ทปอ.ย้ำปีหน้าปรับปรุงทีแคส คาด2-3เดือนสรุปทีแคสโฉมใหม่

ทปอ.ย้ำปีหน้าปรับปรุงทีแคส คาด2-3เดือนสรุปทีแคสโฉมใหม่

ทปอ.ชี้ รอบ 3 ผ่านการวิเคราะห์อย่างดี สร้างสมดุล 3 ทั้งสิทธิการเลือกของนักเรียน ลดการกั๊กที่จำนวนมากและยาวนานลง

วันนี้ (31 พ.ค.) รศ.ดร.ประเสริฐ คันธมานนท์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ในฐานะเลขาธิการที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) กล่าวถึงกรณีที่มีผู้ปกครองมายื่นหนังสือถึงปัญหาของระบบ การรับสมัครบุคคลเข้าศึกษาต่อในสถาบันอุดมศึกษา หรือทีแคสรอบ 3 ว่า หลังจากที่แก้ปัญหาทีแคสรอบ 3 ไปเมื่อวันที่ 30 พ.ค. 61 โดยเพิ่มการเคลียริ่งเฮาส์รอบ 3/2 เพื่อแก้ปัญหาการกั๊กที่นั่งจากเด็กคะแนนสูง ซึ่งหากผู้ปกครองกังวลใจ ค้างคาใจ หรือติดใจ ทปอ.พร้อมรับเรื่องไว้ไปพิจารณาและแก้ไข แต่ขอยืนยันว่าระบบทีแคสผ่านการพิจารณาในหลายมิติ ไม่ใช่ว่าออกแบบโดยไม่ดูผลว่าจะเกิดอะไรขึ้น แต่ระบบทีแคสที่เกิดขึ้น พบว่ามีข้อทวงติงน้อยที่สุดแล้ว เพราะจะให้ไม่มีเลยก็ไม่ได้ เนื่องจากระบบใช้กับคนหมู่มาก จะถูกใจทุกคนเป็นไปไม่ได้ ระบบดังกล่าวทำให้มีเสียงบ่นน้อยที่สุด และเมื่อมีการดำเนินการแล้วมีปัญหา ระบบไม่เหมาะสมก็รีบพิจารณาอย่างรวดเร็วเพื่อออกมาตรการลดความกังวลของผู้ปกครอง

รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวต่อว่าทปอ.จะรวบรวมข้อร้องเรียนทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็น เรื่องที่เสนอให้เคลียริ่งเฮาส์ กสพท.ออกไปก่อน หรือมีสิทธิเลือก 2 ตัวเลือก หรือ การเข้าสมัครตามรหัสของเด็กเป็นวันๆ เป็นต้น เพื่อปรับปรุงแก้ไขระบบทีแคสในปีหน้า ซึ่งคาดว่า2-3เดือนจะได้ข้อสรุปว่าทีแคสปีหน้าจะเป็นไปในทิศทางใด ทั้งนี้ปีหน้ามีการเปลี่ยนแน่นอน แต่จะเปลี่ยนอย่างไรยังตอบไม่ได้ ต้องรอการประชุมหารือกันก่อน อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้เหมือนระบบภาษี ที่ทุกคนจะเข้ามาทำในวันสุดท้าย โดยธรรมชาติแล้วหากเปิดระบบ 9 โมง ก็จะแน่นช่วงตอน 10 โมง ต่อให้บอกเปิดระบบตี 5 เด็กก็มารอตั้งแต่ตี 4 แต่รับรองว่า ในปีหน้า จะมีการปรับปรุงระบบวิธีการให้ดีขึ้นแน่นอน แต่จะปรับปรุงอย่างไรยังตอบไม่ได้ ต้องรอการประชุมหารือกันก่อน

รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทีแคส รอบ 3/2นั้น อยากให้ทุกฝ่ายเข้าใจว่า ผ่านการวิเคราะห์อย่างดีแล้วที่จะช่วยแก้ปัญหาการกั๊กที่นั่งจากกลุ่ม กสพท. แต่อาจไม่สมบูรณ์แบบ เพราะเด็กที่เก่งอย่างไรก็ต้องติดสัก 1 ที่ ส่วนสาเหตุที่ต้องให้เลือก 4 ตัวเลือกแบบไม่มีอันดับนั้น ต้องชี้แจงว่าทีแคส รอบ 3 ออกแบบโดยคำนึงถึงความสมดุล 3 เรื่อง คือ 1.สิทธิในการเลือกของนักเรียน เพราะหากให้เลือกได้ 1 ตัวเลือก ก็จะไม่มีการกันที่นั่งกันเลย แต่สิทธิของนักเรียนในการเลือกก็จะไม่มี ปัญหาก็จะเกิดขึ้นคือมหาวิทยาลัยที่เป็นที่นิยมก็จะมีคนถล่มไปเลือก 2.ความเหลื่อมล้ำ หรือการกันที่กัน ซึ่งอดีตมีการกั๊กที่นั่งกันจำนวนมากและยาวนาน จนเปิดภาคเรียนถึงรู้ว่าเด็กสละสิทธิ์ ระบบใหม่จึงมาผ่อนคลายเรื่องนี้ ทำให้เกิดการกันที่ได้แค่ 4 และหยุดไว้ไม่ให้เกิดการกันที่นาน คือ เคลียริ่งเฮาส์ทันที เพื่อจัดการเรื่องการกันที่ออกไป ให้เด็กคะแนนรองลงไปได้เลือกตามเกณฑ์ และ 3.มหาวิทยาลัย มีเกณฑ์ในการคัดเลือกเด็กเอง เพราะอยากได้เด็กที่ตรงความต้องการที่สุด

"การพัฒนาระบบการคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยต้องสร้างสมดุล 3 วัตถุประสงค์ดังกล่าว จึงเป็นรูปแบบที่เห็นคือ 4 ตัวเลือกเพื่อไม่ให้กั๊กที่นั่งจำนวนมากและยาวนาน เคลียริ่งเฮาส์ทันที แต่ไม่สามารถจัดลำดับได้เพราะเป็นการใช้เกณฑ์ของมหาวิทยาลัยเอง ไม่มีเกณฑ์คะแนนรวม อย่างที่บอกว่ามหาวิทยาลัยอยากได้คนตามความต้องการของตัวเองจึงใช้เกณฑ์คัดเลือกขอตัวเอง เพราะหากเป็นคะแนนรวม จะพบปัญหา เช่น ต้องการคนสายวิทย์ แต่หากใช้คะแนนรวมบางคนสายสังคมดีก็ดึงคะแนนขึ้นมา พอไปเรียนจริงแล้วปรากฏว่าเด็กไม่มีสัมฤทธิ์ผลที่ดีในสายวิทยาศาสตร์ เป็นต้น"นายประเสริฐ กล่าว

ทั้งนี้ จำนวนที่มหาวิทยาลัยประกาศรับในแต่ละสาขานั้น ก็อาจมีการเผื่อมาแล้ว เช่น อยากได้ 150 คน แต่แจ้งมา 180 คน คือมีการสำรองมาแล้วด้วย ทั้งนี้ เป็นเรื่องธรรมชาติที่ไม่มีระบบใดสมบูรณ์แบบ แต่เมื่อมีปัญหาก็พร้อมแก้ไข เช่น การออกรอบ 3/2 ออกมา เป็นต้น ส่วนกรณีการไม่เอาตัวเลือกที่สอบติดในรอบ 3/1 มาใช้ในการเคลียริ่งเฮาส์รอบ 3/2 เพราะจะกลายเป็นการกั๊กที่นั่งเพิ่มเติม