สกว. จับมือ ธกส. เตรียมยกระดับศูนย์เรียนรู้ชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก

สกว. จับมือ ธกส. เตรียมยกระดับศูนย์เรียนรู้ชุมชน สร้างเศรษฐกิจฐานราก

"สกว.-ธกส." ร่วมพันธกิจ ยกระดับศูนย์เรียนรู้ชุมชนเป็นศูนย์นวัตกรรมชุมชน สร้างการเรียนรู้รูปแบบใหม่ เสริมเศรษฐกิจฐานรากอย่างยั่งยืน 

เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 ที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย – ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการสกว.ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์, รศ.ดร.ประภาพร ขอไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายเกษตร, ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น รศ.ดร.เรณู สุขารมณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายชุมชน สังคม และ นายสุรชัย รัศมี ผู้ช่วยผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร และเจ้าหน้าที่ ธกส. ร่วมประชุมและหารือความเข้าใจของคณะทำงานขับเคลื่อนความร่วมมือด้านวิชาการ และ การพัฒนางานวิจัยสู่การใช้ประโยชน์ ครั้งที่ 2  

ศ.นพ.สุทธิพันธ์ จิตพิมลมาศ ผอ. สกว. กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าวจะเป็นการเสริมสร้างความเข้าใจในความร่วมมือด้านวิชาการ การเผยแพร่ความรู้จากผลงานวิจัย ที่ประสบผลสำเร็จอย่างเป็นรูปธรรมแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก รวมถึงสนับสนุนงบประมาณในโครงการวิจัยที่เห็นชอบร่วมกันเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนท้องถิ่นในการยกระดับเศรษฐกิจฐานราก และเพื่อพัฒนาภาคเกษตรและชนบทของไทยให้ก้าวทันกับเทคโนโลยี โดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ เป้าหมายกับการพัฒนาที่ยั่งยืน  

2_3

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สกว. ทำหน้าที่สนับสนุนทุนวิจัยและพัฒนาทั้งในระดับชุมชนท้องถิ่น  ระดับจังหวัด ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศโดยใช้การวิจัยเป็นกลไกสร้างฐานความรู้สำหรับการแก้ปัญหา สกว.มีเครือข่ายนักวิจัยทั่วประเทศ ทั้งนักวิจัยชาวบ้านหรืองานวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อสร้างการเรียนรู้ในระดับพื้นที่ ซึ่ง ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตลอด 20 ปี 

ด้าน รศ.ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล กล่าวเสริมว่า สกว. และ ธกส.มีเป้าหมายร่วมกัน ที่ใช้ความรู้ทางด้านวิชาการ โดยเฉพาะความรู้จากกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่น เชื่อมโยงกับศูนย์การเรียนรู้ในพื้นที่ เพื่อยกระดับให้เป็นศูนย์นวัตกรรมชุมชน ทั้งในมิติของการยกระดับเศรษฐกิจฐานรากโดยไม่ยึดติดกับประเด็นทางเกษตรเพียงอย่างเดียว ควบคู่กับการสร้างเกษตรกรรุ่นใหม่ ให้เป็น “ชุมชนอุดมสุข” โดยใช้เครื่องมือของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นในการสร้างพี่เลี้ยง เพื่อให้พี่เลี้ยงกลับมาดูแลน้องในรุ่นต่อไป ตลอดจนการคิดค้นระบบการจัดการ เพราะการจัดการที่เป็นระบบจะทำให้การขยายผลได้เร็วขึ้น ประกอบกับนโยบายรัฐบาลปัจจุบันได้ตระหนักและให้ความสำคัญในเรื่องของเศรษฐกิจฐานราก และ การแก้ไขปัญหาความยากจน 

สำหรับการดำเนินการวิจัย โครงการยกระดับศูนย์เรียนรู้ เพื่อการพัฒนาเป็นชุมชนอุดมสุข มีกรอบการทำงาน 3 ปี โดยการถอดความรู้จากศูนย์เรียนรู้ของ ธกส. จำนวน 315 ศูนย์ที่กระจายตัวอยู่ตามภูมิภาคอื่นๆ ด้วยการคัดเลือกศูนย์การเรียนรู้ชุมชนที่สามารถยกระดับ และ เป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบ ที่รวมองค์ความรู้ต่างๆ อาทิ สถาบันการเงินชุมชน ธนาคารความดี เทคโนโลยีการเกษตร และนวัตกรรมการจัดการ  

ขณะที่ ผศ.ดร.ชูพักตร์ สุทธิสา กล่าวว่า สกว.มีการออกแบบงานให้โครงการสามารถทำงานร่วมกับโครงการแผนงานวิจัย TRF flagship Research Program (TRP) และ โรงการเศรษฐกิจฐานราก ซึ่งจะมีพื้นที่ที่จะดำเนินโครงการใน 4 ภาค หากสามารถทำไปพร้อม ธกส.จะทำให้เห็นตัวชี้วัดในระยะที่ 2-3 ได้เร็วขึ้น ส่วนงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่เป็นนวัตกรรมสังคมสำคัญอย่างไรนั้น อาจารย์ชูพักตร์ อธิบายว่า งานวิจัยแบบนี้เป็นนวัตกรรมสำคัญของสังคมในการสร้างความเข้มแข็งแก่ชุมชนท้องถิ่นด้วยกระบวนการวิจัยแบบนี้  โดยผลลัพธ์เบื้องต้นของการวิจัยมี 3 ประการคือ  1) การสร้างคนในพื้นที่ให้กับสังคม  2) การสร้างความรู้ที่โยงใยกับคนและพื้นที่  และ 3) การสร้างการเปลี่ยนแปลงหรือการพัฒนาในพื้นที่ด้วยกระบวนการวิจัย  สิ่งเหล่านี้ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่นถือว่าเป็นการสร้างพุทธะ  สร้างธรรมะ  และสร้างสังฆะ ให้กับชุมชนและสังคม  ดังนั้นโดยพื้นฐานของกระบวนการวิจัยเพื่อท้องถิ่นเองก็เป็นนวัตกรรมภายในตัวเอง