'กรมคุก' ให้โอกาสนักโทษสอบมาตรฐานวิชาชีพ เพิ่มมูลค่าจ้างาน

'กรมคุก' ให้โอกาสนักโทษสอบมาตรฐานวิชาชีพ เพิ่มมูลค่าจ้างาน

"กรมคุก" ส่งนักโทษสอบใบประกาศวิชาชีพฯ เชื่อเพิ่มมูลค่าการจ้างงาน หลังพบนักโทษยาเสพติดพ้นคุกทำผิดซ้ำ 2 แสนคน สถิติ 3 ปี 33% สาเหตุหลักไม่มีงานทำ

เมื่อวันที่ 30 พ.ค.61 พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมเป็นประธานลงนามความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ(องค์การมหาชน) โดยมีนายวิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ลงนาม กับนายพิสิฐ รังสฤกฎ์วุฒิกุล ผอ.สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ พ.ต.อ.ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานเกี่ยวข้องเข้าร่วม

นายวิศิษฏ์ กล่าวว่า การทำบันทึกข้อตกลง เพื่อให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมคือ กรมราชทัณฑ์ กรมคุมประพฤติ และกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน ซึ่งมีภารกิจหลักในการแก้ไขฟื้นฟูให้ผู้กระทำผิดกลับตัวเป็นพลเมืองดี เพื่อยกระดับผู้ต้องขังให้มีคุณภาพที่ดี อีกทั้งเป็นการให้โอกาสผู้ต้องขังที่พ้นโทษมีงานทำสามารถใช้ชีวิตได้อย่างปกติในสังคม และลดอัตราการทำผิดซ้ำ ดังนั้นหากมีการส่งเสริมในสาขาอาชีพที่ตลาดต้องการ โดยผู้ต้องขังหากผ่านการประเมินจากสถาบันฯจะได้รับใบประกาศนียบัตร หรือหนังสือรับรองมาตรฐานวิชาชีพเพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานยื่นใบสมัครทำงานในสาขาที่ตนมีความเชี่ยวชาญได้

ด้านนายพิสิฐ กล่าวว่า การลงนามกับ3หน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรมเป็นการให้โอกาสบุคคลที่เคยก้าวพลาด และเป็นการคืนความปลอดภัยให้สังคม หากคนเหล่านี้กลับไปใช้ชีวิตร่วมอยู่กับครอบครัว สังคมและมีงานทำก็จะไม่หันไปกระทำผิดซ้ำ ในกรมราชทัณฑ์เคยมีผู้ต้องขังได้รับการฝึกอาชีพหลากสาขาวิชาชีพ ทั้งช่างทำผม ทำอาหาร ช่างเครื่องยนต์ ช่างเชื่อม หากได้รับใบรับรองจากทางสถาบันก็สามารถเข้าสู่ตลาดแรงงานโดยไม่ถูกกีดกัน โดยผู้ที่จะผ่านการประเมิน ต้องผ่านการประเมิน 8 ระดับขึ้นอยู่กับผู้เข้าประเมินจะผ่านระดับใด ทั้งนี้สถาบันฯสามารถออกใบรับรองได้ 47 วิชาชีพ

ขณะที่ พ.ต.อ.ณรัชต์ กล่าวว่า ปัจจุบันเรือนจำทั่วประเทศมีผู้ต้องขังประมาณ 350,000 คน ในแต่ละปี มีผู้กับมากระทำความผิดซ้ำยอดรวม 3 ปี มีสัดส่วนมากถึง 33% โดยปีแรกทำผิดซ้ำ 17% ปีที่2 ทำผิดซ้ำ 25% และปีที่3 ทำผิดซ้ำ 33% ส่วนใหญ่เป็นผู้ต้องหาคดียาเสพติดกว่า 2 แสนคน เนื่องจากคนเหล่านี้เมื่อพ้นโทษออกไป ไม่มีอาชีพและกลับไปอยู่ในสภาพแวดล้อมเดิมก็จะไปทำผิดซ้ำ การทำบันทึกความร่วมมือกับสถาบันฯเป็นการเพิ่มเครดิตให้ผู้ต้องขัง เนื่องจากระหว่างที่นักโทษอยู่ในคุกได้มีการฝึกวิชาชีพถึง 72 วิชาชีพ ไม่ว่าจะเป็นช่างไม้ ช่างแอร์ หมอนวด ทุกคนแม้ไม่สามารถลบทะเบียนประวัติอาชญากรที่เคยทำมาได้ แค่การได้รับใบประกาศนียบัตรประกอบวิชาชีพ จะทำให้สังคมไม่ปฎิเสธที่จะรับเข้าทำงาน เพราะถือว่ามีความรู้ความสามารถในวิชาชีพนั้นจริง เชื่อว่าการให้โอกาสนักโทษมีทางเลือกในวิชาชีพจะเป็นการเพิ่มราคาให้ผู้พ้นโทษ ซึ่งหลังจากทำบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้วกรมราชทัณฑ์ก็จะทยอยปล่อยตัวผู้ที่ใกล้พ้นโทษ และให้ไปสอบกับสถาบันฯเพื่อให้ได้รับใบรับรองในการประกอบวิชาชีพต่อไป

“คุกไทยมีนักโทษสูงสุดอันดับ 6 ของโลก อันดับ 3 ของเอเชีย และอันดับ 1 ของอาเซียน ตามมาตรฐานสากลผู้คุมกับนักโทษต้องมีอัตราส่วน 1 ต่อ 3 แต่ของไทยใช้ผู้คุม 1 คนต่อนักโทษ 30 คน ดังนั้นจึงจำเป็นต้องมีมาตรการทางเลือกต่างๆในการลดจำนวนผู้ต้องขังและไม่ให้ผู้พ้นโทษกลับไปกระทำความผิดซ้ำอีก” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าว