ป.ป.ช.เตรียมรายงานสนช. แก้รุกที่ดินรัฐ

ป.ป.ช.เตรียมรายงานสนช. แก้รุกที่ดินรัฐ

ป.ป.ช.เตรียมรายงานสนช.หลังพบปัญหาออกเอกสารสิทธิที่ดินมิชอบ มีเรื่องร้องเรียนในสารบบ 1.4 หมื่นเรื่อง เหตุข้าราชการทุจริต-นายทุนรุกป่า-ประชาชนยึดพื้นที่รัฐ พร้อมเสนอมาตรการแก้ไข

ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในการนัดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)วันที่ 31 พฤษภาคม 2561 มีประเด็นที่น่าสนใจในวาระรับทราบรายงานของหน่วยงานต่างๆ ที่ได้ศึกษาถึงการบังคับใช้กฎหมายและปัญหาต่างๆ คือ รับทราบมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ซึ่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ป.ป.ช.) ที่มี พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ เป็นประธานฯ เป็นผู้เสนอ

สาระสำคัญระบุถึงปัญหาเกี่ยวกับการออกเอกสารสิทธิที่ดินจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบข้อร้องเรียนและการกล่าวหาว่ากระทำทุจริตส่งมายัง ป.ป.ช. โดยเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2559 มียอดที่ ป.ป.ช. รับไว้ทั้งหมด 14,348 เรื่อง แบ่งเป็น อยู่ระหว่างแสวงหาข้อเท็จจริง 11,982 เรื่องและอยู่ระหว่างไต่สวนข้อเท็จจริง 2,366 เรื่อง พบพฤติการณ์กระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับหน่วยงานของรัฐ การใช้อิทธิพลจากเจ้าหน้าที่รัฐ นายทุน ได้แก่ การเรียกรับเงินเพื่อออกเอกสารสิทธิ ออกเอกสารสิทธิโดยสวมสิทธิ์แทนบุคคลอื่น ออกเอกสารสิทธิทับพื้นที่ป่าสงวน ที่สาธารณะ หรือที่ของบุคคลอื่นและการออกเอกสารสิทธิในพื้นที่ที่ไม่สามารถออกเอกสารสิทธิได้ เช่น พื้นที่ภูเขา พื้นที่ลาดชัน

ดังนั้น ป.ป.ช.จึงมีข้อเสนอแนะต่อการแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1.แก้ไขด้านผู้มีอิทธิพลและอำนาจแฝง เสนอให้รัฐบาลใช้มาตรการทางภาษีและการตรวจสอบการใช้ประโยชน์ในที่ดินอย่างเคร่งครัดกับผู้ถือครองที่ดินจำนวนมาก โดยกรมที่ดินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องนำกฎหมายมาบังคับใช้อย่างเคร่งครัด

นอกจากนั้น ควรนำประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 34 ถึง มาตรา 39 ว่าด้วยการกำหนดสิทธิในที่ดิน ที่บุคคลสามารถถือครองได้ในแต่ละประเภท ซึ่งถูกยกเลิกโดยคำสั่งคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 49 ลงวันที่ 13 มกราคม 2502 มาบังคับใช้เพื่อจำกัดการถือกรรมสิทธิ์ที่ดินของบุคคลมาใช้อีกครั้ง ทั้งนี้จะไม่กระทบต่อบุคคลที่ถือครองที่ดินในปัจจุบัน นอกจากนั้นในพื้นที่เศรษฐกิจซึ่งที่ดินมีราคาสูง เช่น จ.ภูเก็ต จ.เชียงราย กรมที่ดินต้องมีหลักเกณฑ์พิจารณาออกเอกสารสิทธิที่ดินอย่างเข้มงวด

2.ด้านกฎหมาย ให้แก้ไขพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายที่ดิน (ฉบับที่ 11) พ.ศ.2551 มาตรา 8 เพื่อยกเลิกแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) โดยกำหนดให้ผู้ที่มีหลักฐาน ส.ค.1 แต่กรมที่ดินยังไม่ออกการสิทธิในที่ดิน ให้ยื่นคำขอออกโฉนดภายใน 180 วัน เพื่อตรวจสอบ หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวให้ถือว่า ส.ค.1 นั้นถูกยกเลิก ทั้งนี้เพื่อให้เกิดการพิสูจน์สิทธิในการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน

3.ด้านนโยบายและการบริหารราชการ ระบุให้รัฐบาลกำหนดนโยบายด้านการออกเอกสารสิทธิที่ดินและแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐให้ชัดเจนหรือประกาศเป็นวาระแห่งชาติ พร้อมกับติดตามผลอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน ต้องทำฐานข้อมูลสารบบการบริหารที่ดินบนฐานข้อมูลเดียวและเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึง ตรวจสอบได้

นอกจากนั้นต้องแก้ไขกฎกระทรวง ฉบับที่ 43 พ.ศ.2537 ที่ออกตาม พ.ร.บ.ให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 เพื่อเพิ่มผู้แทนจากกรมอุทยานแห่งชาติฯ และกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงผู้แทนที่เกี่ยวกับการดูแลเขตที่ดินของรัฐ ร่วมตรวจพิสูจน์สิทธิในที่ดิน พร้อมกำหนดกรอบเวลาที่ชัดเจนในการตรวจพิสูจน์ให้แล้วเสร็จ

4.ด้านการส่งเสริมและสนับสนุนการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน เสนอให้เผยแพร่ภาพถ่ายทางอากาศทุกชั้นปีตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันยังสาธารณะ ยกเว้นพื้นที่ความมั่นคง เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตรวจสอบการออกเอกสารสิทธิพื้นที่ต่างๆ รวมถึงมอบหมายให้กระทรวงมหาดไทยสร้างจิตสำนึกให้ประชาชน เจ้าหน้าที่ของรัฐต่อการต้านทุจริต ขณะเดียวกันต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลรักษาที่ดินของรัฐ โดยให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จัดทำศูนย์ข้อมูลการออกเอกสารสิทธิในที่ดิน

และ 5. ด้านการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ เสนอให้หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องจัดทำเขตที่ดินที่อยู่ในความรับผิดชอบของแต่ละหน่วยงานให้ชัดเจน และเป็นไปในทิศทางเดียวกันผ่านแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงาน พร้อมกำหนดกรอบเวลาทำที่แล้วเสร็จแน่นอน รัฐควรจัดสรรงบประมาณให้หน่วยงานรัฐที่มีหน้าที่ดูแลรักษาที่ดินของรัฐทุกประเภท พร้อมออกหนังสือสำคัญสำหรับที่หลวง(น.ส.ล.)ให้หมดภายในเวลาที่กำหนด โดยให้กรมที่ดิน ประสานงาน ดูแลเร่งรัด ควบคุมและติดตามการทำงาน นอกจากนั้น ควรปรับปรุงบทบาท อำนาจของคณะกรรมการแก้ปัญหาการบุกรุกที่ดินรัฐระดับจังหวัด ให้แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รายงานของ ป.ป.ช. ดังกล่าวยังเผยแพร่ผลการรับฟังความเห็นต่อร่างมาตรการป้องกันการทุจริตเพื่อแก้ปัญหาการออกเอกสารสิทธิในที่ดินโดยมิชอบ ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับมาตรการป้องกันการถือครองที่ดินขนาดใหญ่ ซึ่งกระจุกอยู่กับบุคคลใดบุคคลหนึ่ง เกิดความไม่เป็นธรรมในการกระจายการถือครองและสร้างปัญหาต่อรัฐ

กรณีที่ประชาชนบุกรุกพื้นที่ของรัฐเพื่อนำมาขอออกเอกสารสิทธิที่ดินและขายให้กับนายทุนและแก้ปัญหาการใช้อำนาจและอิทธิพล ควรมีมาตรการคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ดำเนินการถูกต้องตามกฎหมายและลงโทษผู้ใช้อิทธิพลและอำนาจ รวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐที่แสวงหาประโยชน์โดยไม่ชอบในการออกเอกสารสิทธิที่ดินและสร้างระบบคุ้มครองเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ทำถูกกฎหมายเป็นต้น