นักวิชาการแนะครูปรับวิธีสอนมุ่งเด็กคิดวิเคราะห์รับยุคดิจิทัล

นักวิชาการแนะครูปรับวิธีสอนมุ่งเด็กคิดวิเคราะห์รับยุคดิจิทัล

นักวิชาการแนะครูปรับวิธีการสอน มุ่งเด็กคิดวิเคราะห์เป็นรับสังคมยุคดิจิทัล ชี้ยิ่งอ่านมากยิ่งรู้เท่าทันข้อมูลบนโลกออนไลน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อการถูกหลอกลวง

เมื่อวันที่ 25 พ.ค. ที่รร.มิราเคิลแกรนด์ ผศ.บรรเจิด จงอภิรัตนกุล นายกสมาคมการอ่านเขียนเรียนรู้แห่งประเทศไทย ให้สัมภาษณ์ภายในงานสัมมนานานาชาติ โครงการประชุมสัมมนานานชาติด้านการอ่านเขียนเรียนรู้ในยุคดิจิทัล จัดโดยกรมส่งเสริมวัฒนธรรมและสมาคมการอ่านเขียนฯว่า เด็กไทยและคนไทยใช้เครื่องมือสื่อสารที่เป็นเทคโนโลยีอันดับต้นๆของโลก เพราะฉะนั้นจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องหาวิธีการทำให้คนไทยใช้สื่อดังกล่าวให้มีประสิทธิภาพเกิดการเรียนในทางที่ถูกต้องเหมาะสมให้มากที่สุด ด้วยการอ่านสิ่งที่เป็นประโยชน์กับการทำงานและการดำรงชีวิต ดังนั้น ต้องทำให้คนเกิดการตระหนักและเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ และครูจะต้องมีการปรับการเรียนการสอน โดยครูต้องฟังสิ่งที่เด็กคิด เพื่อให้เด็กรู้จักที่จะคิดและวิเคราะห์เป็น


ในประเทศแถบยุโรป ครูจะถามเด็กเป็นหลักว่าแต่ละคนสนใจเรื่องอะไรแล้วให้เด็กได้บอกเล่าเรื่องราวพร้อมบอกว่าเรื่องที่สนใจนั้นจะมีประโยชน์และมีปัญหาอุปสรรคตรงจุดใดแล้วครูทำหน้าที่เพียงแนะนำเป็นแนวทางให้เด็กคิดต่อเองว่าใช่หรือไม่อย่างไร เช่น เด็กเล่าว่าพ่อแม่ถูกหลอกในเรื่องอี-แบงกิ้ง ครูก็จะต้องกระตุ้นให้เด็กคนนั้นและคนอื่นๆคิดเองว่าหากเป็นตนเองเจอสถานการณ์เช่นนี้จะแก้ปัญหาหรือป้องกันอย่างไร เป็นต้น


"ยุคดิจิทัลการคิดวิเคราะห์เป็นสิ่งที่สำคัญมาก หากเราคิดวิเคราะห์เป็นบวกกับการอ่านมากๆ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นการอ่านหนังสือเท่านั้น อ่านภาษากายหรืออื่นๆด้วย ก็จะมีข้อมูลเพียงพอที่จะนำมากลั่นกรองและคิดวิเคราะห์ได้ว่าข้อมูลหรือสิ่งต่างๆที่มีการเผยแพร่อยู่เป็นจำนวนมากในยุคดิจิทัลโดยเฉพาะที่ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ จะแยกแยะได้ว่าเรื่องไหนเป็นอย่างไร ก็จะไม่ตกเป็นเหยื่อของการหลอกลวงผ่านช่องทางเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งการรู้จักกลั่นกรองเนื้อหาเป็นสิ่งที่จะต้องสอนให้เด็กรู้จักการคิดได้ด้วยตนเอง"ผศ.บรรเจิดกล่าว


ศ.แอนดรูว์ ไลอัน ศาสตราจารย์ด้านภาษาต่างประเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า การสอนของครูจะต้องคำนึงถึงความแตกต่างระหว่างบุคคลด้วยแล้วจึงจัดกลุ่มการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กแต่ละคน โดยยึดหัวใจสำคัญคือให้เด็กคิดและวิเคราะห์เป็น ไม่ใช่สอนแบบวิธีการบอกแล้วให้เด็กทำตาม เพราะฉะนั้นต้องให้เด็กได้คิดเองในแต่ละเรื่องไม่ใช่รับคำบอกเล่าจากครู


ด้านดร.พงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม(วธ.) กล่าวว่า ตั้งแต่ปี 2560 วธ.ได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้เป็นหน่วยงานหนึ่งในการขับเคลื่อนแผนแม่บทส่งเสริมวัฒนธรรมการอ่านสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ของไทย พ.ศ.2560-2564 มุ่งหวังให้สังคมไทยมีพฤติกรรมรักการอ่านที่เข้มแข็งและพัฒนาจนเป็นสังคมแห่งเรียนรู้ เพื่อขับเคลื่อนประเทศสู่ไทยแลนด์4.0 โดนแผนแม่บทดังกล่าว มีเป้าหมาย คือ ภายใน 5 ปี คนไทยใช้เวลากับการอ่านที่มีคุณภาพมากขึ้นเฉลี่ย 90 นาทีต่อวัน ผ่าน 4 ยุทธศาสตร์ ได้แก่ 1.ปลูกสร้างพฤติกรรมรักการอ่านที่แข้มแข็งให้กับคนทุกช่วงวัย 2.อำนวยความสะดวกในการเข้าถึงสื่อการอ่านของประชาชนทั้งในชุมชนเมืองและภูมิภาค 3.สร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้อต่อการส่งเสริมการอ่านและ4.ยกระดับคุณภาพแหล่งเรียนรู้และสื่อการอ่านเพื่อการเรียนรู้