหาทุนเพื่อสนับสนุนเด็กที่มีความรู้ ความสามารถโดยไปเจรจากับผู้ประกอบการรายใหญ่ ที่ต้องการเด็กสาขาเหล่านี้มาร่วมให้ทุนสนับสนุนเด็กด้วย เพราะเด็กเหล่านี้เมื่อเรียนจบ จะมีสมรรถสูงและสามารถทำงานได้จริงเพื่อจะไปช่วยพัฒนาการทำงาน” รมช.ศึกษาธิการ กล่าว

นพ.อุดม กล่าวต่อไปว่า ขณะเดียวกัน ที่ประชุมยังขอให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) เปิดคอร์สอบรมให้กับครูอาชีวะ และมอบหมายให้มหาวิทยาลัยแม่โจ้ มาเป็นช่วยเป็นพี่เลี้ยงในเรื่องสมาร์ทฟาร์มมิ่ง ให้กับวิทยาลัยเกษตร 5 แห่ง ซึ่งเรื่องนี้ตนคิดว่าเป็นเรื่องที่สำคัญมาก เพราะบางวิทยาลัยอาจมีครูในวิชานี้แต่ยังไม่เพียงพอ หรืออาจจะมีแต่ยังไม่เก่ง

สำหรับวิทยาลัยที่เปิดสอนหลักสูตรอาชีวะพรีเมียม 6 สาขาวิชา ดังนี้ ได้แก่ สาขาระบบขนส่งทางราง เป็นหลักสูตรระดับ ปวส. เรียน 3 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยการอาชีพ (วก.) บ้านไผ่ วิทยาลัยเทคนิค (วท.) สุราษฎร์ธานี วท.วาปีปทุม และ วท.ชลบุรี โดยมีกลุ่มวิทยาลัยคู่ความร่วมมือ ประกอบด้วย วิทยาลัยเทคโนโลยีและอาชีวศึกษาการรถไฟหวู่ฮั่น วิทยาลัยและอาชีวศึกษาการรถไฟเทียนจิน วิทยาลัยเทคนิคการรถไฟความเร็วสูงหูหนาน และวิทยาลัยการคมนาคมขนส่งสาธารณฉงชิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

สาขาเมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ เป็นหลักสูตรระดับ ปวส. เรียน 2 ปีครึ่ง เปิดสอนใน 2 วิทยาลัย ได้แก่ วท.พระนครศรีอยุธยา และ วท.มีนบุรี จับคู่กับวิทยาลัยเทคนิคและอาชีวศึกษาเทียนจินโป๋ห่าย ประเทศจีน สาขาช่างอากาศยาน หลักสูตรระดับ ปวส.เรียน 2 ปีอิงมาตรฐานสากลองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (International Civil Aviation Organization – ICAO สอนใน 6 วิทยาลัย ได้แก่ วท.ถลาง วท.สัตหีบ วท.ดอนเมือง วท.สมุทรปราการ วท.อุบลราชธานี และ วท.ขอนแก่น จับคู่ความร่วมมือกับสถาบันการบินพลเรือน และสถานประกอบการในประเทศ, สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม หลักสูตร ปวส.เรียน 2 ปี เปิดสอนใน 4 วิทยาลัย ได้แก่ วท.สมุทรสงคราม วท.สมุทรสาคร วท.สระบุรี และ วท.สุพรรณบุรี จับคู่กับมหาวิทยาลัยในประเทศเยอรมนี ซึ่งองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมนี จะดำเนินการคัดเลือกมหาวิทยาลัยให้, สาขาโลจิสติกส์ เปิดสอนระดับ ปวส.เรียน 2 ปีครึ่ง สอนใน 1 วิทยาลัย ได้แก่ วิทยาลัยอาชีวศึกษาอุดรธานี จับคู่กับ Chongqing City Management College : CCMC ของจีน

นอกจากนี้ สถาบันโคเซ็น ประเทศญี่ปุ่น จะมาจับคู่กับ วท.สุรนารี จับคู่กับการสอนสาขา แม็กคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์ และจับคู่กับวิทยาลัยอาชีวศึกษาเทคโนโลยีฐานวิทยาศาสตร์ชลบุรี สาขาหุ่นยนต์เพื่อการอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหลักสูตร ปวส.เรียน 5 ปีต่อเนื่อง รับเด็กจบมัธยมศึกษาปีที่ 3 สาขาเกษตรสมัยใหม่ (สมาร์ทฟาร์มมิ่ง) ดำเนินการในวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี