ตีแผ่ผลวิจัยต่างชาติ เด็ก 4-6 ขวบ แยกแยะเครื่องดื่มน้ำเมาได้

ตีแผ่ผลวิจัยต่างชาติ เด็ก 4-6 ขวบ แยกแยะเครื่องดื่มน้ำเมาได้

เวทีประชุมเครือข่ายแอลกอฮอล์โลก ตีแผ่ผลวิจัยต่างชาติ เด็ก 4-6 ขวบ แยกแยะเครื่องดื่มน้ำเมาได้ เหตุมีพ่อแม่เป็นนักดื่มตัวยง นักวิจัย “หวั่น” ลูก จดจำและเลียนแบบดื่มตามทฤษฎีการเรียนรู้จากสังคม

เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2561 ที่โรงแรมเอ็มเพรส จังหวัดเชียงใหม่ ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่ปรึกษาคณะกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เป็นประธานในการประชุม วิชาการนานาชาติ The 44th Annual Alcohol Epidemiology Symposium of the Kettil Bruun Society in Chiang Mai, Thailand ระหว่างวันที่ 28 พฤษภาคม – 1 มิถุนายน 2561 จัดโดย ศูนย์วิจัยปัญหาสุรา (ศวส.) หน่วยระบาดวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โดยการจัดประชุมครั้งนี้เพื่อเป็นเวทีการนำเสนอผลงานและแลกเปลี่ยนวิชาการที่เกี่ยวข้องกับแอลกอฮอล์ที่หลากหลายสาขา รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างนักวิจัยในระดับนานาชาติ นำไปสู่แนวทางที่มีประสิทธิภาพในการควบคุมและจัดการการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีผู้เข้าร่วมประชุม 187 คน จาก 66 ประเทศจากทั่วโลก

ศาสตราจารย์ Emmanuel Kuntsche จากมหาวิทยาลัยลาโทรบ (La Trobe University) ประเทศออสเตรเลีย นำเสนอผลการวิจัยเกี่ยวกับผลของการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของพ่อแม่ต่อเด็ก จากการศึกษาในประเทศ Switzerland พบว่า เด็กอายุ 4-6 ขวบ ซึ่งเป็นวัยก่อนเข้าเรียนชั้นประถม เมื่อให้เด็กเลือกรูปเครื่องดื่มที่นักวิจัยเตรียมไว้ เด็กรู้จักเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสามารถแยกแยะได้ว่าเครื่องดื่มชนิดใดมีหรือไม่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบ โดยเด็กที่มีพ่อแม่และคนรอบตัวดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บ่อยกว่า รู้จักและสามารถระบุเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์เป็นส่วนประกอบได้ดีกว่า ทั้งนี้ ถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรกๆ ในโลกที่สามารถพิสูจน์ได้ว่า พฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของพ่อแม่และคนใกล้ตัวเด็ก ทำให้เด็กสามารถรับรู้และจดจำเกี่ยวกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้ แม้จะมีอายุเพียง 4-6 ขวบเท่านั้น เสมือนเป็นการเตรียมตัวให้แก่เด็กที่จะมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ในอนาคตตามทฤษฎีการเรียนรู้จากสังคม (Social learning theory)

ด้าน รศ.พญ.รัศมน กัลยาศิริ ภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์ กล่าวว่า ผลงานวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นชัดเจนว่าพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ของพ่อแม่ส่งผลกระทบต่อเด็ก โดยเฉพาะเด็กวัย 4-6 ขวบ ซึ่งการจดจำพฤติกรรมของคนรอบข้างเป็นไปอย่างอัตโนมัติ การที่พ่อแม่และคนรอบตัวมีพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ให้เด็กเห็นทำให้เด็กจดจำพฤติกรรม และแปรเปลี่ยนเป็นพฤติกรรมในการดื่มในอนาคตได้ แม้ว่า พ่อแม่จะพยายามสอนว่าการดื่มเป็นสิ่งที่ไม่ดีก็ตาม ดังนั้น พ่อและแม่ควรระมัดระวังการปลูกฝังพฤติกรรมการดื่มให้แก่เด็ก และพยายามสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับเด็กได้อยู่ห่างไกลจากพฤติกรรมการดื่มแอลกอฮอล์ที่เด็กจะจดจำและเลียนแบบตามได้