ซูเปอร์ฟู้ดจากภูมิปัญญาไทย

 ซูเปอร์ฟู้ดจากภูมิปัญญาไทย

นอกจากข้าวหอมมะลิ พันธุ์ข้าวไทยอื่นๆ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะ “ซูเปอร์ฟู้ด” หรือสุดยอดอาหารที่ให้คุณค่าสูงมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ดีต่อสุขภาพและช่วยลดอ้วนตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภค

นอกจากข้าวหอมมะลิไทยซึ่งได้รับการยอมรับว่าเป็นข้าวที่ดีที่สุดในโลกแล้ว พันธุ์ข้าวไทยอื่นๆ ยังเป็นที่รู้จักในฐานะหนึ่งในบรรดาธัญพืชที่เป็น “ซูเปอร์ฟู้ด” หรือสุดยอดอาหารที่ให้คุณค่าสูงมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ยับยั้งเซลล์มะเร็ง ดีต่อสุขภาพและช่วยลดอ้วน ล้วนเป็นแนวโน้มของไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในปัจจุบัน และเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ขับเคลื่อนประเทศให้มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน

เวทีเสวนา “Rice Innovation” ในงานประชุมวิชาการข้าวแห่งชาติ ครั้งที่ 5 สรุปชัดว่า แนวทางการพัฒนานวัตกรรมข้าวเป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อน ต้องศึกษาข้อมูลความต้องการของกลุ่มเป้าหมายก่อนการลงทุนผลิตสินค้า ที่สำคัญจะต้องคิดให้รอบด้านและครอบคลุมทุกมิติ เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีและพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงเร็วมาก

คิดรอบด้าน-สร้างสตอรี

นายวัลลภ มานะธัญญา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางซื่อโรงสีไฟเจียเม้ง จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายข้าวตราหงษ์ทอง กล่าวว่า นวัตกรรมจากข้าวมีหลากหลายรูปแบบทั้งอาหาร เครื่องสำอาง ยา ส่วนใหญ่นิยมพัฒนาเป็นนวัตกรรมอาหาร ยกตัวอย่างผลงาน “ข้าวกล้องพร้อมรับประทาน” เป็นสินค้าที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค แต่ผลปรากฏว่าในประเทศไทยไม่ค่อยนิยมแต่กลับได้รับการตอบรับที่ดีในออสเตรเลีย เช่นเดียวกับเครื่องดื่มน้ำข้าวสำหรับผู้ที่แพ้นมวัว ซึ่งไม่ได้รับการตอบรับมากนัก เพราะเด็กไทยยังคุ้นเคยกับการบริโภคนมวัว

แสดงให้เห็นว่า สินค้านวัตกรรมนั้นบางครั้งอาจยังไม่ถูกจังหวะเวลา ทำให้ต้องใช้เวลาในการให้ข้อมูลกับผู้บริโภคระยะหนึ่งก่อน หรืออาจหันไปทำตลาดต่างประเทศแทน จากนั้นค่อยกลับมาทำตลาดในไทยเมื่อผู้บริโภคมีความพร้อม ฉะนั้น การทำนวัตกรรมต้องคิดให้รอบด้านครอบคลุมทุกมิติ ไม่เช่นนั้นก็จะเสียเวลา เสียโอกาส เสียสตางค์

ผศ.บัณฑิต อินณวงค์ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่าการพัฒนานวัตกรรมข้าวจากภูมิปัญญาท้องถิ่น เป็นเรื่องสำคัญและละเอียดอ่อนที่คนรุ่นหลังควรทำการศึกษาข้อมูลก่อนที่พัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อสร้างความแตกต่าง เพราะภูมิปัญญาในแต่ละท้องถิ่นสามารถสร้างให้เกิดอัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์นั้นๆ ได้อย่างชัดเจน

พร้อมกันนั้นต้องศึกษาผลงานวิจัยถึงจุดเด่นของข้าวในแต่ละพันธุ์ก่อนนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีคุณค่าทั้งเชิงฟังก์ชั่นและอิมโมชั่นของการอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่น

นายสมประสงค์ พยัคฆพันธ์ ประธานคลัสเตอร์เครื่องสำอางไทย กล่าวว่า ข้าวกับเครื่องสำอางเป็นของคู่กันในแง่ของการนำสารสกัดข้าวไปเป็นวัตถุดิบผลิตเครื่องสำอาง เพื่อช่วยเพิ่มความชุ่มชื้น ถนอมผิว ลดริ้วรอย ควบคู่กับการนำเสนอเรื่องราวของข้าวเข้าไปผสมผสานในการสร้างแบรนด์และความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่า เป็นเครื่องสำอางหรือผลิตภัณฑ์บำรุงผิวที่ทำมาจากธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีหน่วยงานใดออกมาตรวจสอบว่า ใช้ส่วนผสมจากข้าวจริงหรือไม่ ปริมาณที่ใส่ไปนั้นเท่าไร

จึงควรที่จะมีหน่วยงานตรวจสอบเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาภายหลัง เพราะจะทำให้ผู้บริโภคขาดความเชื่อมั่น ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมเครื่องสำอางไทย นอกจากนี้สิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะต้องคำนึงถึงคือ การศึกษาข้อมูลความต้องการของกลุ่มผู้โภคเป้าหมายก่อนลงทุนผลิตสินค้า

ข้าวเป็นยาตอบโจทย์ สว.

รศ.รัชนี คงคาฉุยฉาย ผู้อำนวยการสถาบันโภชนาการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ข้าวกับโภชนเภสัช คือการรับประทานข้าวให้เป็นยา ซึ่งในผู้ป่วยบางคนได้ผลดีกว่าการรักษาด้วยยา ยกตัวอย่าง ข้าวที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำยังสามารถเพิ่มระดับฮอร์โมนที่มีผลต่อเบต้าเซลล์ของตับอ่อน กระตุ้นให้มีการสร้างอินซูลินได้ดีขึ้นและมีผลต่อการควบคุมศูนย์อิ่มและศูนย์หิว ทำให้อิ่มได้นาน เนื่องจากอาหารอยู่ในลำไส้ได้นานขึ้น และช่วยลดระดับน้ำตาลในเลือดจึงเหมาะกับผู้ป่วยเบาหวาน

ส่วนข้าวไรซ์เบอรี่ ข้าวนิลสวรรค์และข้าวมะลิแดงที่มีสีม่วงเข้ม เป็นข้าวที่มีปริมาณสารต้านอนุมูลอิสระสูง ทั้งวิตามินอี แอนโทไซยานินและโพลีฟีนอล สำหรับผู้รักสุขภาพ ผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักและผู้ป่วยเบาหวาน แต่ควรรับประทานในรูปแบบข้าวกล้องที่ไม่ผ่านการขัดขาว เพื่อรักษาสารอาหารที่เป็นประโยชน์ไว้ครบถ้วน

ขณะที่ผู้ป่วยเบาหวานที่มีภาวะไตวายไม่เหมาะที่จะรับประทานข้าวกล้อง ซึ่งมีฟอสฟอรัสและแคลเซียมสูง แต่สามารถรับประทานข้าวดัชนีน้ำตาลต่ำ เพราะแม้นำข้าวไปขัดขาวแล้วก็ยังมีดัชนีน้ำตาลต่ำ

“ญี่ปุ่นได้พัฒนาพันธุ์ข้าวสำหรับผู้ป่วยโรคไตได้สำเร็จแล้ว ถือเป็นแนวทางการสร้างคุณค่าและมูลค่าให้กับข้าวได้อย่างชัดเจน ขณะที่ประเทศไทยก็มีศักยภาพโดยสามารถนำไปต่อยอดธุรกิจได้หลากหลายรูปแบบในอนาคต โดยเฉพาะในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ( NCDs) ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามจำนวนผู้สูงอายุ เพราะไทยเรามีจำนวนผู้สูงอายุเป็นอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น จึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนา