สแกน “3 รอยรั่ว” กร่อนฐานส่งออกไทย

สแกน “3 รอยรั่ว” กร่อนฐานส่งออกไทย

ในภาพสวยหรูของการส่งออก ที่ขยายตัวทุบสถิติ  4 เดือนแรกโต 11.53% สูงสุดรอบ 7 ปี ยังมี 3 รอยรั่วรอสะสาง ราคาสินค้าเกษตรผันผวน-นำเข้าพุ่ง บาทแข็งกดกำไรผู้ส่งออก ฉุดรั้งเป้าส่งออกปีนี้ขยายตัว 8% บนฐานที่“สั่นคลอน” 

ท่ามกลางความยินดีปรีดากับตัวเลขการส่งออกในเดือนเม.ย.ล่าสุด ส่งออกไทยขยายตัว 12.34 % มีมูลค่า 18,946 ล้านดอลลาร์ เติบโตได้ดี

เมื่อรวมการส่งออกในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) ของปี มีมูลค่า 81,775 ล้านดอลลาร์ ขยายตัวถึง 11.53% สูงสุดในรอบ 7 ปี

ทว่า ภายใต้การส่งออกที่เติบโตอย่างดี ยังมีหลายปัจจัยเสี่ยง ที่ต้อง “ระมัดระวัง” เพื่อให้การส่งออกของไทยเป็นการเติบโตเป็นไปตามเป้าหมายของกระทรวงพาณิชย์ ที่อัตรา 8 % 

วิศิษฐ์ ลิ้มลืมชา รองประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือ สภาผู้ส่งออก มองแนวโน้มภาพรวมการส่งออกเติบโตแรงว่า เป็น “โมเมนตัม” ต่อเนื่องจากปลายปี 2560 ทำให้การส่งออกฟื้นตัวจากภาพรวมเศรษฐกิจและการค้าของประเทศคู่ค้าฟื้นตัวต่อเนื่อง สรท.จึงปรับเป้าหมายการส่งออกปีนี้ในระดับเดียวกันกับภาครัฐ ที่อัตราเติบโต8%

“เศรษฐกิจโลกยังเติบโตต่อเนื่อง ภาพรวมการส่งออกในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาเติบโตค่อนข้างดีเกิน 10% ถึง 3 เดือน ประกอบด้วย เดือน ม.ค.ส่งออกเติบโต 17.9% ก.พ.เติบโต 10.3% มี.ค.เติบโต 7.1% และเดือนเม.ย.เติบโต 12.3% ซึ่งโดยทั่วไปต้นปีไม่ใช่ช่วงที่ส่งออกสูงสุด ส่วนใหญ่เดือนที่มีการส่งออกสูงจะอยู่ที่เดือน ก.ย.และต.ค. จึงมีโอกาสที่การส่งออกทั้งปีจะสูงถึง 8% หรือมากกว่านั้น”

โดยเมื่อเทียบเป็น “รายตลาด”พบว่าเติบโตดีเกือบทุกตลาด โดย สหรัฐขยายตัวเกือบ 9.6%  ญี่ปุ่น 14.8% สหภาพยุโรป 18.5% ตลาดจีนเติบโตเกือบ 19.9% เอเชียใต้ เติบโต 24.6% ,กลุ่มตลาดประเทศเพื่อนบ้าน (CLMV) เติบโต 19.3% กลุ่มตลาดรัสเซีย และCIS  เติบโต 28% ซึ่งเป็นกลุ่มตลาดที่มีปัญหาทางเศรษฐกิจจากราคาน้ำมัน แต่ยังเติบโตสูง เช่นเดียวกับตลาดสหภาพยุโรป เติบโต 18.5%

มีตลาดติดลบอยู่ 2 กลุ่ม คือ กลุ่มตลาดตะวันออกกลาง ติดลบ 49% แต่ราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นทำให้คาดว่ายอดส่งออกจะสูงขึ้นในอนาคต  รวมไปถึงกลุ่มประเทศ อาเซียนเดิม (5ประเทศ) ติดลบ 2.6 % เป็นผลมาจากการย้ายฐานการผลิตไปลงทุนและทำตลาดในกลุ่มประเทศเหล่านี้ แทนการส่งออกข้ามประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อเข้าไปดู “รายกลุ่มสินค้า” พบว่าขยายตัวได้ดี ทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ในเดือนเม.ย.ขยายตัว 9.8% รวม4 เดือนแรกของปี ขยายตัว 5.3% กลุ่มที่ขยายตัวได้ดีเป็นดาวรุ่งของปีคือ ข้าว ขยายตัว 19.1% ที่เริ่มไปอยู่ในจุดที่เป็นสินค้าพรีเมี่ยมมากขึ้น มันสำปะหลัง ขยายตัว 28% ไก่ขยายตัว 12.4% และผักผลไม้ดาวรุ่งที่สุดแห่งปี ขยายตัว 50.7% เป็นผลมาจากากรผลักดันทุเรียนให้ขายได้ในตลาด โดยความร่วมมือของกระทรวงพาณิชย์ กับยักษ์ออนไลน์โลกอย่าง อาลีบาบา 

ส่วนสินค้าอุตสาหกรรมเม.ย.ขยายตัว 12.2% และรวม 4 เดือนแรกของปี ขยายตัว 11.9% สินค้าสำคัญ อาทิ หมวดยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขยายตัวเดือนเม.ย. ขยายตัว 17% รวม 4 เดือน ขยายตัว 19.3%, เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เดือนเม.ย.ขยายตัว 14.9 รวม 4 เดือนแรกของปี ขยายตัว  16.1%

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การเติบโตดังกล่าว ยังมีกลุ่มสินค้าที่ถูก “เริ่มถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” และได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ได้แก่ กลุ่มสินค้ายางพารา เนื่องจากราคาตกต่ำ แต่ในระดับที่ดีขึ้น แต่ภาพรวมการส่งออกยังติดลบ เดือนเม.ย.ติดลบ 12.3% รวม 4 เดือนแรกของปีติดลบ 29.6%

ขณะที่กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมที่ยังมีการส่งออกลดลง คือ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ เม.ย.ติดลบ 1.5% แม้รวม 4 เดือนแรกของปียังเป็นบวก 4.3% และรถจักรยานและส่วนประกอบ เม.ย.ติดลบ 39.3% รวม 4 เดือนแรกของปี ติดลบ 9.4% ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์ เดือน เม.ย.เป็นบวก 3.2% ตัวเลขรวม 4 เดือนติดลบ 1.1% รวมถึงเครื่องรับวิทยุโทรทัศน์และส่วนประกอบ เดือนเม.ย.ติดลบ 3% รวม 4 เดือนแรกของปี ติดลบ 7.8%

จะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกขยายตัวลดลง ส่วนใหญ่เป็นสินค้าโภคภัณฑ์ที่ราคาขึ้นลงตามตลาดโลก และสินค้าที่เป็นตลาดเดิม ที่อยู่ระหว่างปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี

ส่วนการนำเข้าที่เพิ่มสูงขึ้น ส่งผลทำให้ดุลการค้า โดยเดือนเม.ย.นำเข้า 20,229 ล้านดอลลาร์ แต่กลับส่งออกน้อยกว่าในเดือนนี้ ทำให้ภาพรวมดุลการค้าในเดือนเม.ย.ขาดดุล 1,283.3 ล้านดอลลาร์ แต่หากรวม4 เดือนแรกของปีเดือนการค้ายังเป็นบวกเล็กน้อย 673.3 ล้านดอลลาร์ โดยสาเหตุมาจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น และการนำเข้าสินค้าทุนมาผลิตเพื่อจำหน่ายสู่ยุคไทยแลนด์4.0

เขามองว่าการขาดดุลเป็นสถานการณ์ชั่วคราวเพียงเดือนเดียว หรือสองเดือน เพราะแนวโน้มการส่งออกของไทยยังเติบโตต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลัง 2561 แม้การนำเข้าจะสูงแต่เป็นการนำเข้าสินค้าทุนผลิตสินค้าเพื่อเส่งออก

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่น่าจับตาที่สุดคือ ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นเป็นลำดับ จนส่งผลกระทบต่ออัตราการเติบโตการส่งออก เมื่อแปลงเป็นเงินบาทที่ขยายตัวลดลง  โดยเฉพาะในปี 2561 ตั้งแต่เดือนม.ค. มูลค่าการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์มีมูลค่า 20,101 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 17.56% พอคำนวณกลับมาเป็นเงินบาทอัตราเติบโตกลับหายไปมากกว่าครึ่ง มูลค่าเป็นเงินบาท 652,511 ล้านบาท การเติบโตเพียง 7.05% (ค่าเฉลี่ยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 31.87 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์)

ในเดือน ก.พ.มูลค่าส่งออก 20,365 ล้านดอลลาร์ เติบโต 10.26% แต่ในรูปเงินบาทส่งออกมูลค่า 643,705 ล้านบาท เติบโตติดลบ 0.56% (อัตราแลกเปลี่ยน 31.47 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) เช่นเดียวกันกับเดือนมี.ค.ส่งออกในรูปเงินดอลลาร์สูงถึง 22,362 ล้านดอลลาร์ เติบโต 7.06% ตีมูลค่าเป็นรูปเงินบาทมีมูลค่า 697,074 ล้านบาท เติบโตติดลบ 3.99% อัตราแลกเปลี่ยน 31.25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์)

และล่าสุดเดือนเม.ย.ส่งออกรูปเงินดอลลาร์มีมูลค่า 18,945 ล้านดอลลาร์ เติบโต 12.34% ในรูปค่าเงินบาทมีมูลค่า 586,314 ล้านบาท ไม่ติดลบเช่นเดียวกับเดือนก่อนหน้า แต่ขยายตัวเพียง 0.79% (อัตราแลกเปลี่ยน 31.31 บาทต่อ 1 ดอลลาร์) 

โดยสรุปภาพรวมการส่งออก 4 เดือนการเติบโตส่งออก ในรูปเงินดอลลาร์มีมูลค่า 81,775 ล้านดอลลาร์ เติบโต 11.53% เมื่อคำนวณกลับมาเป็นรูปค่าเงินบาทมีมูลค่า 2,579,605 ล้านบาท มีการเติบโตเพียง 0.58% หรือเติบโตไม่ถึง 1% 

จะเห็นได้ว่า ความต่างระหว่างการส่งออกในรูปเงินดอลลาร์และบาทแตกต่างกัน มากกว่า 10%”

ทั้งนี้ ช่องว่างระหว่างค่าเงินบาทกับดอลลาร์ทำให้อัตราการเติบโตการส่งออกของไทยค่อยๆ ลดลงเรื่อยๆ หากเทียบกับกับปี 2560 ที่อัตราการส่งออก ในรูปเงินดอลลาร์อยู่ที่ 236,694 ล้านดอลลาร์ เติบโต 9.89 % ในรูปเงินบาทมูลค่า 8,008,374 ล้านบาท หรือขยายตัว 6.06% ที่ต่างกันอยู่เพียง 3% (โดยค่าเฉลี่ยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทในปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 33.93 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์) 

อิทธิพลจากการแข็งค่าเงินบาท ยังส่งผลต่อการเติบโตด้านการส่งออกอย่างเห็นได้ชัด กลุ่มสินค้าที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ สินค้าที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศ โดยเฉพาะสินค้าเกษตร พืชผลทางการเกษตร ต้องกำไรลดลง จนถึงขึ้นขาดทุนเป็นส่วนใหญ่เพราะช่องว่างที่แตกต่างกันค่อนข้างสูงระหว่างอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่แข็งค่ามากขึ้นเป็นลำดับ

อย่างไรก็ตาม เขาประเมินภาพรวมส่งออกไทยในปีนี้ว่า ยังคงเติบโตต่อเนื่อง เพราะมีปัจจัยบวกหนุนหลากหลายด้าน ตั้งแต่ ภาพรวมเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศคู่ค้าหลัก อย่างสหรัฐที่กำลังจะคลี่คลาย หลังจากธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับอัตราดอกเบี้ย และตัวเลขทางเศรษฐกิจของสหรัฐเริ่มดีขึ้น ทำให้มีเงินต่างประเทศไหลออกจากประเทศไทย ส่งผลทำให้การส่งออกของไทยขยายตัวดี และอัตราแลกเปลี่ยนเริ่มอ่อนค่ามาอยู่ที่ประมาณ 34 บาท ต่อ 1 ดอลลาร์ในบางช่วง ซึ่งส่งผลทำให้สถานการณ์การเติบโตการส่งออก ในรูปเงินบาทน่าจะดีขึ้น

โดยสิ่งที่น่าห่วงที่จะทำให้การส่งออกของไทยมีความเสี่ยงคือ สงครามทางการค้า (Trade War) จากนโยบายของสหรัฐ ในการตอบโต้ทางการค้ากับประเทศคู่ค้า ที่อาจส่งผลกระทบกับตลาดส่งออกไทย รวมไปถึงราคาน้ำมันที่เริ่มสูงขึ้น ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ ก็จะส่งผลกระทบกระทบต่อภาพรวมการค้าโลก

………………………………

วางหมากกระจายทัพ

ปูพรมบุก9ภูมิภาคโลก 

จันทิรา ยิมเรวัต วิวัฒน์รัตน์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ มองการส่งออกยังคงมีโมเมนตัมเติบโตต่อเนื่อง โดยกระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการส่งออกปีนี้ ขยายตัว 8%  แยกเป็นกลุ่มตลาดเรียงตาม ความสำคัญของส่วนแบ่งการส่งออกรวมของไทย ประกอบด้วย 

อาเซียนเป็นอันดับ1 สัดส่วนส่งออก 25.2% ของสัดส่วนการส่งออกทั้งหมดของไทย วางเป้าหมายขยายตัว 6.6% ,จีน สัดส่วนการส่งออก 11.6% เป้าหมายขยายตัว 10%, ญี่ปุ่น สัดส่วนการส่งออก 10.9 % วางเป้าหมายขยายตัว 8%, สหรัฐ สัดส่วนการส่งออก 10.4% วางเป้าหมายขยายตัว 7%, สหภาพยุโรป สัดส่วนการส่งออก 9.6% เป้าหมายขยายตัว 5%, ทวีปออสเตรเลีย สัดส่วนการส่งออก 5.3% วางเป้าหมายขยายตัว 8%, ตะวันออกกลาง สัดส่วนการส่งออก 3.6% วางเป้าหมายขยายตัว 5%, ลาตินอเมริกา สัดส่วนการส่งออก 3.2% วางเป้าหมายขยายตัว 3% และทวีปแอฟริกา สัดส่วนการส่งออก 3% วางเป้าหมายขยายตัว 11%

โดยยุทธศาสตร์การดูแลตลาดทั่วโลก เน้นไปที่ การกระจายความเสี่ยง” รักษาตลาดที่เป็นคู่ค้าสำคัญ และเล็งเพิ่มมูลค่าส่งออกไปยังตลาดใหม่ ซึ่งกลุ่มตลาดที่ให้ความสำคัญแม้จะมีเศรษฐกิจเติบโตในระดับที่ช้าลง แต่เป็นตลาดที่ส่งออกอันดับต้นๆ ของไทย ที่ยังต้องรักษาฐานลูกค้าต่อเนื่อง ประกอบด้วย จีน ยุโรป สหรัฐ และอาเซียน

“เราไม่ได้พึ่งพิงตลาดไหนเป็นหลักด้วยความต้องการซื้อและกำลังซื้อของประชาชนในกลุ่มประเทศตลาดพัฒนา ยังถือเป็นตลาดที่ยังมีความสำคัญกับไทย พร้อมกันกับมีการเติบโตของตลาดหลักใหม่ๆ ของไทยเพิ่มเข้ามา ก็คืออาเซียน จากที่ไม่เคยติดอันดับ ท็อปไฟว์ก็ก้าวขึ้นมาเป็นกลุ่มตลาดสำคัญอันดับ1 “

ส่วนกลยุทธ์การตลาดประกอบด้วย การรักษาตลาดเดิม เพิ่มตลาดใหม่ ขยายตลาดศักยภาพ  ประกอบด้วย

1.ตลาดเดิมที่มีศักยภาพอยู่แล้ว (Mature Market) ประกอบด้วย สหรัฐ สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น เน้นสร้างความสัมพันธ์ระดับนโยบายระหว่างรัฐต่อรัฐ มีการจัดคณะทางการค้าไปเยี่ยม และเจรจาการค้า โดยการประสานความร่วมมือในทุกระดับเพื่อแสวงหาประโยชน์ร่วมกันระหว่างประเทศ ซึ่งปีนี้ได้มีกำหนดการไปเยือนแล้วใน ประเทศอังกฤษ หารือเรื่องการพัฒนากลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์( Creative Economy) และมีแผนจะไปประเทศอื่นๆ ในกลุ่มตลาดหลักภายในปีนี้ เช่น ญี่ปุ่น จีน

2.ส่วนตลาดใหม่ (Emerging Market) ประกอบด้วย ตะวันออกกลาง อิสราเอล แอฟริกา และตลาดจีน อินเดีย โดยจะผลักดันกลุ่มสินค้าเกษตร และเครื่องจักรกลการเกษตรในกลุ่มตลาดแอฟริกา เพราะเป็นตลาดที่เริ่มใช้นโยบายพึ่งพาตัวเอง (Self Sufficient) หันมาเพาะปลูกสินค้าเกษตรภายในประเทศ จึงอาจจะส่งผลกระทบต่อการลดการนำเข้าสินค้าเกษตรจากไทย เช่น ข้าว และพืชเกษตร ไทยจึงต้องปรับตัวนำเสนอสินค้าที่ส่งเสริมนโยบาย เช่น ขายเครื่องมือทางการเกษตร

“ในอินเดีย และจีนเน้นเมืองรอง ในจีนเจาะ 20 มหานครและสอดคล้องกับนโยบายที่รัฐบาลจีนมุ่งนโยบาย สามอ่าว หรือ การรวมกลุ่มเมือง (Urban Integration) ที่จะนำไปสู่การพัฒนาใน 20 เมือง ส่วนอินเดียก็เข้าไปเจาะเมืองที่กำลังก้าวเข้าสู่ความทันสมัย และแอฟริกา ที่มองให้เป็นโอกาสแม้จะมีนโยบายพึ่งพาตัวเอง แต่ก็เป็นโอกาสในการส่งสินค้าชนิดอื่นไปยังประเทศเหล่านี้”

3.ขยายตลาดศักยภาพ (Dynamic Market) ได้แก่ กลุ่มอาเซียน /CLMV/ รัสเซีย และจีน โดยอาเซียนจะเน้นการเติบโตร่วมกันเป็นพันธมิตรทางการค้าเพื่อความยั่งยืนทั่วทั้งภูมิภาค จึงจัดกิจกรรมส่งเสริมการตลาดในรูปแบบเน้นการสร้างภาพลักษณ์ ส่งเสริมแบรนด์ไทยที่ได้รับความนิยมและเชื่อถือในภูมิภาคอาเซียนอยู่แล้ว พร้อมกันกับสร้างเครือข่ายนักธุรกิจรุ่นใหม่ ที่จะเป็นฐานในการผนึกกำลังนักรบทางเศรษฐกิจของในประเทศเพื่อนบ้าน CLMV ให้เติบโตไปพร้อมกัน

รวมไปถึงในกลุ่มตลาดเมืองรอง ที่น่าสนใจ ในประเทศขนาดใหญ่ ก็มีการจัดทัพไปเยือน เช่น ชิงเต่า หนานหนิง กุ้ยโจว เฉิงตู และวลาดิวอสต๊อก ในรัสเซีย

นอกจากนี้ยังมีแผนเดิมที่วางยุทธศาสตร์ไว้ให้สอดคล้องกันกับการทำตลาดใน 9 ภูมิภาค ผ่าน329 กิจกรรม ผ่าน 6 ยุทธศาสตร์สำคัญ ได้แก่

1.ขยายตลาด ทั้ง ออนไลน์ และออฟไลน์ (Offline/Online strategy) ในการส่งเสริมสินค้าไทย โดยเฉพาะที่ได้ เครื่องหมายการค้าต่างๆ ประกอบด้วย T/Mark, DEMark, PM Award ยกระดับภาพลักษณ์ในตลาดสำคัญ

2.หุ้นส่วนทางเศรษฐกิจ (Strategic Partnership) เน้นประเทศที่ผู้บริหารระดับสูงเคยไปเยือน ญี่ปุ่น กัมพูชา ลาว ฮ่องกง เวียดนาม ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร รัสเซีย อินเดีย อิหร่าน สหรัฐฯ อียิปต์ จีน โดยเน้นการ เจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche market) และเจาะเป็นรายเมืองรอก และเมืองหลัก ( City Focus)

3.ธุรกิจบริการที่สร้างโอกาสในการพัฒนาธุรกิจ ประกอบด้วยการบริการสุขภาพ (Wellness & Medical Services) ผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub,ธุรกิจสร้างสรรค์( Creative Economy Industry ) อาทิ การส่งเสริม ดิจิทัลคอนเทนท์ รวมไปถึงโลจิสติกส์

4.ส่งเสริมรายคลัสเตอร์ประกอบด้วย อัญมณีและเครื่องประดับ (Jewelry Hub) ยกระดับงานแสดงสินค้าBANGKOK Gems & Jewelry Fair (BGJF) เป็น 1 ใน 3 ของโลก ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางอัญมณีและเครื่องประดับโลก, กลุ่มสินค้าไลฟ์สไตล์ รวบรวมสินค้าครบทั้งวงจรที่ทำให้ไทยเป็นผู้นำเทรนด์ โดยเริ่มต้นในอาเซียน ซึ่งเป็นจิ๊กซอว์ให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์เติบโตในอนาคต

กลุ่มธุรกิจอาหาร พัฒนางานแสดงสินค้าอาหารและเครื่องดื่มระดับโลก (THAIFEX ) งานแสดงสินค้าอันดับหนึ่งในเอเชีย

5.พัฒนาผู้ประกอบการSMEs และระดับชุมชนให้มีความพร้อมทำการค้าอีคอมเมิร์ซ โดยร่วมมือกับพันธมิตร และสถาบันการศึกษาต่างๆ เพิ่มจำนวนผู้เข้ารับฝึกอบรมให้ถึง 100,000 ราย โดยมี NEA จัดอบรมพัฒนา 62 หัวข้อ เกี่ยวข้องกับ E-Learning แบ่งเป็นเรียนออนไลน์ 15 หลักสูตร และ E-Commerce (IT for SMEs) 33 หลักสูตร

6.ส่งเสริมผู้ประกอบการทำธุรกิจในต่างประเทศผ่านการสร้างเครือข่าย ทั้งภาครัฐและเอกชนในประเทศเป้าหมาย CLMVT Executive Program on New Economy (CLMVT-EXP), โครงการ Coaching พี่จูงน้องให้คำปรึกษาในการทำตลาด (Regional Advisors)ที่เชี่ยวชาญ อาทิ ไทย ยูเนี่ยนพาไปเจาะตลาดสหรัฐฯ , โตโยต้า ทูโช (Toyota Tsusho) พาไปเจาะตลาดแอฟริกา,โครงการ ไท่ เล่อ โก้ว ( กลุ่มธุรกิจ CPจับมือกับลอกซ์เลย์ ( Loxley) พาผู้ประกอบการไทยเจาะ ตลาดจีน และ เครือเซ็นทรัล พาเจาะตลาดสหภาพยุโรป