สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 21-25 พฤษภาคม 2561

สรุปภาวะสินค้าเกษตรประจำสัปดาห์วันที่ 21-25 พฤษภาคม 2561

สินค้าเกษตรสัปดาห์นี้ ข้าวโพด ถั่วเหลืองและข้าวมีราคาเพิ่มขึ้น

ข้าวโพด : ราคาเพิ่มขึ้น

ผลผลิตข้าวโพดนาสัปดาห์นี้มีปริมาณเหลือน้อยมาก โดยผลผลิตส่วนใหญ่อยู่กับพ่อค้าพืชไร่ ขณะที่ความต้องการใช้ยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ณ ไซโลโรงงานอาหารสัตว์สัปดาห์นี้ปรับเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากหาบละ 633 บาท เป็นหาบละ  642 บาท     

ด้านราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม อยู่ที่ 408.50 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความกังวลว่าผลผลิตข้าวโพดรุ่นที่ 2 ของบราซิลอาจได้รับความเสียหายจากสภาพอากาศแล้ง แม้ว่าข้าวโพดของสหรัฐอเมริกาจะปลูกแล้วเสร็จถึงรอยละ 81 ของพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมดแล้วก็ตาม หากแต่ปีนี้สหรัฐฯลดพื้นที่การเพาะปลูกลง และมีการคาดการณ์สต็อกข้าวโพดของโลกในสิ้นฤดูกาลหน้าว่าจะมีปริมาณลดลงจากปี 2560 ที่ผ่านมา กอปรกับราคาข้าวสาลียังแข็งตัวอยู่ และผู้ค้าเริ่มคลายความกังวลเรื่องการตอบโต้ทางการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ จึงคาดว่าราคาข้าวโพดต่างประเทศจะยังมีแนวโน้มยืนแข็งต่อไป

แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวโพดในประเทศน่าจะเพิ่มขึ้น

 

ถั่วเหลือง  : ราคาเพิ่มขึ้น

เนื่องจากผลผลิตถั่วเหลืองของอาร์เจนตินาที่ประสบปัญหากระทบแล้ง  ส่งผลให้มีผลผลิตถั่วเหลืองลดน้อยลง  ทำให้กากถั่วเหลืองจากเมล็ดถั่วเหลืองนำเข้าจากต่างประเทศหน้าโรงสกัด มีราคาเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากกิโลกรัมละ 16.50 บาท เป็นกิโลกรัมละ 16.75 บาท

ส่วนการซื้อขายกากถั่วเหลืองในตลาดซื้อขายล่วงหน้าชิคาโก ประจำวันที่ 23 พฤษภาคม 2561 รอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 380.70 ดอลลาร์/ชอร์ตตัน สำหรับถั่วเหลืองรอบส่งมอบเดือนกรกฎาคม ราคาอยู่ที่ 1,039.25 เซนต์/บุชเชล เป็นราคาที่ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากมีการประกาศว่าจีนจะยังคงซื้อสินค้าเกษตรจากสหรัฐฯเป็นจำนวนมากต่อไป  แม้ว่าการเพาะปลูกถั่วเหลืองในสหรัฐฯจะมีความคืบหน้าดีขึ้น โดยปลูกแล้วเสร็จร้อยละ 56  ขณะที่บราซิลมีผลผลิตถั่วเหลืองเป็นจำนวนมากที่จะทะยอยเข้าสู่ตลาดในเร็วๆนี้ อย่างไรก็ตามการที่ค่าเงินเรียลของบราซิลกลับแข็งค่าขึ้น ทำให้ความได้เปรียบด้านการแข่งขันของบราซิลลดลง โดยผู้ซื้ออาจสนใจสั่งซื้อผลผลิตถั่วเหลืองจากสหรัฐฯมากขึ้น

แนวโน้ม : คาดว่าราคาถั่วเหลืองน่าจะยืนแข็ง

 

ปลาป่น : ราคาอ่อนตัว

สถานการณ์การจับปลาของเปรูยังได้ผลดี  โดยจับไปแล้วกว่า 2 ล้านตัน คาดว่าจะสามารถจับปลาได้ครบตามโควตาในช่วยปลายเดือนมิถุนายนนี้  ส่งผลให้ราคาปลาป่นโดยรวมในตลาดโลกปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ยกเว้นปลาป่นโปรตีนสูง โดยปลาป่นเกรดกุ้งยืนราคาที่กิโลกรัมละ 47.50 บาท ด้านปลาป่นเบอร์ 1 เกรดที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 43.20 บาท และเกรดที่ต่ำกว่า 60 โปรตีน ทรงตัวที่กิโลกรัมละ 40.70 บาท

ด้านปลาป่นคุณภาพรองลงมา ปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนที่สูงกว่า 60 โปรตีนขึ้นไป ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 42.20 บาท เป็นกิโลกรัมละ 41.20 บาท และปลาป่นเบอร์ 2 ชนิดที่มีโปรตีนสูงกว่า 56 แต่ไม่เกิน 60 ราคาลดลงจากกิโลกรัมละ 39.70 บาท เป็นกิโลกรัมละ 38.70 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาปลาป่นน่าจะยืนอ่อน

 

ข้าว : ราคาเพิ่มขึ้น

ในช่วงต้นสัปดาห์นี้ภาคเอกชนไทยได้ตกลงขายข้าวให้กับรัฐบาลฟิลิปปินส์จำนวน 250,000 ตัน  และอยู่ระหว่างรอส่งมอบช่วงเดือนกรกฎาคม–สิงหาคม ศกนี้  โดยข้าว 100% ชั้น 2 ส่งออกท่าเรือกรุงเทพฯ เอฟ.โอ.บี. ราคาเพิ่มขึ้นจากตันละ 475 ดอลลาร์ เป็นตันละ 476 เดอลลาร์  ด้านราคาปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ส่งออก เอฟ.โอ.บี.ทรงตัวอยู่ที่ตันละ 387 ดอลลาร์

สำหรับการซื้อขายข้าวตลาดในประเทศ ข้าว 100% ชั้น 2 สัปดาห์นี้ อยู่ที่กระสอบละ 1,380 บาท ด้านปลายข้าว เอ.วัน.พิเศษ ณ โรงงานอาหารสัตว์ ราคากระสอบละ 1,100 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาข้าวในประเทศน่าจะทรงตัว

 

สุกร : ราคาลดลง

สถานการณ์สุกรโดยรวมสัปดาห์นี้ค่อนข้างทรงตัว บางพื้นที่ราคาซื้อขายจริงเพิ่มขึ้นหลังจากที่กรมปศุสัตว์ช่วยแก้ปัญหาการกดราคารับซื้อหน้าฟาร์ม โดยเริ่มควบคุมปริมาณผลผลิตให้มีความสอดคล้องกับความต้องการของตลาด ประกอบกับกระทรวงพาณิชย์ได้เร่งจัดการปัญหาพ่อค้าคนกลางหรือล้ง ที่เอาเปรียบเกษตรกร  และในช่วงปลายเดือนพฤษภาคมศกนี้ จะมีการประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์อีกครั้ง เพื่อจัดระเบียบการค้าสุกรทั้งระบบ โดยราคาประกาศล่าสุดของสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติอ่อนตัวจากราคา 60 - 66 บาทต่อกิโลกรัม เป็น 59 – 65 บาทต่อกิโลกรัม

ด้านลูกสุกรขนาด 16 กิโลกรัมต่อตัว ราคาทรงตัวที่ตัวละ 1,600 บาท (บวกลบ 61)

แนวโน้ม : คาดว่าราคาสุกรน่าจะทรงตัว

 

ไก่เนื้อ : ราคาอ่อนตัว

การบริโภคเนื้อไก่ในสัปดาห์นี้ชะลอตัวลง แม้ว่าจะเป็นช่วงต้นของการเปิดภาคเรียนในระดับประถมและมัธยม แต่เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูฝนทำให้หลายพื้นที่มีฝนตกมากอย่างต่อเนื่อง กอปรกับผู้ปกครองมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอุปกรณ์การเรียนของบุตรหลาน ทำให้การซื้อขายชะลอตัวลง  ขณะที่การนำลูกไก่เนื้อเข้าเลี้ยงเริ่มลดลง ด้านทิศทางไก่ใหญ่ในเกือบทุกภูมิภาคคาดว่าจะปรับราคาลง โดยราคาไก่เนื้อหน้าฟาร์มของสมาคมผู้เลี้ยงไก่เนื้อในสัปดาห์นี้ลดลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา จากกิโลกรัมละ 33 บาท  เป็นกิโลกรัมละ 32 บาท  ส่วนลูกไก่เนื้อยืนราคาที่ตัวละ 8.50 บาท ด้านลูกไก่ไข่ราคาอยู่ที่ตัวละ 18.00 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาไก่เนื้อน่าจะยืนแข็ง

 

ไข่ไก่ : ราคาทรงตัว

สัปดาห์นี้เข้าสู่ช่วงเปิดภาคเรียน ทำให้การบริโภคไข่ไก่เริ่มกระเตื้องขึ้น ส่งผลให้ราคาไข่ไก่สัปดาห์นี้ไม่เปลี่ยนแปลงจากสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มจากการสำรวจทั่วไปในท้องตลาดทรงตัวที่ฟองละ 2.60 บาท

แนวโน้ม : คาดว่าราคาไข่ไก่น่าจะยืนแข็ง

 

-----------------------------------

ที่มา : สื่อสารองค์กรและประชาสัมพันธ์ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
โทรศัพท์ : 02-766-7343-5
E-mail : [email protected]