ซายพาร์คเชียงใหม่ สะพานเชื่อมนวัตกรรม-ภาคธุรกิจ

ซายพาร์คเชียงใหม่ สะพานเชื่อมนวัตกรรม-ภาคธุรกิจ

“มาดี้ คอมบูชะ” แบรนด์ที่ประสบความสำเร็จในการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สอดคล้องกับแผนลงทุนสร้างโรงงานผลิตอาหารต้นแบบของอุทยานวิทยาศาสตร์เชียงใหม่

“มาดี้ คอมบูชะ” ตัวอย่างแบรนด์จากผู้ประกอบการท้องถิ่นที่ประสบความสำเร็จในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) สอดคล้องกับแผนลงทุนกว่า 100 ล้านบาทของอุทยานวิทยาศาสตร์เชียงใหม่ที่จะสร้างโรงงานผลิตอาหารต้นแบบ หวังลดความเสี่ยงผู้ประกอบการก่อนตัดสินใจลงทุนผลิตระดับแมส

อุทยานวิทยาศาสตร์เชียงใหม่รับโจทย์ผู้ประกอบการที่เข้ามาปรึกษา ซึ่งมากที่สุดเป็นเรื่องอาหาร สอดสอดกับการจดทะเบียนบริษัทใน 4 จังหวัดภาคเหนือ ที่ 40% หรือกว่า 2,000 แห่งเป็นธุรกิจอาหาร จึงเป็นเรื่องที่ดีเนื่องจากตลาดอาหารเติบโต 8-12% ทุกปี แต่ที่น่าสนใจคือ ตลาดฟังก์ชันนัลฟู้ดหรืออาหารเพื่อสุขภาพเติบโตสูงมาก รองมาเป็นผลิตภัณฑ์สมุนไพร เครื่องสำอางและอาหารเสริม

โรงผลิตสินค้าต้นแบบ 100 ล้าน

ผศ.ธัญญานุภาพ อานันทนะ ผู้อำนวยการอุทยานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า ได้รับงบประมาณเพิ่มอีกกว่า 100 ล้านบาทจากโครงการบิ๊กร็อค เพื่อสร้าง “โรงงานอาหารต้นแบบ” คาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในเดือน ธ.ค.นี้ จะช่วยผู้ประกอบการผลิตสินค้าต้นแบบในจำนวนไม่มากหรือประมาณ 500-1,000 ชิ้นขึ้นมาทดลองตลาดก่อนตัดสินใจลงทุนใหญ่ ขณะที่โรงงานรับจ้างผลิตรับออเดอร์ขั้นต่ำ 1 แสนชิ้น หากจำนวนต่ำกว่านั้นจะไม่สามารถผลิตให้ได้เพราะไม่คุ้มค่า

อุทยานวิทย์ฯ จะเป็นหน่วยงานที่ส่งเสริมสนับสนุนความเชื่อมโยงระหว่างมหาวิทยาลัยกับภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลักดันให้เกิดการสร้างระบบนิเวศเชิงนวัตกรรมอย่างเต็มรูปแบบ โดยมีบริการแบบครบวงจรตั้งแต่ห้องปฏิบัติการ การให้บริการออกแบบนวัตกรรม การบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญา ตลอดจนโครงการบ่มเพาะธุรกิจแก่ผู้สนใจเป็นผู้ประกอบการและพัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีและวิจัยของภาคเอกชนในพื้นที่ รวมทั้งโครงการวิจัยร่วมกับภาคเอกชนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มมูลค่าและสร้างความเข้มแข็งให้กับธุรกิจ นำไปสู่การต่อยอดการลงทุนวิจัยและพัฒนาในภาคเอกชน

นอกจากนี้จะมีการขยายงานวิจัยในกลุ่มผลิตภัณฑ์ไลฟ์สไตล์และแฟชั่น รวมทั้งการสร้างเมืองกาแฟเพื่อรองรับงผู้ประกอบการในพื้นที่ที่ต้องการนำ วทน. เข้ามาไปช่วยพัฒนากระบวนการผลิตและสร้างนวัตกรรมออกสู่เชิงพาณิชย์

"ตั้งเป้าหมายภายใน 7 ปีจากนี้จะสามารถทำให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ 4,600 คน และมีผลกระทบเชิงเศรษฐกิจคิดเป็นมูลค่า 24,240 ล้านบาททั้งกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นพัฒนางานวิจัย กลุ่มที่พัฒนางานวิจัยในระดับหนึ่งแล้วและต้องการนำงานวิจัยไปต่อยอด รวมถึงนักธุรกิจรุ่นใหม่หรือสตาร์ทอัพในภาคเหนือ”ผศ.ธัญญานุภาพ กล่าว

นวัตกรรมตอบโจทย์คนรุ่นใหม่

สุวรี เกียรติการัณย์ กรรมการผู้จัดการบริษัท ที แกลเลอรี่ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด เป็นหนึ่งในผู้ประกอบการที่ใช้บริการจากอุทยานวิทย์ฯ กล่าวว่า จากแนวโน้มธุรกิจชาจีนเริ่มซบเซา เพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมบริโภคชาเหมือนกลุ่มเบบี้บูมเมอร์ จึงเปลี่ยนรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่มากขึ้น ทั้งคุณสมบัติที่ตอบเทรนด์ด้านสุขภาพและดีไซน์เพิ่มสีสันบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะเป็นของฝาก ในชื่อแบรนด์ “มาดี้ คอมบูชะ”

อาทิเช่น ผลิตภัณฑ์ชาหมัก ซึ่งมีผลงานวิจัยตีพิมพ์รองรับคุณสมบัติเพื่อสุขภาพ โดยเป็นการสกัดสารใบชาให้มีรสหวาน เพื่อเป็นเชื้อของจุลินทรีย์ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ จากนั้นส่งจำหน่ายไปประเทศญี่ปุ่นและจีน ส่วนของเหลือจากกระบวนการผลิตอย่างกากชาก็จำหน่ายให้บริษัทผลิตปุ๋ยในราคากิโลกรัมละ 5 บาท และขายให้บริษัทผลิตหมอนใบชากิโลกรัมละ 10 บาท

ต่อมาได้ส่งตัวอย่างกากชาให้นักวิจัยอุทยานวิทยาศาสตร์เชียงใหม่ทำการศึกษา กระทั่งพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุที่มีปัญหานอนไม่หลับและช่วยระบบการขับถ่าย สามารถเพิ่มมูลค่ากากชาเป็นกิโลกรัมละ 1,000 บาท

“บริษัทเติบโตปีละ 40% เหตุผลหนึ่งเกิดการนำองค์ความรู้จากงานวิจัยเข้ามาช่วยพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิต อย่างต่อเนื่อง ในปีนี้เตรียมขยายตลาดไปสหรัฐอเมริกา ยุโรปรวมทั้งกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการขอรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ตั้งเป้าว่าสิ้นปีนี้จะมียอดขาย 80ล้านบาท" สุวรี กล่าว