คืนชีวา ลายผ้าอินเดียในสยาม

คืนชีวา ลายผ้าอินเดียในสยาม

เมื่อครั้งกรุงศรีอยุธยารุ่งเรือง มีการค้าขายกับชาติยุโรปหลายชาติ แต่ชาติเอเชียอย่างอินเดียก็มีความสำคัญไม่น้อย เห็นได้จากผ้าอินเดียในสยามซึ่งเป็นที่นิยมอย่างมากในห้วงเวลานั้นก่อนที่ความนิยมจะจางหายไปในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง

วันนี้ผ้าอินเดียในสยามกำลังกลับมามีชีวิตอีกครั้ง เมื่อนักวิชาการด้านผ้าอินเดีย ประภัสสร โพธิ์ศรีทองชวนผู้ชื่นชอบงานผ้าร่วมกันรื้อฟื้นวิถีแห่งผ้าพิมพ์ลายให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง

"จากการค้นคว้า เราพบหลักฐานไทยนำเข้าผ้าพิมพ์ ผ้าเขียน ผ้าพิมพ์ลายของอินเดียมาตั้งแต่อยุธยา ซึ่งระยะแรก ผ้าประเภทนี้ใช้ในราชสำนัก ลวดลายผ้าอาจเป็นลายใหญ่ ลายที่มีความหมายเกี่ยวข้องกับสถานภาพของพระมหากษัตริย์ หรือลายที่แสดงยศฐาบรรดาศักดิ์ของขุนนาง แต่พอมาในสมัยรัชกาลที่ 4 เริ่มมีกระแสวัฒนธรรมตะวันตก ความนิยมของผ้าพิมพ์ลายของอินเดียก็ลดลง

ต่อมา มีผ้าอีกกลุ่มหนึ่งที่เป็นผ้าอินเดียที่เราเรียกว่า เซาดากีรี (Saudagiri) มีนายห้างหลายรายนำเข้าผ้าเหล่านี้ มาในสยามจนถึงสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งช่วงที่มีการสู้รบกัน ส่งผลทำให้การขนส่งผ้าจากอินเดียลำบาก คนไทยก็เริ่มผลิตผ้าที่เรียกว่าลายไทยขึ้นมาแทน ก่อนจะนำไปสู่การผลิตด้วยเครื่องจักรแทนการพิมพ์ผ้าด้วยมือ ซึ่งความรู้และเรื่องราวของผ้าลายตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน มีความเชื่อมโยงต่อเนื่อง เลยเปิดการอบรมพิมพ์ผ้าด้วย แม่พิมพ์ไม้ ส่วนหนึ่งเกิดจากเราทำงานฟื้นฟูผ้าลายอินเดียสำหรับสยาม เลยแบ่งปันความรู้เกี่ยวกับกระบวนการผลิตผ้าลายอินเดียในสยามแบบดั้งเดิมที่ปัจจุบันหาคนทำยากมาก" 

เมื่อความคิดริเริ่มของเธอนำไปสู่การบอกกล่าว ผู้คนที่รู้ข่าวก็นัดแนะกันมาฝึกอบรมทำลวดลายผ้าที่บ้านของเธอ  โดยพื้นที่ส่วนหนึ่งในบ้านของประภัสสร เตรียมไว้สำหรับจัดวางอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำงานผ้าอย่างครบครัน  

"เนื่องจากศิลปะการพิมพ์ลายด้วยแม่พิมพ์ไม้ ยังไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในสังคมไทยมากนัก เรานำเทคนิคพิมพ์ลายผ้าที่เคยได้รับความนิยมในอดีต มาให้คนที่สนใจได้ทดลอง เรียนรู้พื้นฐานงานพิมพ์ลวดลายด้วยสีสมัยใหม่ ลงบนผืนผ้า แล้วเกิดเป็นลวดลาย 

อุปกรณ์ที่เราใช้ มีแม่พิมพ์ไม้ทำจากไม้สัก สีพิมพ์ผ้า แล้วใช้เทคนิคที่เรียกว่าแฮนด์ปริ้นต์ พิมพ์ลงไปบนผ้าฝ้าย เป็นผ้าที่ใส่สบาย แล้วผ้าฝ้ายก็ยังสัมพันธ์กับผ้าอินเดียที่เราเคยนำเข้า ส่วนขั้นตอนการพิมพ์ผ้า ข้อแรก เราต้องเตรียมโต๊ะที่มีลักษณะคล้ายกับที่รองรีดผ้า มีความนุ่มและหนาจากผ้ากระสอบบุโต๊ะเป็นชั้นๆ แล้วปิดทับด้วยผ้าฝ้ายรองข้างหน้าอีกที เพื่อกันเปื้อน 

ส่วนกระบวนการผสมสี เราใช้ สีเคมี ผสมกับ แป้งพิมพ์ ทำปฏิกิริยาผนวกโมเลกุลของสีเข้าด้วยกัน มีคุณสมบัติคล้ายกับกาวที่ทำให้สีไปติดอยู่บนผิวหน้าของผ้า สีพวกนี้ติดทนนาน ต่อจากนั้นนำมาสู่การตรึงผ้าที่จะพิมพ์ลงบนโต๊ะ แล้วเลือกลายแม่พิมพ์ที่เราทำเป็นลายไทยเกือบทั้งหมด เช่น ลายกุดั่น ลายแก้วชิงดวง ลายนกคาบ ลายเทพนพม ลายก้านแย่ง ซึ่งการสร้างลายผ้าให้ต่อเนื่อง  จะต้องมีการเลื่อมลาย ซ้อนลาย มาประกอบลายในจังหวะที่พอดีกับแม่พิมพ์ต้นลาย

เพราะฉะนั้นเรื่องของสมาธิซึ่งสำคัญมาก การตัดสินใจทุกๆ เรื่อง ณ เวลานั้น ควรเป็นไปอย่างรอบคอบ การที่เรากดแม่พิมพ์ลงไปบนถาดพิมพ์ ถาดสี ต้องเช็คทุกครั้งว่า แม่พิมพ์ติดสีดีหรือเปล่า ต้องมั่นใจว่าสีติดบนแม่พิมพ์ ลวดลายไม่หายไป สีบางส่วนไม่หายไป ในขณะเดียวกันต้องระวังอย่าให้สีเลอะมือเรา ไม่อย่างนั้นสีอาจเลอะเปื้อนผ้าส่วนอื่น ความสะอาดของชิ้นงาน ก็เป็นเรื่องจำเป็น ซึ่งวัสดุที่เป็นตัวรองรับลวดลายผ้าที่เราเตรียมไว้ให้กับผู้อบรมลองทำ มีตั้งแต่ผ้าเช็ดหน้า ผ้าพันคอ เสื้อยืด กระเป๋า 

แต่ละอย่างมีวิธีออกแบบลวดลายแตกต่างกัน เพราะเราต้องการให้ผู้ที่มาเรียนได้ฝึกพิมพ์ลวดลายบนรูปทรงผ้าที่หลากหลาย บางคนที่ไม่เข้าใจในกระบวนการพิมพ์ที่ชัดเจนหรือว่าการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น ตรงนี้อาจพลาดไปแล้ว ครั้งหน้าจะต้องแก้ยังไง เราก็ให้คำแนะนำ ซึ่งชุดความรู้การพิมพ์ผ้าด้วยแม่พิมพ์ไม้ที่เรานำมาเผยแพร่ ก็อยากให้มีการต่อยอดในอนาคต บางคนอาจมีธุรกิจอยู่แล้วก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้ต่อไป" 

ด้วยความหวังของประภัสสรในการฟื้่นขนบแห่งวิถีผ้าพิมพ์ลายอินเดียให้กลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง เจน -เจนยุภา จันทร์ตรี กับ เป้-สมกัญญา เรืองโรจน์แข สองสาวเพื่อนสนิทก็เห็นข้อดีกับสิ่งนี้แล้วเล่าว่า ที่ผ่านมา พวกเธอเคยชวนกันไปเวิร์คชอปตามที่ต่างๆ ทั้งทำเซรามิค ตัดเสื้อผ้า อย่างกางเกงที่สวมใส่ในชีวิตประจำวัน หรือของขวัญชิ้นมอบให้คนใกล้ตัวในโอกาสพิเศษ ล้วนเป็นสิ่งที่เกิดจากความรู้ที่เธอได้รับมาจากการไปฝึกอบรม 

ส่วนการพิมพ์ลายผ้า ถือเป็นการทดลองทำอะไรใหม่ๆ อย่างที่ไม่เคยทำมาก่อน ผ้าที่เป็นสีขาวทั้งผืน จะสร้างลายให้ต่อกันอย่างไร การเลือกโทนสี ให้เหมาะสมกันและเข้ากับยุคสมัย ก็ต้องอาศัยการคิดและวางแผนซึ่งความไม่สมบูรณ์ของงานแฮนด์เมค

เป็นเสน่ห์อันน่าหลงใหล ไม่เหมือนใคร